xs
xsm
sm
md
lg

ความบาดหมางระหว่าง ‘ซาอุดี’ กับ ‘อิหร่าน’ ทำ‘ข้อตกลงหยุดผลิตน้ำมันเพิ่ม’พังครืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: รอยเตอร์/เอเชียไทมส์

เก็บความจาก Saudi-Iran tensions scupper deal to freeze oil output
17/04/2016

(จากรอยเตอร์)

การประชุมที่กรุงโดฮาเมื่อวันอาทิตย์ (17 เม.ย.) ของพวกชาติผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ทั้งที่เป็นสมาชิกของโอเปกและที่อยู่นอกโอเปก ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะทำข้อตกลงระงับการเพิ่มการผลิต เพื่อที่จะผลักดันให้ราคาน้ำมันกลับขยับกระเตื้องสูงขึ้น ปรากฏว่ามีอันต้องล้มครืนลงสืบเนื่องจากซาอุดีอาระเบียยืนกรานในนาทีสุดท้าย เรียกร้องให้อิหร่านต้องเข้าร่วมปฏิบัติตามดีลนี้ด้วย การแสดงท่าทีเช่นนี้ของราชอาณาจักรแห่งนี้ ทำให้ผู้สังเกตการณ์จำนวนมากมองว่า เวลานี้ซาอุดีอาระเบียกำลังใช้นโยบายด้านน้ำมัน เป็นเพียงเสมือนเครื่องมืออย่างหนึ่งของการดำเนินการทางการทูต ซึ่งเน้นหนักให้ความสำคัญกับการเผชิญหน้ากับอิหร่าน ที่เพิ่มทวีความตึงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ

การทำความตกลงกันระหว่างชาติผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ๆ ทั้งที่เป็นสมาชิกองค์การประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และที่อยู่นอกโอเปก เพื่อให้หยุดเพิ่มการผลิตเอาไว้ชั่วคราว มีอันต้องพังครืนลงในวันอาทิตย์ (17 เม.ย.) ที่ผ่านมา หลังจากซาอุดีอาระเบียยืนกรานเรียกร้องให้อิหร่านเข้าร่วมปฏิบัติตามดีลนี้ด้วย ถึงแม้มีเสียงเรียกร้องต่อริยาดให้ช่วยกันรักษาข้อตกลงฉบับนี้เอาไว้ก่อนเพื่อจะได้ผลักดันราคาน้ำมันดิบให้ขยับสูงขึ้น

พัฒนาการที่เกิดขึ้นคราวนี้ มีหวังรื้อฟื้นความหวาดกลัวของอุตสาหกรรมน้ำมันที่ว่า พวกชาติผู้ผลิตรายสำคัญๆ กำลังเริ่มต้นเข้าสู่สมรภูมิเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดกันอีกระลอกหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากซาอุดีอาระเบียข่มขู่ที่จะเพิ่มผลผลิตขึ้นอย่างสูงลิ่ว หากยังคงไม่สามารถบรรลุข้อตกลงให้คงระดับการผลิตเอาไว้เท่าเดิมกันได้

ในอีกด้านหนึ่ง ภายหลังจากฝ่ายตะวันตกยกเลิกมาตรการลงโทษคว่ำบาตรเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา อิหร่านก็ตอกย้ำให้คำมั่นสัญญาที่จะทวีการผลิตน้ำมันของตนจนกระทั่งถึงระดับก่อนหน้าการถูกคว่ำบาตร สถานการณ์เช่นนี้จึงทำให้การประนีประนอมระหว่างเตหะรานกับริยาดแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ทั้งนี้ต้องไม่ลืมด้วยว่าสองประเทศนี้ยังกำลังทำสงครามตัวแทนกันอยู่ทั้งในเยเมนและซีเรีย

