เอเจนซีส์ / MGR online – ประธานาธิบดีหญิงพัค กึน-ฮเย แห่งเกาหลีใต้ประกาศในวันอังคาร (3 พ.ค.) เตรียมมอบความช่วยเหลือในรูปของเงินกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำที่มีมูลค่ารวม 25,000 ล้านดอลลาร์ สำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในอิหร่าน
ประธานาธิบดีหญิงของเกาหลีใต้เปิดเผยข่าวดังกล่าว ระหว่างเดินทางเข้าร่วมงานพบปะระหว่างนักธุรกิจอิหร่านและเกาหลีใต้ในกรุงเตหะราน พร้อมแสดงความเชื่อมั่นว่า อิหร่านจะใช้ประโยชน์จากเงินกู้ยืมก้อนนี้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพถึงแม้จะยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดที่ชัดเจน เกี่ยวกับโครงการความช่วยเหลือจากรัฐบาลโซลในครั้งนี้
ผู้นำหญิงแดนโสมขาวยังระบุว่า ทั้งอิหร่านและเกาหลีใต้ต่างมีศักยภาพอันล้นเหลือสำหรับรองรับความร่วมมือระหว่างกันในด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านพลังงาน รวมถึง ความร่วมมือในมิติใหม่ๆ ระหว่างโซลและเตหะราน
ทั้งนี้ ประธานาธิบดีพัคเดินทางถึงเมืองหลวงของอิหร่านในวันอาทิตย์ (1 พ.ค.) ที่ผ่านมา และนี่ถือเป็นการเดินทางเยือนอิหร่านเป็นครั้งแรกของผู้นำเกาหลีใต้ในรอบหลายสิบปี ซึ่งหลายฝ่ายจับตามองว่า การเยือนของเธอน่าจะนำมาซึ่งการบรรลุข้อตกลงความร่วมมือในด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านพลังงาน
ที่ผ่านมา เกาหลีใต้คือประเทศผู้นำเข้าพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันดิบรายใหญ่จากอิหร่าน โดยข้อมูลของทางการอิหร่านในเวลานี้ระบุว่า อิหร่านทำการส่งออกน้ำมันดิบรวม 400,000 บาร์เรลต่อวันไปยังดินแดนโสมขาว นับตั้งแต่ที่มาตรการคว่ำบาตรของนานาชาติต่ออิหร่านถูกยกเลิกไปเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา
ทั้งนี้ อิหร่านและมหาอำนาจทั้ง 6 ชาติ (กลุ่ม P5+1) ซึ่งประกอบไปด้วย 5 ชาติ “สมาชิกถาวร” ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ คือ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย และสาธารณรัฐประชาชนจีน บวกกับอีก 1 ประเทศมหาอำนาจจากฝั่งยุโรปอย่างเยอรมนี สามารถบรรลุความตกลงประวัติศาสตร์ทางด้านนิวเคลียร์กันได้เมื่อ 14 ก.ค.ปีที่แล้ว ถือเป็นการปิดฉากการเจรจาแบบมาราธอนที่ใช้เวลายาวนานกว่า 1 ทศวรรษ และถือเป็นข้อตกลงซึ่งพลิกโฉมการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคตะวันออกกลางครั้งใหญ่
หลังการบรรลุข้อตกลงดังกล่าว ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ผู้นำสหรัฐฯ ออกมาแถลงยกย่องว่า นี่ถือเป็นก้าวย่างสำคัญไปสู่ “โลกแห่งความหวังที่เพิ่มสูงขึ้น” และตอกย้ำในเวลาต่อมาว่าข้อตกลงประวัติศาสตร์นี้ถือเป็นแนวทางที่ดีที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันทางอาวุธนิวเคลียร์ และลดทอนความตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลาง
