เอเอฟพี/เอเจนซีส์ – ราคาหุ้นของบริษัทชาร์ป ในตลาดโตเกียวดำดิ่งแรงวันนี้ (26 ก.พ.) หลังจากบรรษัทนานาชาติของไต้หวันที่เป็นเจ้าของบริษัทฟอกซ์คอนน์ แถลงเมื่อเย็นวันพฤหัสบดี (25) ว่า จะต้องชะลอการลงนามข้อตกลงเทคโอเวอร์มูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ออกไปก่อน เพื่อศึกษาทบทวนข้อมูลข่าวสารใหม่ๆ ที่ตนเพิ่งได้รับมาจากยักษ์ใหญ่อิเล็กทรอนิกส์สัญชาติญี่ปุ่นที่กำลังอยู่ในอาการซวนเซรายนี้
พวกนักวิเคราะห์พากันเชียร์ลั่นในวันพฤหัสบดี (25) หลังจากที่ ชาร์ป ซึ่งเซซวดอยู่ตรงปากขอบเหวของการล้มละลายมาเป็นแรมปี ประกาศยอมรับอย่างเป็นทางการ ข้อเสนอควบรวมกิจการจาก ฮอน ไฮ พรีซีชั่น บริษัทแม่ของ ฟอกซ์คอนน์ และก็จะกลายเป็นการขายกิจการยักษ์ใหญ่อิเล็กทรอนิกส์สัญชาติญี่ปุ่นให้แก่ต่างชาติเป็นรายแรกอีกด้วย
ทว่าหลังจากตลาดแถบเอเชียปิดในวันนั้นเอง ฮอน ไฮ ซึ่งเป็นซัปพลายเออร์ผู้รับจ้างผลิตด้านอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่สุดของโลก ได้ออกมาแถลงว่าจะยังไม่ลงนามในข้อตกลงนี้ จนกว่าจะได้ศึกษาทบทวนข่าวสารข้อมูลใหม่ๆ ซึ่งชาร์ปเพิ่งส่งมาให้
ฮอน ไฮ ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดของเอกสารเหล่านี้ของชาร์ป หนึ่งในบริษัทญี่ปุ่นซึ่งเป็นที่รู้จักกันมากที่สุด อีกทั้งยังคงเป็นผู้นำรายหนึ่งในเทคโนโลยีจอภาพสมาร์ทโฟน
อย่างไรก็ตาม บลูมเบิร์กนิวส์ รายงานโดยอ้างบุคคลซึ่งคุ้นเคยกับเรื่องนี้บอกว่า เป็นเรื่องเกี่ยวกับสิ่งที่อาจกลายเป็นภาระหนี้สินเพิ่มเติมจากภาระจำนวน 300,000 ล้านเยน (2,700 ล้านดอลลาร์) ซึ่ง ฮอน ไฮ จะต้องรับมาในการเข้าเทคโอเวอร์
สื่อหลายรายเคยรายงานก่อนหน้านี้ว่า มูลค่าในการซื้อคราวนี้อาจจะอยู่ในระดับ 700,000 ล้านเยน โดยรวมถึงหนี้สินของชาร์ปด้วยแล้ว
โฆษกของฟอกซ์คอนน์ ซึ่งตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในไต้หวัน ไม่ยอมให้ความเห็นอะไรเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ เช่นเดียวกับโฆษกของชาร์ปในกรุงโตเกียว
ขณะที่ นิกเกอิ หนังสือพิมพ์รายวันแนวธุรกิจซึ่งมีอิทธิพลสูงยิ่งของญี่ปุ่นระบุว่า ฟอกคอนน์ทราบอยู่ก่อนแล้วเรื่องที่อาจมีภาระหนี้สินเพิ่มเติม ซึ่งรายงานข่าวระบุว่ามีทั้งส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายในการปรับโครงสร้างและในการจ่ายชดเชยคนงานที่ถูกปลด
นิกเกอิ บอกด้วยว่าชาร์ปได้ส่งทีมผู้บริหารของตนเดินทางไปประชุมกับพวกเจ้าหน้าที่ของฮอน ไฮ ในวันศุกร์ (26) นี้ ในจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งบริษัทไต้หวันแห่งนี้ว่าจ้างลูกจ้างพนักงานเอาไว้กว่า 1 ล้านคน
ตามข้อตกลงที่ยังไม่ได้ลงนามกันฉบับนี้ ฮอน ไฮ จะเข้าถือหุ้น 65.9% ในบริษัทชาร์ป คิดเป็นมูลค่า 489,000 ล้านเยน
จากความไม่แน่นอนในเรื่องการซื้อขายคราวนี้ ทำให้ราคาหุ้นของชาร์ปหล่นฮวบในวันศุกร์ถึง 11.4% ปิดที่ราคาหุ้นละ 132 เยน
ขณะที่พวกนักวิเคราะห์ยังคงมีความเห็นแตกแยกกันในเรื่องที่ว่า ดีลนี้ยังมีหวังจะเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่
“ดีลนี้ยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่หลายประการ หลังจากที่บริษัททั้งสองต่างออกประกาศที่ดูจะมีข้อความขัดแย้งกัน” อัลเบอร์โต โมเอล นักวิเคราะห์ของ แซนฟอร์ด ซี. เบิร์นสไตน์ ในฮ่องกง กล่าวให้ทัศนะ
“เรายังคงยืนยันความคิดเห็นของเราที่ว่า ฮอน ไฮ น่าที่จะกำลังจ่ายแพงเกินไปสำหรับธุรกรรมซึ่งมีความเสี่ยงสูงในการดำเนินการเพื่อฟื้นฟูภาคธุรกิจที่มีอยู่หลากหลายของชาร์ปให้คืนดีขึ้นมา”
ขณะที่ ฮิเดกิ ยาสุดะ นักวิเคราะห์แห่งสถาบันวิจัย เอซ รีเสิร์ช ในโตเกียว มองว่าข้อตกลงนี้ยังน่าจะเดินหน้าต่อไปได้ พร้อมกับเสริมว่ากฎเกณฑ์ด้านบัญชีของญี่ปุ่นนั้น ไม่ได้กำหนดให้ชาร์ปต้องเปิดเผยสิ่งที่อาจกลายเป็นภาระหนี้สินเพิ่มเติมตามที่มีรายงานข่าวปรากฏออกมา
“ผมสงสัยว่า ชาร์ปคงจะแจ้งข้อมูลข่าวสารดังกล่าวนั้นให้ทราบ หลังจากที่ได้ตกลงรับข้อเสนอซื้อเอาไว้แล้ว และกำลังจัดทำรายละเอียดอื่นๆ ซึ่งมีอยู่เอาไว้เพิ่มเติมจากสิ่งที่บริษัทเปิดเผยไปแล้วตามวิธีปฏิบัติในการเปิดเผยข้อมูลตามปกติ” ยาสุดะ คาดการณ์
“ความรู้สึกของผมบอกว่า กรอบของดีลนี้ตามที่คณะกรรมการบริหารบริษัทได้ตกลงไปแล้วนั้น ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ นี่เป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งในกระบวนวิธีในทางปฏิบัติเท่านั้น