อันที่จริงแล้ว เมื่อวันอาทิตย์ (17) ที่ผ่านมา มีผู้ผลิตน้ำมัน 18 ชาติ ซึ่งรวมถึงรัสเซียที่ไม่ได้เป็นสมาชิกโอเปกด้วย ได้ไปรวมตัวเข้าร่วมการประชุมกันในกรุงโดฮา เมืองหลวงของกาตาร์ เพื่อกระทำสิ่งที่คาดหมายกันว่าจะเป็นเพียงการประทับตรารับรองอย่างเป็นทางการ ให้แก่ข้อตกลงที่พวกเขาจะคงปริมาณผลผลิตเท่ากับเมื่อเดือนมกราคมปีนี้เอาไว้ ไปจนกระทั่งถึงเดือนตุลาคม โดยที่ดีลดังกล่าวนี้ได้มีการเจรจาต่อรองจัดทำกันมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

แต่แล้วซาอุดีอาระเบียซึ่งมีฐานะเป็นผู้นำของโอเปกในทางพฤตินัย กลับแจ้งแก่ชาติต่างๆ ที่เข้าร่วมประชุมในกรุงโดฮาว่า ตนต้องการให้สมาชิกทุกชาติขององค์การประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน เข้าร่วมในการระงับการเพิ่มการผลิตคราวนี้ โดยรวมทั้งอิหร่าน ที่มิได้ส่งระดับรัฐมนตรีผู้มีอำนาจเต็มเข้ามาร่วมการประชุม

ทั้งนี้เตหะรานได้ปฏิเสธไม่ขอเข้าร่วมวงการหยุดผลิตน้ำมันเพิ่ม ด้วยเหตุผลว่าตนควรที่จะได้ส่วนแบ่งตลาดสูงขึ้นมา จนถึงระดับก่อนถูกมาตรการลงโทษคว่ำบาตรเสียก่อน

บรรยากาศการประชุมที่โดฮาจึงเปลี่ยนจากแค่การยกมือรับรองข้อตกลงอย่างเป็นทางการ กลายมาเป็นการอภิปรายถกเถียงกันอย่างดุเดือด ในเรื่องถ้อยคำที่จะใช้ในคำแถลงร่วมของการประชุม โดยคู่ที่โต้แย้งกันหนักก็มีคู่ระหว่างซาอุดีอาระเบียกับรัสเซียรวมอยู่ด้วย และภายหลังการประชุมยืดเยื้อเป็นเวลา 5 ชั่วโมง รัฐมนตรีและผู้แทนทั้งหลายก็ยกธงขาว ประกาศว่าไม่สามารถทำข้อตกลงอะไรกันได้

“เราสรุปกันว่าเราทั้งหลายจำเป็นที่จะต้องขอเวลาเพื่อการปรึกษาหารือกันต่อไป” โมฮัมเหม็ด อัล-ซาดา (Mohammed al-Sada) รัฐมนตรีพลังงานของกาตาร์ ซึ่งเป็นทั้งประธานของโอเปกวาระปัจจุบัน และก็เป็นเจ้าภาพการประชุม กล่าวแถลงต่อผู้สื่อข่าว ขณะที่แหล่งข่าวโอเปกหลายรายระบุว่า ถ้าอิหร่านยินยอมเข้าร่วมการงดเพิ่มการผลิตด้วย เมื่อถึงการประชุมวาระปกติของบรรดารัฐมนตรีน้ำมันโอเปกครั้งต่อไปในวันที่ 2 มิถุนายนแล้ว ถัดจากนั้นทางโอเปกก็อาจจะนัดหมายจัดการประชุมร่วมกับพวกผู้ผลิตนอกโอเปกอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม อเล็กซานเดอร์ โนวัก (Alexander Novak) รัฐมนตรีน้ำมันของรัสเซีย ได้วิพากษ์วิจารณ์ข้อเรียกร้องของฝ่ายซาอุดีอาระเบียว่า “ไม่มีเหตุผล” พร้อมกับกล่าวว่าเขารู้สึกผิดหวังมาก เนื่องจากเขาเดินทางมายังกรุงโดฮาด้วยความประทับใจว่า ทุกๆ ฝ่ายจะลงนามในข้อตกลงที่ได้พูดคุยกรุยทางกันเอาไว้แล้ว แทนที่จะต้องกลับมาอภิปรายถกเถียงกันอีกเช่นนี้