ขณะที่ประธานาธิบดีฮัสซัน รูฮานี ผู้นำสายกลางของอิหร่าน แถลงว่า ความสำเร็จในการบรรลุข้อตกลงด้านนิวเคลียร์ครั้งนี้ถือเป็นข้อพิสูจน์ว่าการมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันอย่างสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่ได้ผลดียิ่ง และว่าหากการเผชิญหน้ากันอย่างศัตรูระหว่างวอชิงตันและเตหะรานยังดำเนินอยู่ต่อไปก็คงไม่มีความเป็นไปได้แม้แต่น้อยที่ข้อตกลงเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอิสราเอลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ประกาศว่า จะเดินหน้าทำทุกวิถีทางเพื่อหาทางทำลายล้างข้อตกลงอัปยศฉบับนี้ ซึ่งทางฝ่ายอิสราเอลมองว่าเป็น “การยอมจำนนครั้งประวัติศาสตร์” ของสหรัฐฯ และโลกตะวันตก ให้กับชาติที่ชั่วร้ายอย่างอิหร่าน
ภายใต้ข้อตกลงนี้ มาตรการลงโทษคว่ำบาตรอิหร่านทั้งหลายทั้งปวงของสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (อียู) และสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่บังคับใช้มายาวนานได้ถูกยกเลิกเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่รัฐบาลเตหะรานยอมตกลงตัดทอนโครงการนิวเคลียร์ของตน ซึ่งสหรัฐฯ และโลกตะวันตกสงสัยมาโดยตลอดว่ามีเป้าหมายในการสร้าง “ระเบิดนิวเคลียร์” ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่เตหะรานยืนกรานปฏิเสธ
นักวิเคราะห์มองว่า การบรรลุข้อตกลงประวัติศาสตร์ครั้งนี้ถือเป็นชัยชนะสำคัญ ทั้งสำหรับบารัค โอบามา และฮัสซัน รูฮานี และถือเป็นผลดี ต่อการลดทอนความตึงเครียดในเวทีการเมืองระหว่างประเทศที่มีมายาวนาน ถึงแม้ว่าผู้นำทั้งสองต่างต้องเผชิญหน้ากับแรงต่อต้านอย่างหนักหน่วง จากบรรดา “นักการเมืองสายเหยี่ยว” ภายในประเทศของตนเอง โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ที่นักการเมืองจำนวนมากยังคงมองอิหร่านเป็นศัตรูคู่อาฆาตที่เป็น “แกนอักษะแห่งปีศาจ”
ด้านสำนักข่าวไออาร์เอ็นเอของทางการอิหร่านรายงานว่า ผลของข้อตกลงนี้จะทำให้อิหร่านได้รับเงินนับหมื่นล้านดอลลาร์ที่ถูกอายัดไว้กลับคืนมา ขณะที่บรรดามาตรการคว่ำที่มีต่อธนาคารกลาง บริษัทน้ำมันแห่งชาติ บริษัทชิปปิ้ง และสายการบินของอิหร่านได้ถูกยกเลิก ถึงแม้มาตรการขององค์การสหประชาชาติ ในเรื่องการคว่ำบาตรห้ามซื้อขายอาวุธกับอิหร่านจะยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไปอีก 5 ปี และห้ามอิหร่านจัดซื้อเทคโนโลยีด้านขีปนาวุธอีกนาน 8 ปี
ว่ากันว่าผลประโยชน์ที่อิหร่านจะได้รับจากข้อตกลงคราวนี้อาจสร้างความกังวล ต่อชาติพันธมิตรอาหรับของสหรัฐฯในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยเฉพาะในกรณีของซาอุดีอาระเบีย ประเทศที่ปกครองโดยมุสลิมนิกายสุหนี่ ที่เชื่อว่าอิหร่านซึ่งเปรียบเหมือนผู้นำของฝ่ายมุสลิมนิกายชีอะห์ ให้การสนับสนุนต่อศัตรูของตนทั้งในสมรภูมิที่ซีเรีย เยเมน และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค
อย่างไรก็ดี รัฐบาลอเมริกันมองเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องเร่งฟื้นฟูความสัมพันธ์กับอิหร่าน ที่มี “ศัตรูร่วมกัน” คือ กลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ที่กำลังยึดครองพื้นที่กว้างขวางทั้งในอิรักและซีเรียอยู่ในเวลานี้ และถือเป็น “ภัยคุกคามใหญ่หลวง” ต่อสันติภาพของโลก
ในอีกด้านหนึ่งการยุติมาตรการคว่ำบาตรทั้งปวงจะช่วยส่งเสริมให้เศรษฐกิจอิหร่านเติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากสามารถกลับเข้าสู่ “ตลาดน้ำมัน” ได้อีกครั้ง แม้ในความเป็นจริงแล้ว กว่าที่น้ำมันจากอิหร่านจะกลับเข้าไปซื้อขายในตลาดโลกได้อย่างเต็มรูปแบบนั้น อาจต้องรอถึงช่วงครึ่งหลังของปี 2016 ก็ตาม