xs
xsm
sm
md
lg

‘มิตซูบิชิมอเตอร์’ วิกฤตถึงขั้น ‘เจ๊ง’ หนสองในรอบ 10 ปี ชี้หนทางรอดส่วนหนึ่งอาจอยู่ที่ ‘ตลาดไทย’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i>ทางเข้าอาคารสำนักงานใหญ่ของบริษัทมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ในกรุงโตเกียว ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นรายนี้เจอวิกฤตร้ายแรงอีกรอบหนึ่งภายในระยะเวลา 1 ทศวรรษ </i>
เอเอฟพี/MGRออนไลน์ - อนาคตของ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส กำลังแขวนอยู่บนเส้นด้ายเป็นครั้งที่ 2 ภายในระยะเวลา 1 ทศวรรษ ภายหลังบริษัทออกมายอมรับอย่างชนิดก่อให้เกิดผลกระทบกระเทือนเลื่อนลั่นยิ่งกว่าลูกระเบิด ว่า ได้หลอกลวงผลทดสอบการประหยัดน้ำมันของรถยนต์ที่ตนเองผลิตมานานปีแล้ว ขณะที่ทางด้านนักวิเคราะห์มองว่า หนทางที่จะรอดชีวิตต่อไปได้ ส่วนหนึ่งนั้นอยู่ที่แบรนด์มิตซูบิชิยังเข้มแข็งในต่างแดน โดยเฉพาะในประเทศไทย

เวลานี้ยอดขายกำลังหล่นฮวบฮาบ ชื่อเสียงกำลังเสียหายยับเยิน และแม้กระทั่งผู้บริหารระดับท็อปของบริษัทเอง ก็ยังออกมาพูดคุยในเรื่องที่ว่า ผู้ผลิตรถยนต์รายนี้จะสามารถอยู่รอดต่อไปได้หรือไม่

วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ร้ายแรงยิ่ง และกำลังทำท่าคุกคามที่จะทำให้มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ถูกปล่อยเอาไว้ในลานทิ้งขยะไปตลอดกาล กระนั้นก็มีนักวิเคราะห์บางราย ซึ่งคิดว่า เครือข่ายอันกว้างขวางของการถือหุ้นไขว้ไปมาในหมู่บริษัทญี่ปุ่น น่าจะสามารถช่วยชีวิตผู้ผลิตรถยนต์รายนี้ได้อีกคำรบหนึ่ง

“ผมคิดจริง ๆ ว่า อนาคตของ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส นั้น มืดมนมากๆ” ฮิเดยูกิ โคบายาชิ อาจารย์ด้านธุรกิจ ณ มหาวิทยาลัยฮิโตสึบาชิ กล่าวให้ความเห็น เขาเป็นผู้เขียนหนังสือว่าด้วยการต่อสู้ดิ้นรนของบริษัท เพื่อให้หลุดพ้นจากกรณีอื้อฉาวที่เกือบทำให้พังพินาศมาคราวหนึ่งแล้วเมื่อราวสิบปีก่อน

“เป็นเรื่องเหลวไหลไร้เหตุผล ที่ยังจะซื้อรถมิตซูบิชิกันอีก หลังจากเกิดเรื่องนี้ขึ้นมา แล้วนี่ยังไม่ใช่ครั้งแรกด้วยที่เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น”

ทั้งนี้ เมื่อปี 2005 ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นที่มีชื่อจากการทำรถเอสยูวี “เอาต์แลนเดอร์” และรถเก๋งแลนเซอร์ รายนี้ ได้เคยซวนเซอยู่ตรงปากขอบเหวแห่งการล้มละลายมาแล้วครั้งหนึ่ง ภายหลังถูกตรวจสอบพบว่าบริษัทได้ปกปิดความบกพร่องต่าง ๆ ของยวดยานที่ตนเองผลิต ซึ่งอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุถึงขั้นบาดเจ็บล้มตายได้

ในคราวนั้น บริษัทในเครือของกลุ่มมิตซูบิชิที่มีอยู่มากมายกว้างขวาง ได้ก้าวเข้ามาช่วยเหลือด้วยมาตรการกอบกู้ให้อยู่รอดในด้านต่าง ๆ ชุดใหญ่ จึงทำให้กิจการซึ่งกำลังใกล้ถึงฆาตแห่งนี้ กลับพลิกฟื้นรอดชีวิตขึ้นมาได้ใหม่

ทว่า ยังไม่เป็นที่ชัดเจนในขณะนี้ ว่า พวกเขามีความปรารถนาที่จะเข้าช่วยเหลืออีกหรือไม่ในคราวนี้ ในเวลาที่ผู้ผลิตรถรายนี้ มีหวังต้องประสบกับการถูกปรับเงินก้อนโตมหึมา, ถูกฟ้องร้องกันระนาว และต้องจ่ายเงินชดเชยลูกค้ากันอย่างมโหฬาร