โนวักบอกว่ารัสเซียยังไม่ได้ปิดประตูสำหรับการทำดีลกันในเรื่องนี้ แต่ในตอนนี้รัฐบาลแดนหมีขาวจะยังไม่งดเพิ่มการผลิต

รัสเซียนั้นเป็นพันธมิตรสำคัญรายหนึ่งของอิหร่าน และได้แสดงจุดยืนคอยปกป้องคุ้มครองสิทธิของเตหะรานที่จะเพิ่มผลผลิตขึ้นมาภายหลังชาติต่างๆ ยอมยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรแล้ว เฉกเช่นเดียวกับที่ได้ให้การสนับสนุนอิหร่านในความขัดแย้งจำนวนมากที่มีอยู่กับซาอุดีอาระเบีย

ซาอุดีอาระเบียใช้จุดยืนที่แข็งกร้าว

การที่ชาติผู้ผลิตเหล่านี้ล้มเหลวไม่สามารถทำข้อตกลงระดับโลกขึ้นมาได้ อาจส่งผลกลายเป็นการหยุดชะงักการฟื้นตัวของราคาน้ำมันในระยะหลังๆ มานี้

“เมื่อไม่มีการทำดีลกันในวันนี้ ความเชื่อมั่นของตลาดต่อความสามารถของโอเปก ที่จะบรรลุข้อตกลงใดๆ ในการสร้างความสมดุลให้แก่ภาวะซัปพลายอย่างสมเหตุสมผล ก็ย่อมมลายหายไป และแน่นอนทีเดียวว่าเรื่องนี้จะกลายเป็นภาวะหมีสำหรับตลาดน้ำมัน เพราะการที่ราคากระเตื้องขึ้นมาในช่วงหลังๆ นี้ ก็เนื่องมาจากความคาดหมายว่าจะทำข้อตกลงกันได้นั่นเอง” อภิเษก เตชปันเด (Abhishek Deshpande) นักวิเคราะห์ด้านน้ำมันของวาณิชธนกิจ นาติซิส (Natixis) กล่าวให้ความเห็น

เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว โอเปกก็เคยประสบความล้มเหลวไม่สามารถทำความตกลงเกี่ยวกับนโยบายการผลิตให้สำเร็จเป็นครั้งแรกในรอบระยะเวลาหลายๆ ปี ภายหลังอิหร่านไม่เห็นด้วยกับเพดานการผลิตที่ซาอุดีอาระเบียเสนอขึ้นมา โดยเหตุผลที่เตหะรานหยิบยกขึ้นมาสนับสนุนคราวนั้นก็เป็นอย่างเดียวกันกับในคราวนี้ กล่าวคือ อิหร่านต้องการที่จะเพิ่มผลผลิตของตนขึ้นมา หลังมีการยกเลิกมาตรการลงโทษคว่ำบาตรตนเองแล้ว

“เมื่อไม่มีข้อตกลง ความเป็นไปได้ที่ตลาดจะเกิดความสมดุล ในตอนนี้ก็ได้ถูกผลักให้ถอยหลังไปจนกระทั่งถึงช่วงกลางปี 2017 นั่นแหละ สำหรับในเฉพาะหน้านี้ อาทิตย์หน้าเราคงจะได้เห็นพวกนักเก็งกำไรจำนวนมากถอยออกไปจากตลาด” เตชปันเด กล่าวพร้อมกับระบุว่า ราคาน้ำมันดิบอาจจะตกลงมาจนอยู่ในระดับใกล้เคียง 30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลทีเดียว

