xs
xsm
sm
md
lg

ฝรั่งเศสเผย ข้อตกลงประวัติศาสตร์ระหว่าง “อิหร่าน-แอร์บัส” ใกล้มีผล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ / MGR online – ฝรั่งเศสระบุ ข้อตกลงจัดซื้อเครื่องบินครั้งประวัติศาสตร์ ระหว่างรัฐบาลอิหร่านกับบริษัทแอร์บัส จะมีผลบังคับใช้ภายในระยะเวลาไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

อแล็ง วิดาลิแอส รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมของฝรั่งเศสเปิดเผยต่อผู้สื่อข่าว ระหว่างเดินทางเยือนกรุงเตหะรานของอิหร่านในวันจันทร์ (18 เม.ย.) โดยยืนยัน ทางแอร์บัสได้เริ่มกระบวนการจัดหาเครื่องบิน และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องสำหรับเตรียมส่งถึงมือรัฐบาลอิหร่านแล้วตามเงื่อนไขในข้อตกลงประวัติศาสตร์ที่มีมูลค่าราว 27,000 ล้านดอลลาร์

รายงานข่าวระบุว่า วิดาลิแอส ซึ่งเดินทางมาถึงกรุงเตหะรานตั้งแต่เมื่อวันอาทิตย์ (17) ด้วยเครื่องบินโดยสารของบริษัทแอร์ฟรานซ์ที่ลงจอดในแผ่นดินอิหร่านเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ทางแอร์บัสและรัฐบาลเตหะรานเหลือเพียงการเจรจาต่อรองกันในรายละเอียดปลีกย่อยด้านเทคนิคและการเงินเท่านั้น

ก่อนหน้านี้เมื่อ 13 มกราคม เจ้าหน้าที่ ระดับสูงของ “แอร์บัส” ยืนยันว่า ทางบริษัทผู้ผลิตอากาศยานรายใหญ่แห่งยุโรปได้เปิดการติดต่อกับอิหร่านเกี่ยวกับความเป็นไปได้ ในการหวนคืนสู่ตลาดการบินของสาธารณรัฐอิสลามแห่งนี้อีกครั้ง พร้อมกับความเป็นไปได้ที่ทางบริษัทอาจได้รับ “คำสั่งซื้อ” เครื่องบินพาณิชย์จากเตหะรานไม่ต่ำกว่า 500 ลำ

รายงานข่าวดังกล่าวมาจากการออกมายอมรับผ่านสื่อของฟาบริซ เบรชิเยร์ ผู้อำนวยการฝ่ายเครื่องบินโดยสารของแอร์บัสซึ่งถือเป็นผู้บริหารระดับสูงรายแรกที่ออกมายืนยันว่า ทางแอร์บัสทำการติดต่อกับรัฐบาลอิหร่านจริง และยอมรับว่าอิหร่านเป็นตลาดใหญ่ที่มีศักยภาพทั้งสำหรับแอร์บัส และคู่แข่งรายอื่นๆ รวมถึงค่าย “โบอิ้ง” จากสหรัฐอเมริกา

ด้านอับบาส อัคฮูนดี รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมและการพัฒนาพื้นที่เขตเมืองของอิหร่าน ออกมาเปิดเผยว่าในขณะนี้ประเทศของตนมีเครื่องบินโดยสารของพลเรือนรวมทั้ง สิ้น 248 ลำ ซึ่งแต่ละลำมีอายุการใช้งานเฉลี่ยสูงกว่า 20 ปีและกว่า 100 ลำในจำนวนนี้ไม่สามารถใช้การได้แล้ว นั่นหมายความว่าอิหร่านอาจมีความจำเป็นต้องสั่งซื้อหรือเช่าเครื่องบิน โดยสารเชิงพาณิชย์ใหม่กว่า 500 ลำ หลังจากที่มาตรการคว่ำบาตรทั้งปวงที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการพัฒนานิวเคลียร์ ของอิหร่านถูกยกเลิกเมื่อเดือนมกราคม

อิหร่านและมหาอำนาจทั้ง 6 ชาติ (กลุ่ม P5+1) ซึ่งประกอบไปด้วย 5 ชาติ “สมาชิกถาวร”ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ คือ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย และสาธารณรัฐประชาชนจีน บวกกับอีก 1 ประเทศมหาอำนาจจากฝั่งยุโรปอย่างเยอรมนี สามารถบรรลุความตกลงประวัติศาสตร์ทางด้านนิวเคลียร์กันได้เมื่อวันที่ 14 ก.ค.ปีที่แล้ว ซึ่งถือเป็นการปิดฉากการเจรจาแบบมาราธอนที่ใช้เวลายาวนานกว่า 1 ทศวรรษ และว่ากันว่านี่อาจเป็นข้อตกลงซึ่งน่าจะพลิกโฉมการเมืองและความมั่นคงใน ภูมิภาคตะวันออกกลางครั้งใหญ่

หลังการบรรลุข้อตกลงดังกล่าว ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ผู้นำสหรัฐฯ ออกมาแถลงยกย่องว่า นี่ถือเป็นก้าวย่างสำคัญไปสู่ “โลกแห่งความหวังที่เพิ่มสูงขึ้น” และตอกย้ำในเวลาต่อมาว่าข้อตกลงประวัติศาสตร์นี้ ถือเป็นแนวทางที่ดีที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันทางอาวุธนิวเคลียร์และลดทอนความตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลาง

