รอยเตอร์ - ยอดผู้เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวรุนแรงในเอกวาดอร์ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมายังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดแตะ 525 ศพแล้วในวันพุธ (20 เม.ย.) ขณะที่ช่วงรุ่งสางของวันเดียวกันประเทศแห่งนี้ต้องเผชิญอาฟเตอร์ช็อกหนักหน่วงระดับ 6.2 นอกชายฝั่งแปซิฟิก เขย่าขวัญซ้ำเติมชาวบ้านและเหนี่ยวรั้งปฏิบัติการช่วยเหลือผู้รอดชีวิตจากแผ่นดินไหวก่อนหน้านี้
แผ่นดินไหวลูกล่าสุดซึ่งเกิดขึ้นตามหลังอาฟเตอร์ช็อกหลายร้อยครั้งนับตั้งแต่เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงระดับ 7.8 เมื่อวันเสาร์ (16 เม.ย.) มีศูนย์กลางห่างจากเกาะมูอิสเน 25 กิโลเมตร ลึกลงไปใต้ดิน 15 กิโลเมตร ขณะที่เกาะแห่งนี้ตั้งอยู่ตามแนวชายฝั่งทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ สำนักงานสำรวจทางธรณีวิทยาของสหรัฐฯ (USGS) ระบุ
ธรณีพิโรธหนล่าสุดอยู่ใกล้กับศูนย์กลางของแผ่นดินไหวเมื่อวันเสาร์ (16 เม.ย.) ซึ่งเขย่าตามแนวชายฝั่งพังราบและก่อความเสียหายใหญ่หลวงแก่ชาติผู้ผลิตน้ำมันแห่งนี้ที่อยู่ในภาวะเศรษฐกิจเปราะบางอยู่ก่อนแล้ว
อาฟเตอร์ช็อกรุนแรงปลุกผู้คนในเมืองเปเดอร์นาเลส ซึ่งเพิ่งเผชิญหายนะเลวร้ายเมื่อวันเสาร์ (16 เม.ย.) สะดุ้งตื่นและพากันวิ่งหนีตายขึ้นไปอยู่บนท้องถนน อย่างไรก็ตาม ไม่มีประกาศเตือนภัยสึนามิ และไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตหรือความเสียหายใหม่ๆ เพิ่มเติม ขณะที่สถาบันธรณีฟิสิกส์ของเอกวาดอร์บอกว่าในวันพุธ (20 เม.ย.) มีอาฟเตอร์ช็อก 17 ครั้ง
สื่อมวลชนท้องถิ่นรายงานว่า ปฏิบัติการกู้ภัยต้องถูกระงับชั่วคราวขณะที่ความหวังค้นพบผู้รอดชีวิตจากแผ่นดินไหวช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเลือนรางลงทุกขณะ โดยยอดรวมผู้เสียชีวิตของรัฐบาลกลางตอนนี้อยู่ที่ 525 ศพ
นอกจากนี้แล้วยังมีอีกหลายพันคนที่ยังสูญหายและมีผู้ได้รับบาดเจ็บมากกว่า 4,600 คนในภัยพิบัติเลวร้ายครั้งนี้ ที่ทำลายบ้านเรือนราว 1,500 หลัง กระตุ้นให้เกิดดินถล่มและท้องถนนได้รับความเสียหาย ขณะเดียวกันประชาชนอีกราว 23,500 คนต้องอาศัยหลับนอนตามศูนย์พักพิงต่างๆ
ประธานาธิบดี ราฟาเอล คอร์เรีย ซึ่งกำลังลงสำรวจพื้นที่ประสบภัย บอกเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า แผ่นดินไหวก่อความเสียหายราว 2,000 ถึง 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และอาจฉุดอัตราเติบโตของประเทศ 2-3% ซึ่งถือเป็นข่าวร้ายอย่างยิ่ง เนื่องจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์ตั้งแต่ก่อนเกิดแผ่นดินไหวว่าเศรษฐกิจเอกวาดอร์ปีนี้จะหดตัวถึง 4.5%
มีความกังวลมากขึ้นว่าประชาชนเรือนแสนซึ่งไม่มีที่อยู่อาศัยจากแผ่นดินไหวมีความเสี่ยงเจ็บป่วยด้วยโรคที่มียุงเป็นพาหะและจากน้ำดื่มที่ไม่สะอาด ขณะที่ผู้รอดชีวิตในดินแดนห่างไกลต้องอยู่โดยไม่มีน้ำหรือไฟฟ้าใช้ เช่นเดียวกับถูกตัดขาดด้านการขนส่ง
กองกำลังความมั่นคงและเจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ดูเหมือนเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว และเจ้าหน้าที่รัฐบาลรีบรุดไปยังพื้นที่ประสบภัย กระนั้น ประชาชนในหลายพื้นที่ อาทิ ที่เมืองมันตาที่มีประชากร 253,000 คน เริ่มหมดความอดทน และโจมตีว่าทั้งการบรรเทาทุกข์และการค้นหาผู้รอดชีวิตล่าช้าไม่ทันการณ์ หลายพื้นที่ขาดแคลนน้ำ อาหาร และยา รวมถึงพลังงาน และระบบขนส่ง