ทั้งนี้ ราคาของน้ำมันดิบชนิดเบรนต์ (Brent) ที่เป็นมาตรวัดสำคัญของตลาดลอนดอน ได้ทะยานขึ้นไปจนเกือบแตะ 45 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เท่ากับสูงขึ้นถึง 60% จากช่วงที่ลดลงอย่างต่ำเตี้ยในเดือนมกราคม สืบเนื่องจากการมองการณ์ในแง่ดีว่า การประชุมที่โดฮาจะสามารถทำข้อตกลง ซึ่งจะช่วยผ่อนคลายภาวะซัปพลายล้นเกิน ที่เป็นตัวคอยฉุดรั้งราคาให้ไหลรูดลงจากระดับซึ่งเคยขึ้นไปสูงลิบลิ่วแตะ 115 ดอลลาร์ในช่วงกลางปี 2014

อมฤทธา เซน (Amrita Sen) แห่ง เอเนอจี แอสเพคส์ (Energy Aspects) มองว่า ในช่วงใกล้ๆ นี้ราคาน้ำมันอาจลดลงมาต่ำกว่าระดับ 40 ดอลลาร์ ในลักษณะของปฏิกิริยาตอบโต้อย่างอัตโนมัติ

“ขณะที่การไม่มีข้อตกลงหยุดเพิ่มผลผลิตในวันนี้ ไม่ได้มีผลกระทบในทางลบใดๆ ต่อสมดุลในตลาด เนื่องจากในความเป็นจริงแล้วมีเพียงอิหร่านประเทศเดียวเท่านั้นที่น่าจะเพิ่มปริมาณการผลิตขึ้นไปอย่างเป็นเนื้อเป็นหนัง ทว่ามันก็ส่งผลกระทบทางลบอย่างใหญ่โตต่ออารมณ์ความรู้สึกของตลาด ในเมื่อข้อตกลงนี้ได้ถูกโหมประโคมเอาไว้เยอะแยะมากมาย” เธอกล่าว

ทว่าทางด้าน แกรี รอสส์ (Gary Ross) ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหารของ พีรา (PIRA) บริษัทที่ปรึกษาซึ่งตั้งฐานอยู่ในนิวยอร์ก ให้ทัศนะที่ต่างออกไป โดยบอกว่า ความล้มเหลวไม่สามารถทำดีลกันได้เช่นนี้ ย่อมเป็นเรื่องลบ ทว่าจะไม่ส่งผลกระทบอย่างยั่งยืนยาวนานอะไร

“การที่ราคาน้ำมันในตลาดไต่สูงขึ้นในช่วงหลังๆ มีสาเหตุมาจากสมดุลที่กำลังตึงตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ เราจะมองเห็นว่ามีความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์หลายๆ ประการที่คอยขัดขวางการเพิ่มขึ้นของซัปปลาย นอกจากนั้นเรายังได้เห็นการผลิตของสหรัฐฯกำลังลดต่ำลง ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากหลายๆ แง่มุมแล้ว การปรับสมดุลกันใหม่ (เพื่อให้ซัปพลายน้ำมันในตลาดลดน้อยลง) ได้เริ่มต้นขึ้นมาแล้วด้วยซ้ำ” เขากล่าว

ซาอุดีอาระเบียนั้นใช้จุดยืนที่แข็งกร้าวเข้มงวดต่ออิหร่าน ชาติผู้ผลิตในโอเปกเพียงรายเดียวเท่านั้น ซึ่งปฏิเสธไม่ยอมเข้าร่วมการระงับไม่เพิ่มการผลิต

เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน (Prince Mohammed bin Salman) รองมกุฎราชกุมาร (Deputy Crown Prince) ของซาอุดีอาระเบีย ตรัสกับบลูมเบิร์กว่า ซาอุดีอาระเบียนั้นสามารถเพิ่มการผลิตให้สูงขึ้นได้อย่างรวดเร็ว และยินดีจำกัดผลผลิตของตนก็ต่อเมื่ออิหร่านยินยอมที่จะระงับการผลิตเพิ่มเช่นกัน