ไม่เพียงเท่านั้น บริษัทยังจะต้องจ่ายเงินค่าเสียหายก้อนมหึมาให้แก่นิสสัน

เท่าที่รวบรวมกันได้ในเวลานี้ มีรถรวม 625,000 คัน ที่ได้รับความกระทบกระเทือนเนื่องจากการให้ตัวเลขประหยัดน้ำมันอย่างหลอกลวงของมิตซูบิชิคราวนี้ (ซึ่งก็คือรถรุ่นมินิคาร์ทั้งหมดที่มีขายกันในญี่ปุ่นนั่นเอง) ปรากฏว่า กว่าครึ่งหนึ่งเป็นรถซึ่งมิตซูบิชิผลิตให้แก่ค่ายนิสสัน
<i>เทตสึโระ ไอกาวะ ประธานกรรมการบริหารของมิตซูบิชิมอเตอร์ส เดินเข้าสู่ที่ประชุมแถลงข่าวในกรุงโตเกียวเมื่อวันที่ 27 เม.ย. เขายอมรับว่าบริษัทกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงว่าจะอยู่รอดต่อไปได้หรือไม่ </i>
ความสัมพันธ์แบบเครือข่ายที่ต่างฝ่ายถือหุ้นของกันและกัน

กรณีอื้อฉาวล่าสุดนี้ เป็นเสมือนการฉายแสงสาดส่องให้เห็นความสัมพันธ์แบบถ้อยทีถ้อยอาศัยกันระหว่างบริษัทต่าง ๆ ของญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่พวกเขาถือครองหุ้นจำนวนมากของบริษัทอื่น ๆ ภายในเครือข่ายเดียวกันไขว้กันไปมา อันเป็นสิ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์กันอีกระลอกหนึ่งในช่วงไม่กี่ปีหลังมานี้

ผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ระบุว่า การลงทุนแบบแลกเปลี่ยนถือหุ้นของกันและกันเช่นนี้ เป็นการส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดความนิ่งนอนใจ และกลายเป็นการคุ้มกันพวกผู้บริหารซึ่งไม่ค่อยมีฝีมือให้พ้นจากการถูกเร่งรัดตรวจสอบ ขณะเดียวกัน รัฐบาลญี่ปุ่นก็แสดงทีท่าต้องการยุติเครือข่ายความผูกพันกันเช่นนี้ เพื่อปรับปรุงภาพลักษณ์ทางด้านบรรษัทภิบาลที่ยังย่ำแย่หนักของประเทศให้กระเตื้องดีขึ้น

เทตสึโระ ไอกาวะ ประธานกรรมการบริหารของมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ซึ่งระบุว่า “รู้สึกผิดหวังมาก” ต่อเรื่องที่เกิดขึ้น ยังได้กล่าวยอมรับในสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่า บริษัทของเขากำลัง “ตกอยู่ในความเสี่ยง” ว่า จะอยู่รอดต่อไปได้หรือไม่ อย่างไรก็ดี ทางด้านผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท ยังคงแทบไม่ได้แสดงท่าทีอะไรเลยว่าจะทำอย่างไรต่อไป

“มิตซูบิชิ มอเตอร์ส เดินมาไกลมากทีเดียว นับตั้งแต่ครั้งที่ประสบปัญหาในอดีต ดังนั้นเรื่องที่เกิดขึ้นนี้จึงเป็นเรื่องที่สร้างความผิดหวังมาก ๆ” ชินอิชิ มิยานางะ ประธานกรรมการบริหารของ มิตซูบิชิ เฮฟวี อินดัสตรีส์ (เอ็มเอชไอ) กล่าว เอ็มเอชไอเป็นผู้ที่ถือหุ้นของมิตซูบิชิ มอเตอร์ส เอาไว้มากกว่า 12%

“เราจำเป็นที่จะต้องขบคิดในเรื่องภาพลักษณ์ของแบรนด์ของกลุ่มมิตซูบิชิทั้งหมด มันเป็นทั้งเรื่องความรับผิดชอบทางสังคม และก็เป็นทั้งเรื่องการไล่เรียงเอาผิดสำหรับผลประกอบการที่เกิดขึ้น”

