xs
xsm
sm
md
lg

นักศึกษาและคนงานฝรั่งเศสครึ่งล้านชุมนุมต้านแผนปฏิรูปภาคแรงงาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นักศึกษาและคนงานฝรั่งเศสรวมตัวกันบนท้องถนนในกรุงปารีสเพื่อประท้วงการปฏิรูปภาคแรงงานในวันพุธ(9มี.ค.)
เอเอฟพี - นักศึกษาและคนงานฝรั่งเศสหลายแสนคนรวมตัวกันบนท้องถนนเพื่อประท้วงการปฏิรูปภาคแรงงานในวันพุธ (9 มี.ค.) ถาโถมแรงกดดันเข้าใส่ประธานาธิบดี ฟรังซัวส์ ออลลองด์ และรัฐบาลโซเชียลิสต์ของเขา ซึ่งไม่เป็นที่นิยมอยู่ก่อนแล้ว

แผนปฏิรูปของรัฐบาลประธานาธิบดีออลลองด์มีเป้าหมายเพิ่มการจ้างงานที่จะถอดอุปสรรคบางอย่างต่อการเลิกจ้างออกไป

คนหนุ่มสาวเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ส่งเสียงต่อต้านมาตรการดังกล่าวหนักหน่วงที่สุด ด้วยกังวลว่ามันจะทำให้อนาคตของพวกเขาตกอยู่ในความไม่แน่นอน แม้รัฐบาลอ้างว่าพวกเขาเป็นกลุ่มคนที่รัฐบาลต้องการให้ความช่วยเหลือมากที่สุด

พวกวัยรุ่นและเหล่านักศึกษาขว้างปาไข่และพลุไฟระหว่างการเดินขบวนในกรุงปารีส เพื่อแสดงความขุ่นเคืองต่อนางมีเรียม เอล คอมรี รัฐมนตรีแรงงานฝรั่งเศส ผู้ที่เสนอร่างกฎหมายดังกล่าว

สหภาพแรงงานหลายแห่งระบุว่ามีประชาชนมากกว่า 500,000 คนที่เข้าร่วมชุมนุมทั่วฝรั่งเศส โดยเฉพาะในกรุงปารีส ที่ทางสหภาพ CGT บอกว่ามีผู้เข้าร่วมถึง 100,000 คน แต่ตำรวจอ้างว่าตัวเลขในเมืองหลวงมีแค่ราวๆ 1 ใน 3 หรือ 30,000 คนเท่านั้น

นายมานูเอล วาลส์ นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส อ้างว่าแผนปฏิรูปนี้จะช่วยให้เหล่านายจ้างมีความยืดหยุ่นมากขึ้นสำหรับการจ้างงานและปลดคนงาน ทว่าความพยายามผลักดันดังกล่าวถูกหมางเมินจากพวกฝ่ายซ้าย ในนั้นรวมถึงภายในรัฐบาลของเขาด้วย

แนวทางปฏิรูปนี้มีเป้าหมายลดอัตราคนว่างงานลงมากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ ด้วยมีคนหนุ่มสาวเกือบ 25 เปอร์เซ็นต์ที่ยังตกงาน

ข้อเสนอกฎหมายใหม่นี้ยังปรับลดค่าทำงานล่วงเวลาหากพนักงานทำงานเกินสัปดาห์ละ 35 ชั่วโมงตามกฎหมายที่ใช้มาตั้งแต่คริสต์ทศวรรษหลังปี 1990 ซึ่งส่งผลให้ในบางภาคส่วน หนุ่มสาวฝึกงานอาจต้องทำงานเพิ่มเป็น 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เพื่อความอยู่รอด

“ฉันก็เหมือนกับนักศึกษาคนอื่นๆ ต้องทำงานเพื่อหาเงินจ่ายค่าเล่าเรียน กฎหมายนี้จะขัดขวางฉันผ่านการจำกัดชั่วโมงการทำงาน” ฟลอรา วัย 20 ปี นักศึกษาประวัติศาสตร์ หนึ่งในผู้ชุมนุมในกรุงปารีสกล่าว “ฉันจะเอาเวลาไหนไปเรียน กฎหมายไม่สมเหตุสมผลเลย ในความเป็นจริงคงไม่มีใครทำงาน 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์อีกแล้ว มันต้องเป็น 40 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้นเพื่อให้ชีวิตอยู่รอด”

นายออลลองด์ที่เคยหาเสียงด้วยการให้สัญญาว่าจะส่งเสริมโอกาสของคนหนุ่มสาวและหวังได้รับเลือกกลับมาดำรงตำแหน่งอีกสมัยในศึกเลือกตั้งปีหน้า กล่าวก่อนการประท้วงว่าเขาต้องการช่วยเหลือคนหนุ่มสาว ผ่านการทำให้มีความมั่นคงด้านการงานมากขึ้น “เราต้องมอบโอกาสแก่บริษัทต่างๆ ในการรับสมัครพนักงานเพิ่มเติม มอบความมั่นคงด้านการงานแก่คนหนุ่มสาวตลอดชีวิตพวกเขา และมอบความยืดหยุ่นแก่บริษัทต่างๆ”

อย่างไรก็ตาม คนหนุ่มสาวจำนวนมาก ในนั้นรวมถึงผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญา พบว่าตนเองได้สัญญาจ้างงานระยะสั้นเท่านั้นหลายปีหลังจบการศึกษา หรือเป็นแค่เด็กฝึกงาน ในความหวังว่าจะได้รับการจ้างงานประจำ

สถานการณ์ของพวกเขาขัดแย้งกับความมั่นคงด้านการงานของพนักงานสัญญาจ้างเต็มเวลาในฝรั่งเศส ซึ่งได้รับการปกป้องจากสหภาพแรงงานต่างๆ

นายกรัฐมนตรีวาลส์ได้หารือกับเหล่าสหภาพเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ในความพยายามกอบกู้ร่างกฎหมายนี้ หลังจากถูกฝ่ายค้านขัดขวางจนทำให้แผนเสนอแผนปฏิรูปต่อคณะมนตรีในสัปดาห์นี้ต้องหยุดชะงัก

ทางฝ่ายพวกที่สนับสนุนแผนปฏิรูปเชื่อว่ามันมีความจำเป็นสำหรับการกอบกู้เศรษฐกิจที่ซบเซาและสร้างงาน และเอล คอมรี อ้างว่าพวกคัดค้านส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการให้ข้อมูลผิดๆ และข่าวลือผิดๆ

นายเอ็มมานูเอล มาคร็อง รัฐมนตรีเศรษฐกิจระบุในวันอังคาร (8 มี.ค.) ว่า ด้วยอัตราคนว่างงานไม่ลดต่ำกว่าร้อยละ 7 ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา และขณะนี้สูงเป็นประวัติการณ์ถึงร้อยละ 10.2 รัฐบาลจึงไม่มีทางเลือกเว้นแต่เปลี่ยนแปลงสถานะปัจจุบัน

ปัจจุบันนายจ้างในฝรั่งเศสไม่อยากจ้างพนักงานประจำเพราะการเลิกจ้างทำได้ยาก ขณะที่ร่างกฎหมายปฏิรูปแรงงานที่จุดกระแสไม่พอใจฉบับนี้เปิดทางให้นายจ้างสามารถเลิกจ้างได้ด้วยสาเหตุง่าย ๆ เช่น ยอดขายตกหรือผลประกอบการขาดทุน


กำลังโหลดความคิดเห็น