เอเอฟพี - การประท้วงแผนปฏิรูปกฎหมายแรงงานเลี้ยวเข้าสู่ความรุนแรงในกรุงปารีส และตามเมืองต่าง ๆ ของฝรั่งเศสในวันพฤหัสบดี (28 เม.ย.) หลังคนงานและนักศึกษาหลายหมื่นคนออกมาชุมนุมรอบใหม่กดดันให้ถอนร่างกฎหมายนี้ซึ่งเป็นที่โต้เถียงกันอย่างรุนแรง
การผละงานและชุมนุมประปรายยังก่อความยุ่งเหยิงด้านการสัญจรของผู้เดินทาง และนำมาซึ่งการยกเลิกเที่ยวบินที่ท่าอากาศยานออร์ลี ทางตอนใต้ของกรุงปารีส จำนวน 5 เที่ยว และมีรายงานการดีเลย์หลายเที่ยวบินที่สนามบิน ชาร์ล เดอ โกลล์ ด้วยสหภาพแรงงานและนักศึกษาเรียกร้องให้รัฐบาลฝรั่งเศสถอนร่างกฎหมายปฏิรูปแรงงาน ในหนล่าสุดของการประท้วงหลายระลอกที่เริ่มต้นมาตั้งแต่เมื่อ 2 ปีก่อน
กองกำลังด้านความมั่นคงในเมืองหลวงฝรั่งเศส ต้องใช้แก๊สน้ำตายิงตอบโต้กลับไป หลังถูกกลุ่มวัยรุ่นสวมหน้ากากขว้างปาขวดและก้อนหินเข้าใส่ จนตำรวจนายหนึ่งได้รับบาดเจ็บสาหัสต้องถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล
เหตุปะทะรุนแรงระหว่างตำรวจและผู้ประท้วงยังปะทุขึ้นตามเมืองต่าง ๆ อย่างเช่น น็องต์ ลียง และ ตูลิส ขณะที่มีรายงานผู้ถูกจับกุม 57 คน ในมาร์กเซย์ ส่วน แบร์กนาร์ กาเซอเนิฟ รัฐมนตรีมหาดไทย เผยว่า มีตำรวจได้รับบาดเจ็บ 24 นาย ในนั้น 3 นาย อาการสาหัส และมีผู้ถูกควบคุมตัวทั่งประเทศทั้งหมด 124 คน
ร่างกฎหมายนี้เป็นความพยายามแก้ไขปัญหาที่เรื้อรังมานานเกี่ยวกับอัตราคนว่างงานอันสูงลิ่วอยู่ระดับราว ๆ 10 เปอร์เซ็นต์ แต่ฝ่ายต่อต้านแผนปฏิรูปบอกว่ามันคุกคามสิทธิของคนงาน และทำให้หน้าที่การงานของคนหนุ่มสาวไร้ความมั่นคงยิ่งขึ้น
ข้อเสนอกฎหมายใหม่นี้ปรับลดค่าทำงานล่วงเวลาหากพนักงานทำงานเกินสัปดาห์ละ 35 ชั่วโมงตามกฎหมายที่ใช้มาตั้งแต่คริสต์ทศวรรษหลังปี 1990 ซึ่งส่งผลให้ในบางภาคส่วน หนุ่มสาวฝึกงานอาจต้องทำงานเพิ่มเป็น 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เพื่อความอยู่รอด
แผนของสหภาพและองค์กรนักศึกษา คือ ถาโถมแรงกดดันให้รัฐบาลเพิ่มเติม ด้วยนัดหมายชุมนุมอีกครั้งในวันแรงงานวันอาทิตย์นี้ (1 พ.ค.) เช่นเดียวกับวันอังคารหน้า (3 พ.ค.) ซึ่งรัฐสภาจะเริ่มเปิดอภิปรายเร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว
คลิสตอฟ ซิรูกู ส.ส. โซเชียลิสต์ ซึ่งเป็นผู้นำเสนอร่างกฎหมยฉบับนี้ต่อรัฐสภา หลังจากมันผ่านการทบทวนในชั้นคณะกรรมาธิการแล้ว บอกในวันพฤหัสบดี (28 เม.ย.) ว่ายังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องชี้แจง แต่เขาก็คาดหมายร่างกฎหมายนี้จะผ่านความเห็นชอบไปได้
คนหนุ่มสาวกลายเป็นแนวหน้าของการเคลื่อนไหวประท้วงครั้งนี้ หลังพบว่าพวกเขา ในนั้นรวมถึงผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญา ได้สัญญาจ้างงานระยะสั้นหรือเป็นแค่เด็กฝึกงาน ทั้งที่หวังว่าจะได้รับการจ้างงานประจำ
ปัจจุบันนายจ้างในฝรั่งเศสไม่อยากจ้างพนักงานประจ ำเพราะการเลิกจ้างทำได้ยาก ขณะที่ร่างกฎหมายปฏิรูปแรงงานที่จุดกระแสไม่พอใจฉบับนี้เปิดทางให้นายจ้างสามารถเลิกจ้างได้ด้วยสาเหตุง่าย ๆ เช่น ยอดขายตกหรือผลประกอบการขาดทุน
การประท้วงต่อต้านการปฏิรูปเริ่มต้นมาตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม จากนั้นก็มีการรวมตัวกันอีกหลายครั้ง โดยครั้งที่มีผู้คนเข้าร่วมมากที่สุด คือ วันที่ 31 มีนาคม ที่ดึงผู้คนมากถึง 390,000 คนลงสู่ท้องถนน
นายมานูเอล วาลส์ นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส อ้างว่า แผนปฏิรูปนี้จะช่วยให้เหล่านายจ้างมีความยืดหยุ่นมากขึ้นสำหรับการจ้างงานและปลดคนงาน ทว่าความพยายามผลักดันดังกล่าวถูกหมางเมินจากพวกฝ่ายซ้าย ในนั้นรวมถึงภายในรัฐบาลของเขาด้วย
ทางฝ่ายพวกที่สนับสนุนแผนปฏิรูป เชื่อว่า มันมีความจำเป็นสำหรับการกอบกู้เศรษฐกิจที่ซบเซาและสร้างงาน และอ้างว่าพวกคัดค้านส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการให้ข้อมูลผิด ๆ และข่าวลือผิด ๆ