ทว่า บิจาน ซานกาเนห์ (Bijan Zanganeh) รัฐมนตรีน้ำมันของอิหร่าน กล่าวในวันเสาร์ (16 เม.ย.) ว่า ทั้งชาติโอเปกและทั้งชาตินอกโอเปก ควรที่จะต้องยอมรับความเป็นจริงง่ายๆ ที่ว่า อิหร่านเพิ่งจะกำลังหวนกลับเข้าสู่ตลาดน้ำมัน “ถ้าหากอิหร่านยอมระงับไม่เพิ่มการผลิตน้ำมันของตนเองด้วยแล้ว ... อิหร่านก็ไม่สามารถได้รับประโยชน์จากการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร”

(From http://atimes.com/2016/04/saudi-iran-tensions-scupper-deal-to-freeze-oil-output/ และ http://www.reuters.com/article/us-oil-meeting-draft-idUSKCN0XE02Y)

หมายเหตุผู้แปล

[1]สำนักข่าวรอยเตอร์ยังได้เสนอข้อเขียนของ จอห์น เคมป์ (John Kemp) นักวิเคราะห์ด้านตลาดน้ำมันของรอยเตอร์ ซึ่งให้รายละเอียดและแสดงความเห็นของเขาเกี่ยวกับความล้มเหลวของการประชุมที่โดฮาคราวนี้ ตลอดจนท่าทีที่เปลี่ยนแปลงไปของซาอุดีอาระเบียในการดำเนินนโยบายด้านน้ำมัน จึงขอเก็บความนำมาเสนอในที่นี้:

ซาอุดีอาระเบียเปลี่ยนน้ำมันให้กลายเป็นอาวุธมุ่งเล่นงานอิหร่าน
โดย จอห์น เคมป์

Saudi Arabia turns oil weapon on Iran
By John Kemp

ลอนดอน - ซาอุดีอาระเบียตัดสินใจทำลายการเจรจาหารือระหว่างชาติผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ทั้งในและนอกองค์การโอเปก ณ กรุงโดฮา เมื่อวันอาทิตย์ (17 เม.ย.) ที่ผ่านมา ซึ่งมีวัตถุประสงค์มุ่งหาทางร่วมมือกันระงับไม่ให้มีการเพิ่มการผลิตน้ำมันขึ้นไปอีก ความเคลื่อนไหวเช่นนี้ดูเหมือนจะเป็นการยืนยันว่า นโยบายน้ำมันของราชอาณาจักรแห่งนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างสำคัญมาก

ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ราชอาณาจักรแห่งนี้เน้นย้ำเรื่อยมาว่าตนไม่ได้นำเอาน้ำมันมาใช้เป็นอาวุธทางการทูต ทว่าเมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้ว ซาอุดีอาระเบียกลับกำลังทำเช่นนั้นอย่างชัดเจน โดยเป็นส่วนหนึ่งของการขัดแย้งเผชิญหน้ากับอิหร่านที่ดุเดือดเข้มข้นมากขึ้นทุกที (ดูรายละเอียดได้ที่ "Saudi-Iran tensions scupper deal to freeze oil output", Reuters, April 17)

แท้ที่จริงแล้วจุดยืนของราชอาณาจักรแห่งนี้ต่อเรื่องการผลิตน้ำมันของฝ่ายอิหร่าน ได้ทวีความแข็งกร้าวขึ้นเรื่อยๆ ตามวันเวลาที่ผันผ่านไปของรอบระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา และพอถึงสุดสัปดาห์ก่อน มันก็มาถึงจุดสรุปอย่างที่สมควรปรากฏออกมาตามครรลองของมัน

