เอเอฟพี - ศูนย์ปล่อยอวกาศยานแห่งใหม่ของแดนหมีขาว “วอสตอชนี คอสโมโดรม” เปิดตัวอย่างเป็นทางการด้วยการประเดิมปล่อยจรวดขึ้นสู่อวกาศเป็นครั้งแรกในวันนี้ (28 เม.ย.) หลังจากที่ต้องเลื่อนกำหนดการในนาทีสุดท้ายเมื่อ 1 วันก่อน จนประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ถึงกับเอ่ยตำหนิเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโครงการ
สำนักงานอวกาศแห่งชาติ “รอสคอสมอส” ของรัสเซีย แถลงว่า จรวดโซยุซ 2.1 ได้นำดาวเทียม 3 ดวงพุ่งทะยานออกจากฐานยิงเมื่อเวลา 11.01 น.ตามเวลาท้องถิ่น (09.01 น.ตามเวลาในไทย) หลังแผนปล่อยจรวดได้ถูกยกเลิกโดยอัตโนมัติเมื่อ 24 ชั่วโมงก่อนหน้า เนื่องจากพบปัญหาทางเทคนิค
“การส่งจรวดขึ้นสู่อวกาศประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ ขณะนี้ดาวเทียมทั้ง 3 ดวงได้เข้าสู่วงโคจรแล้ว” คำแถลงระบุ
สถานีโทรทัศน์รัสเซียได้เผยแพร่ภาพจรวดโซยุซ 2.1 พุ่งทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าสีคราม โดยทางการหมีขาวไม่อนุญาตให้สื่อต่างประเทศเข้าไปทำข่าวภายในศูนย์ปล่อยจรวดแห่งใหม่
ประธานาธิบดีปูตินได้เดินทางไปยังวอสตอชนี คอสโมโดรม ซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคตะวันออกไกลของรัสเซีย เพื่อเฝ้าชมการปล่อยจรวดครั้งปฐมฤกษ์นี้ด้วยตนเอง
ทั้งนี้ มีรายงานว่า ปูติน ถึงกับเรียกพวกหัวหน้าโครงการอวกาศมาตำหนิอย่างรุนแรง หลังแผนปล่อยจรวดโซยุซ 2.1 ต้องถูกเลื่อนในนาทีสุดท้ายเมื่อวันพุธ (27) ทั้งที่ความล่าช้าลักษณะนี้ก็เกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ ทั่วโลก ตัวอย่างเช่น การส่งดาวเทียมของยุโรปจากดินแดนเฟรนช์เกียนาของฝรั่งเศสเมื่อสัปดาห์ที่แล้วก็ยังถูกเลื่อนถึง 3 ครั้ง ก่อนจะประสบความสำเร็จเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (25)
“ถึงจะล้มเหลวไปบ้าง แต่รัสเซียก็ยังเป็นผู้นำเบอร์ 1 ของโลกในด้านการส่งจรวดขึ้นสู่อวกาศ” ปูตินกล่าวต่อที่ประชุมคณะเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีการถ่ายทอดสดผ่านสถานีโทรทัศน์
“แต่การที่เราประสบกับความล้มเหลวบ่อยเกินไปก็เป็นเรื่องที่แย่ ทุกฝ่ายต้องหาวิธีตอบสนองที่เหมาะสมกับเวลา และเป็นมืออาชีพด้วย” ผู้นำหมีขาวย้ำ
ปูตินยกย่องศูนย์ปล่อยอวกาศยาน วอสตอชนี คอสโมโดรม ซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคอามูร์ (Amur) ว่าเป็นโครงการก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของรัสเซียในปัจจุบัน โดยใช้งบประมาณก่อสร้างระหว่าง 300,000-400,000 ล้านรูเบิล
ตั้งแต่ปี 2012 รัสเซียได้จ้างคนงานก่อสร้างราว 10,000 คนตัดถนนยาว 115 กิโลเมตรผ่านภูมิภาคซึ่งกว้างใหญ่และมีผู้คนอาศัยอยู่เบาบาง รวมถึงสร้างทางรถไฟความยาว 125 กิโลเมตร และเมืองเล็กๆ ที่มีประชากรอยู่ราว 25,000 คน
การสร้างศูนย์ปล่อยอวกาศยานขึ้นในแดนหมีขาวเองจะช่วยลดการพึ่งพาฐานยิงจรวดไบโคนูร์ (Baikonur) ในคาซักสถาน ซึ่งมอสโกต้องจ่ายเงินค่าเช่าถึงปีละ 115 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4,030 ล้านบาท) นับตั้งแต่สหภาพโซเวียตล่มสลาย
อย่างไรก็ตาม รองนายกรัฐมนตรีดมิตรี โรโกซิน ซึ่งกำกับดูแลด้านอวกาศและอุตสาหกรรมกลาโหมของรัสเซีย ยืนยันว่า รัฐบาลจะยังคงใช้ฐานยิงที่ไบโคนูร์เพื่อส่งเจ้าหน้าที่ขึ้นไปปฏิบัติภารกิจในห้วงอวกาศจนถึงปี 2023 และการปล่อยจรวดโซยุซ 2.1 ก็จะเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวสำหรับ วอสตอชนี คอสโมโดรม ในปี 2016