xs
xsm
sm
md
lg

“รุสเซฟฟ์” ขู่ยุตลาดร่วม “เมร์โกซูร์” คว่ำบาตรบราซิล หากถูกถอดถอนอย่างไม่เป็นธรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดี ดิลมา รุสเซฟฟ์ แห่งบราซิล กล่าวปราศรัยต่อที่ประชุมสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ระหว่างเดินทางไปร่วมพิธีลงนามข้อตกลงภูมิอากาศปารีส วานนี้ (22 เม.ย.)
รอยเตอร์ - ประธานาธิบดีดิลมา รุสเซฟฟ์ แห่งบราซิล โอดถูกฝ่ายค้านจ้อง “รัฐประหาร” ด้วยการไล่บี้ถอดถอนจากตำแหน่ง พร้อมขู่จะร้องเรียนไปยังกลุ่มตลาดร่วมอเมริกาใต้ตอนล่าง หรือเมร์โกซูร์ (Mercosur) ให้ระงับสมาชิกภาพของบราซิล หากกระบวนการประชาธิปไตยถูกล่วงละเมิด

ผู้นำหญิงบราซิลได้ให้สัมภาษณ์สื่อต่างชาติที่นครนิวยอร์ก ระหว่างเดินทางไปร่วมพิธีลงนามข้อตกลงภูมิอากาศปารีส ที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ โดยกล่าวว่า “ดิฉันจะยื่นร้องเรียนเกี่ยวกับข้อบัญญัติว่าด้วยประชาธิปไตย ถ้าจากนี้ไปมีการฝ่าฝืนกระบวนการประชาธิปไตยเกิดขึ้นในบราซิล”

กลุ่มเมร์โกซูร์ มีข้อบัญญัติว่าด้วยระบอบประชาธิปไตย ซึ่งกำหนดบทลงโทษหากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในรัฐภาคีถูกโค่นล้ม ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในปารากวัย เมื่อปี 2012 ทั้งนี้ หากมีการละเมิดหลักประชาธิปไตยเกิดขึ้น จะทำให้รัฐภาคีดังกล่าวถูกระงับสมาชิกภาพ และอาจสูญเสียผลประโยชน์ในด้านการค้าด้วย

คำแถลงของ รุสเซฟฟ์ ถือเป็นการส่งสัญญาณชัดเจนว่า เธอพร้อมจะสู้ไม่ถอย หากวุฒิสภามีมติถอดถอนเธอออกจากตำแหน่งผู้นำประเทศ

รุสเซฟฟ์ วัย 68 ปี ชี้ว่า กระบวนการถอดถอนที่ฝ่ายค้านผลักดันอยู่นั้น “มีลักษณะของการก่อรัฐประหารอย่างชัดเจน” และปราศจากข้อกฎหมายรองรับ

ก่อนหน้านั้น รุสเซฟฟ์ ได้แถลงต่อที่ประชุมสหประชาชาติด้วยถ้อยคำที่เบาลงมา โดยเลี่ยงที่จะเอ่ยคำว่า “รัฐประหาร” ตรงๆ

“ดิฉันคงสรุปคำพูดไม่ได้ หากไม่เอ่ยถึงปัญหาร้ายแรงที่กำลังเกิดขึ้นในบราซิล... แต่ดิฉันก็มั่นใจว่า ประชาชนของเราจะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดความล้มเหลวขึ้น”

เธอยังกล่าวขอบคุณผู้นำชาติต่างๆ ที่ให้กำลังใจ และประกาศจุดยืนสนับสนุนเธอ
รองประธานาธิบดี มิเชล ทีเมอร์ แห่งบราซิล
การเมืองแดนแซมบ้ากำลังเข้าสู่ภาวะสับสนอลหม่านที่สุด นับตั้งแต่ระบอบเผด็จการทหารล่มสลายไปเมื่อปี 1985 โดยรัฐบาลของ รุสเซฟฟ์ นั้นถูกสังคมติเตียนเรื่องการบริหารบ้านเมืองอย่างไร้ประสิทธิภาพ จนทำให้เศรษฐกิจแดนแซมบ้าเข้าสู่ภาวะถดถอยที่สุดในรอบ 25 ปี นอกจากนี้ ยังถูกฟ้องคดีรับสินบน และยักยอกทรัพย์จำนวนมหาศาลจากรัฐวิสาหกิจน้ำมันเปโตรบราส (Petrobras) ซึ่งเป็นคดีอื้อฉาวที่ทำให้คะแนนนิยมของรัฐบาลดิ่งรูดลงมาเหลือแค่ราวๆ 10%

เธอยังถูกกล่าวหาว่า ใช้อำนาจตกแต่งบัญชีอย่างผิดกฎหมายเพื่อปกปิดสถานะการคลังที่ย่ำแย่ของรัฐบาลในช่วงที่ลงสมัครรับเลือกตั้งรอบสองในปี 2014

สถานะของรัฐบาล รุสเซฟฟ์ เวลานี้ถือว่าง่อนแง่นเต็มทน หลังจากสภาผู้แทนราษฎรลงมติเสียงส่วนใหญ่ส่งเรื่องให้วุฒิสภาเริ่มกระบวนการถอดถอนประธานาธิบดี และมีโอกาสสูงมากที่ รุสเซฟฟ์ จะถูกขับพ้นตำแหน่ง ก่อนที่บราซิลจะเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกส์ฤดูร้อนในเดือน ส.ค.นี้

หากวุฒิสภาบราซิลโหวตถอดถอนประธานาธิบดีหญิงหัวซ้ายตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ รองประธานาธิบดีมิเชล ทีเมอร์ ซึ่งถอนตัวจากรัฐบาลมาเป็นแกนนำของฝ่ายค้าน จะได้ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำบราซิลแทน

กระบวนการถอดถอนประธานาธิบดีทำให้สังคมบราซิลแตกแยกออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าการใช้กฎหมายงบประมาณมาเป็นข้ออ้างเอาผิด รุสเซฟฟ์ ถือเป็นการ “รัฐประหารที่ไม่ใช้อาวุธ” ขณะที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลมองว่า กระบวนการถอดถอนเป็นไปตามกฎหมาย และรัฐธรรมนูญทุกประการ

กำลังโหลดความคิดเห็น