ขณะที่ประธานาธิบดีฮัสซัน รูฮานี ผู้นำสายกลางของอิหร่าน แถลงว่า ความสำเร็จในการบรรลุข้อตกลงด้านนิวเคลียร์ครั้งนี้ถือเป็นข้อพิสูจน์ว่าการ มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันอย่างสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่ได้ผลดียิ่ง และว่าหากการเผชิญหน้ากันอย่างศัตรูระหว่างวอชิงตันและเตหะรานยังดำเนินอยู่ต่อไป ก็คงไม่มีความเป็นไปได้แม้แต่น้อยที่ข้อตกลงเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอิสราเอลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ประกาศว่า จะเดินหน้าทำทุกวิถีทางเพื่อหาทางทำลายล้างข้อตกลงอัปยศฉบับนี้ ซึ่งฝ่ายอิสราเอลมองว่าเป็น “การยอมจำนนครั้งประวัติศาสตร์” ของสหรัฐฯ และโลกตะวันตก ให้กับชาติที่ชั่วร้ายอย่างอิหร่าน

ภายใต้ข้อตกลงนี้ มาตรการลงโทษคว่ำบาตรอิหร่านทั้งของสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (อียู) และของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่บังคับใช้มายาวนานได้ถูกยกเลิกเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่รัฐบาลเตหะรานยอมตกลงตัดทอนโครงการนิวเคลียร์ของตน ซึ่งสหรัฐฯ และโลกตะวันตกสงสัยมาโดยตลอดว่า มีเป้าหมายในการสร้าง “ระเบิดนิวเคลียร์” ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่เตหะรานยืนกรานปฏิเสธ

นักวิเคราะห์มองว่า การบรรลุข้อตกลงประวัติศาสตร์ครั้งนี้ถือเป็นชัยชนะสำคัญทั้งสำหรับบารัค โอบามา และฮัสซัน รูฮานี และถือเป็นผลดีต่อการลดทอนความตึงเครียดในเวทีการเมืองระหว่างประเทศที่มีมายาวนาน ถึงแม้ว่าผู้นำทั้งสองต่างต้องเผชิญหน้ากับแรงต่อต้านอย่างหนักหน่วงจากบรรดา “นักการเมืองสายเหยี่ยว” ในประเทศของตนเอง โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ที่นักการเมืองจำนวนมากยังคงมองอิหร่านเป็นศัตรูคู่อาฆาตที่เป็น “แกนอักษะแห่งปีศาจ”

ด้านสำนักข่าวไออาร์เอ็นเอของทางการอิหร่านรายงานว่า ผลของข้อตกลงนี้ จะทำให้อิหร่านได้รับเงินนับหมื่นล้านดอลลาร์ที่ถูกอายัดไว้ กลับคืนมา ขณะที่บรรดามาตรการคว่ำที่มีต่อธนาคารกลาง บริษัทน้ำมันแห่งชาติ บริษัทชิปปิ้ง และสายการบินของอิหร่านได้ถูกยกเลิก ถึงแม้มาตรการขององค์การสหประชาชาติในเรื่องการคว่ำบาตรห้ามซื้อขายอาวุธกับ อิหร่านจะยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไปอีก 5 ปี และห้ามอิหร่านจัดซื้อเทคโนโลยีด้านขีปนาวุธอีกนาน 8 ปี

ว่ากันว่าผลประโยชน์ที่อิหร่านจะได้รับจากข้อตกลงคราวนี้ สร้างความกังวลต่อชาติพันธมิตรอาหรับของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยเฉพาะในกรณีของซาอุดีอาระเบีย ประเทศที่ปกครองโดยมุสลิมนิกายสุหนี่ ที่เชื่อว่าอิหร่านซึ่งเปรียบเหมือนผู้นำของฝ่ายมุสลิมนิกายชีอะห์ ให้การสนับสนุนต่อศัตรูของตนทั้งในสมรภูมิที่ซีเรีย เยเมน และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค

อย่างไรก็ดี รัฐบาลอเมริกันมองเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องเร่งฟื้นฟูความสัมพันธ์กับ อิหร่าน ที่มี “ศัตรูร่วมกัน” คือ กลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ที่กำลังยึดครองพื้นที่กว้างขวางทั้งในอิรักและซีเรียอยู่ในเวลานี้ และเป็น “ภัยคุกคามใหญ่หลวง” ต่อสันติภาพของโลก

ในอีกด้านหนึ่ง การยุติมาตรการคว่ำบาตรทั้งปวงจะช่วยส่งเสริมให้เศรษฐกิจอิหร่านเติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากสามารถกลับเข้าสู่ “ตลาดน้ำมัน” ได้อีกครั้ง แม้ในความเป็นจริงแล้วกว่าที่น้ำมันจากอิหร่าน จะกลับเข้าไปซื้อขายในตลาดโลก ได้อย่างเต็มรูปแบบนั้น อาจต้องรอถึงช่วงครึ่งหลังของปี 2016 นี้ก็ตาม


กำลังโหลดความคิดเห็น