สัปดาห์ที่ผ่านมา มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ออกมายอมรับว่า ได้หลอกลวงการทดสอบรถของตนย้อนหลังไปได้ถึงราว 25 ปี ยาวนานกว่าที่เคยพูดกันไว้ในตอนแรกมาก ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้สูงมากที่ว่า รถซึ่งบริษัทขายในต่างประเทศและเกี่ยวข้องกับการฉ้อฉลเช่นนี้ จะต้องมีจำนวนมากกว่าที่คาดหมายกัน และขนาดขอบเขตของวิกฤตการณ์คราวนี้ก็น่าจะกว้างขวางยิ่งกว่าที่คิดคำนวณเอาไว้

บริษัทอ้างว่า พวกพนักงานที่มิได้มีการระบุชื่อ ยังได้ปลอมแปลงข้อมูลเพื่อให้รถซึ่งผลิตออกมาดูจะประหยัดน้ำมันได้ดีกว่าที่เป็นจริง

“เรายังไม่ได้ภาพเต็ม ๆ ที่ว่าบริษัทจะทำการชดเชยให้แก่ลูกค้ากันอย่างไร” ไซจิ ซุงิอุระ นักวิเคราะห์อาวุโสด้านหุ้นรถยนต์ของสถาบันวิจัยโตไกโตเกียว กล่าวให้ความเห็น

“รถมิตซูบิชิทุกคันที่กำลังวิ่งกันตามท้องถนนเวลานี้ อาจจะเรียกเงินค่าชดเชยความเสียหายได้ทั้งสิ้น ซึ่งหมายความว่าจะเป็นจำนวนมหาศาลมาก”

มิตซูบิชินั้น ขายรถได้ราว 1 ล้านคันในทั่วโลกเมื่อปีที่แล้ว และเมื่อเทียบกับพวกผู้ผลิตรถรายใหญ่สัญชาติญี่ปุ่นด้วยกัน ก็มีขนาดเล็กกว่ามาก รวมทั้งมีเงินสดอยู่ในมือน้อยที่สุด จนไม่อาจเทียบกับคู่แข่งอย่างโตโยต้า หรือ ฮอนด้า นี่หมายความว่า อยู่ในฐานะด้อยกว่ามากในเวลาที่ต้องรับมือกับพายุร้ายเฉกเช่นขณะนี้
<i>โชว์รูมที่สำนักงานใหญ่ของมิตซูบิชิมอเตอร์ส ในกรุงโตเกียว </i>
ตั้งแต่เรื่องอื้อฉาวปะทุขึ้นเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน ยอดขายในญี่ปุ่นของมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ตกฮวบฮาบลงถึงเกือบครึ่งหนึ่ง และชื่อเสียงซึ่งเสียหายแหลกลาญก็ทำท่าจะกระทบต่อฐานะทางการเงินของบริษัท

อย่างไรก็ตาม ซุงิอุระ นักวิเคราะห์อาวุโสมองแง่ดีว่า “แบรนด์มิตซูบิชิยังคงแข็งแกร่งในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย ซึ่งได้กลายเป็นแหล่งที่มาอย่างสำคัญแหล่งหนึ่งของผลกำไรของบริษัท นอกจากนั้น บริษัทยังมีโรงงานใหม่แห่งหนึ่งในอินโดนีเซียด้วย”

“ดังนั้น จึงมีรากฐานสำหรับการพลิกฟื้นขึ้นมาใหม่ ถ้าหากบริษัทไม่ได้กระทำผิดยุ่งเหยิงในต่างประเทศไปด้วย”

มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ซึ่งอยู่ในภาวะดิ้นรนหนักยังอาจจะต้องยอมรับการเข้ามาซื้อของนักลงทุนต่างชาติ ถ้าหากพวกผู้ถือหุ้นรายใหญ่พากันทอดทิ้งบริษัท

เมื่อเร็ว ๆ นี้ กลุ่มฟ็อกซ์คอนน์ ของไต้หวัน ได้เข้าฮุบบริษัท ชาร์ป ยักษ์ใหญ่อิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่ในอาการย่ำแย่เอาไว้ ถึงแม้การที่ต่างชาติเข้าเทกโอเวอร์กิจการบริษัทญี่ปุ่นนั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นน้อยมาก ๆ

อย่างไรก็ดี ซุงิอุระ ระบุว่า สำหรับพวกบริษัทในเครือมิตซูบิชิแล้ว น่าจะต้องพยายามรักษามิตซูบิชิมอเตอร์สเอาไว้ เนื่องจากเดิมพันของพวกเขาถือว่าสูงมาก ในแง่ของการเชื่อมโยงด้านต่าง ๆ ที่มีมานานแล้ว รวมทั้งเครือข่ายการจัดจำหน่ายและความผูกพันของผลิตภัณฑ์

“ธุรกิจจำนวนมากในกลุ่มจะได้รับความกระทบกระเทือน ถ้าหากผู้ผลิตรถรายนี้ล้มครืนลงไป”

กำลังโหลดความคิดเห็น