xs
xsm
sm
md
lg

รมว.ต่างประเทศญี่ปุ่นเยือน กทม. ย้ำสายสัมพันธ์เศรษฐกิจที่มีกับไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i>รัฐมนตรีต่างประเทศ ดอน ปรมัตถ์วินัย ของไทย (ขวา) เชื้อเชิญต้อนรับรัฐมนตรีต่างประเทศ ฟุมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่น (ซ้าย) ขณะเริ่มต้นการพบปะหารือกันที่กระทรวงการต่างประเทศ ในกรุงเทพฯ วันอาทิตย์ (1 พ.ค.) </i>
รอยเตอร์/เอเจนซีส์ - รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่นเดินทางถึงกรุงเทพฯ ในวันอาทิตย์ (1 พ.ค.) ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะย้ำยืนยันความผูกพันทางเศรษฐกิจ ภายหลังการลงทุนของแดนอาทิตย์อุทัยในประเทศไทยลดต่ำลงไปมากเมื่อปีที่แล้ว ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมือง ตลอดจนการแข่งขันอันดุเดือดจากพวกชาติเพื่อนบ้านซึ่งมีความคล่องตัวฉับไวมากกว่า

ญี่ปุ่นแต่ไหนแต่ไรมาก็เป็นนักลงทุนต่างประเทศรายใหญ่ที่สุดในไทย ชาติเจ้าของเศรษฐกิจอันดับ 2 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งแดนอาทิตย์อุทัยมองว่าเป็นฐานการผลิตที่สำคัญแห่งหนึ่งของตน

อย่างไรก็ตาม ตามข้อมูลตัวเลขของทางการ การลงทุนของญี่ปุ่นในไทยได้ลดลงฮวบฮาบถึง 81% ในปีที่แล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกนักวิเคราะห์มองว่าเป็นการสะท้อนถึงความวิตกกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ยังคงต้องดิ้นรนอย่างหนักภายใต้การปกครองอันยืดยาวออกไปของคณะทหาร

นอกจากนั้น การแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้นจากชาติเพื่อนบ้านซึ่งพัฒนาระบบเศรษฐกิจแบบตลาดทีหลังกว่า อย่างเช่น เวียดนาม และพม่า ก็กำลังกลายเป็นภัยคุกคามอีกประการหนึ่งที่คอยยื้อแย่งเม็ดเงินลงทุนต่างประเทศจากไทย

กระนั้น รัฐมนตรีต่างประเทศ ฟุมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่น ก็แถลงในที่ประชุมผู้สื่อข่าวภายหลังพบปะหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศ ดอน ปรมัตถ์วินัย ของไทย ในการเริ่มต้นการเยือนไทยเป็นเวลา 2 วันคราวนี้ว่า ประเทศไทยยังคงเป็นหุ้นส่วนสำคัญรายหนึ่งของญี่ปุ่น

“ประเทศไทยคือหุ้นส่วนรายหนึ่งซึ่งญี่ปุ่นไม่อาจขาดหายได้ เนื่องจากมีกิจการของญี่ปุ่นทั้งขนาดใหญ่และขนาดกลางจำนวนมาก จากกว่า 4,500 บริษัทตั้งฐานอยู่ที่นี่” คิชิดะกล่าวกับผู้สื่อข่าว

ถึงแม้การลงทุนจะหดหายไปมากมาย แต่ญี่ปุ่นก็ยังคงอยู่ในอันดับหนึ่งในการลงทุนโดยตรงของต่างประเทศ (foreign direct investment หรือ FDI) ในประเทศไทยเมื่อปีที่แล้ว ด้วยยอดเงินลงทุนที่ได้รับอนุมัติแล้วจำนวนกว่า 144,000 ล้านบาท

นักการทูตอาวุโสของญี่ปุ่นรายหนึ่งซึ่งต้องการให้สงวนนาม บอกกับรอยเตอร์ว่า คณะรัฐบาลทหารของไทยมีความเอาใจใส่คอยบรรเทาความหวั่นเกรงของฝ่ายญี่ปุ่นเกี่ยวกับอุปสรรคต่างๆ ทางการเมืองที่จะขวางกั้นการลงทุน

การเดินทางเยือนกรุงเทพฯ ของคิชิดะ ถือเป็นการเริ่มต้นเยือนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเขา โดยหลังจากไทยแล้ว เขายังมีกำหนดจะไปยังพม่า, ลาว และเวียดนาม

การมาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของคิชิดะ บังเกิดขึ้นหลังจากรัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่นผู้นี้เดินทางไปกรุงปักกิ่ง ที่ซึ่งจีนและญี่ปุ่นต่างแสดงความปรารถนาที่จะปรับปรุงฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างกันที่เกิดความร้าวฉาน สืบเนื่องจากการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนทับซ้อนกันในทะเลจีนตะวันออก


กำลังโหลดความคิดเห็น