กล่าวคือ ซาอุดีอาระเบียประกาศว่าจะไม่ยอมรับข้อตกลงใดๆ ก็ตาม ที่ทำให้ต้องจำกัดผลผลิตน้ำมันของตน แม้กระทั่งเพียงแค่การระงับไม่ผลิตเพิ่มจากระดับที่เป็นอยู่ซึ่งสูงลิ่วเป็นประวัติการณ์อยู่แล้ว เว้นแต่ว่าอิหร่านยอมตกลงที่จะเข้าอยู่ใต้การควบคุมทำนองเดียวกัน ถึงแม้เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าเตหะรานปฏิเสธไม่ยอมรับเรื่องนี้เรื่อยมา โดยกล่าวว่าจะยินยอมก็ต่อเมื่อเพิ่มการผลิตของตนไปจนถึงระดับก่อนหน้าถูกนานาชาติลงโทษคว่ำบาตรแล้วเท่านั้น

ด้วยการยืนยันใช้จุดยืนอันแข็งกร้าวเช่นนี้ ซาอุดีอาระเบียย่อมแน่ใจอยู่แล้วว่าการเจรจาคราวนี้จะต้องพังครืน และราชอาณาจักรแห่งนี้ก็ดูเหมือนสบายอกสบายใจกับผลลัพธ์ที่ออกมาด้วย ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ทางการทูตดูเหมือนจะกำชัยชนะเหนือปัจจัยข้อพิจารณาทางด้านตลาดน้ำมัน

ซาอุดีอาระเบียยินยอมที่จะเห็นราคาน้ำมันลดต่ำลงมา และชาติผู้ผลิตทั้งหมดรวมทั้งตนเองด้วย จะมีรายรับไหลเข้ามาลดน้อยลง แทนที่จะบรรลุข้อตกลงการผลิตซึ่งจะเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่ศัตรูคู่แข่งรายสำคัญอย่างอิหร่าน ที่ตั้งอยู่ห่างออกไปทางอีกฟากหนึ่งของอ่าวเปอร์เซีย

ความเป็นปรปักษ์กันในอ่าวเปอร์เซีย

อิหร่านนั้นได้ประกาศย้ำมาเป็นเวลากว่า 1 ปีแล้วว่า ตนตั้งใจที่จะเพิ่มการผลิตขึ้นไปจนถึงระดับก่อนหน้าการถูกลงโทษคว่ำบาตรเสียก่อน จากนั้นจึงพร้อมจะพิจารณาเข้าร่วมการจำกัดการผลิตเพื่อช่วยทำให้ราคามีเสถียรภาพ และนี่ก็เป็นจุดยืนซึ่งพวกผู้ผลิตน้ำมันรายอื่นๆ ส่วนใหญ่ที่สุดยอมรับอย่างเงียบๆ

อันที่จริงแล้ว การที่เตหะรานยอมตกลงควบคุมกิจกรรมทางด้านนิวเคลียร์ของตน เพื่อแลกเปลี่ยนกับการได้เพิ่มปริมาณการส่งออกน้ำมันและมีรายรับจากน้ำมันมากขึ้นนั่นเอง คือแกนกลางของข้อตกลงที่อิหร่านทำกับพวกชาติสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในเดือนกรกฎาคม 2015

อย่างไรก็ตาม ซาอุดีอาระเบียเป็นฝ่ายที่ยืนกรานคัดค้านข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านนี้เรื่อยมา เนื่องจากหวาดเกรงว่ามันจะทำให้เตหะรานแข็งแกร่งมากขึ้นในทางเศรษฐกิจ อีกทั้งเปิดทางให้เตหะรานมีเงินทุนเพิ่มสำหรับใช้สนับสนุนการทำสงครามตัวแทนทั้งในเลบานอน, ซีเรีย, อิรัก, และเยเมน

ถึงกระนั้น จวบจนกระทั่งมาถึงในช่วงหลังๆ นี้เอง นโยบายน้ำมันของราชอาณาจักรแห่งนี้ยังดูเหมือนจะอยู่ในการดูแลของพวกเทคโนแครตในกระทรวงน้ำมันและในรัฐวิสาหกิจ “อารามโค” (Aramco) แทนที่จะถูกดำเนินการในฐานะที่เป็นสาขาหนึ่งของนโยบายการต่างประเทศ

พวกเจ้าหน้าที่ซาอุดีอาระเบียเคยแสดงอาการข้องใจสงสัยเมื่อมีการสนทนากันเป็นการส่วนตัว ว่าอิหร่านมีความสามารถจริงๆ หรือที่จะเพิ่มการส่งออกของตนได้อย่างรวดเร็วเหมือนที่อวดอ้างเอาไว้ในทันทีหลังการลงโทษคว่ำบาตรถูกยกเลิกไป

แต่สำหรับแนวทางอย่างเป็นทางการของซาอุดีอาระเบียแล้ว คือการยืนกรานว่าเมื่ออุปสงค์ความต้องการน้ำมันของโลกเพิ่มพูนขยายตัวออกไป ก็จะช่วยให้ตลาดสามารถรองรับน้ำมันดิบอิหร่านที่เพิ่มเข้ามาโดยไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องให้ผู้ผลิตรายอื่นๆ จำกัดลดทอนผลผลิตลง

เส้นทางสู่ข้อตกลงร่วมกันจำกัดการผลิต

ครั้นเมื่อเวลาผันผ่านไปจนถึงสิ้นปี 2015 มันก็เป็นที่ชัดเจนว่ายุทธศาสตร์ของซาอุดีอาระเบียที่จะรักษาการผลิตเอาไว้ และปล่อยให้ราคาที่ต่ำเตี้ยลงเรื่อยๆ เป็นตัวผลักไสขับไล่ให้พวกผู้ผลิตต้นทุนสูงทั้งหลายต้องออกไปจากธุรกิจนั้น กำลังผลิดอกออกผลได้อย่างล่าช้ากว่าที่คาดหมายเอาไว้ในตอนแรกเป็นอย่างมาก

ท่ามกลางแรงกดดันจากสมาชิกที่อ่อนแอบางรายของโอเปก โดยเฉพาะสมาชิกที่อยู่ในละตินอเมริกา และแอฟริกา ตลอดจนจากผู้ผลิตใหญ่นอกโอเปกอย่างรัสเซีย ในเดือนกุมภาพันธ์ 2016 ฝ่ายซาอุดีอาระเบียก็ได้ยอมตกลงอย่างไม่เต็มใจและอย่างต้องการให้เป็นไปเพียงชั่วคราว ที่จะระงับการเพิ่มการผลิตเอาไว้ชั่วคราว

ด้วยการยืนกรานของฝ่ายซาอุดีอาระเบีย การตกลงกันคราวนั้นระหว่าง 4 ชาติ ได้แก่ซาอุดีอาระเบีย, รัสเซีย, เวเนซุเอลา, และกาตาร์ จึงมีการกำหนดเงื่อนไขเอาไว้ด้วยว่า จะนำมาบังคับใช้กันอย่างจริงจังได้ก็ต่อเมื่อพวกผู้ผลิตน้ำมันรายสำคัญอื่นๆ ยินยอมกระทำตาม

ดังนั้นตลอดระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา จึงมีการเคลื่อนไหวทางการทูตอย่างเข้มข้น เพื่อตะล่อมรวบรวมชาติผู้ผลิตทั้งที่อยู่ในโอเปกและนอกโอเปก ซึ่งรวมกันแล้วเป็นผู้ที่ผลิตน้ำมันดิบ 50 ล้านบาร์เรลต่อวัน คิดเป็นกว่าครึ่งหนึ่งของผลผลิตทั้งหมดของโลก

ปรากฏว่ามีชาติผู้ผลิตน้ำมัน 16 รายทีเดียวส่งตัวแทนเข้าร่วมการประชุมซัมมิตที่กรุงโดฮา ด้วยความคาดหวังว่าจะมีการสรุปจัดทำข้อตกลงว่าด้วยการระงับการเพิ่มการผลิต

แม้กระทั่งสมมุติว่าประสบความสำเร็จสามารถจัดทำข้อตกลงกันได้ ร่างข้อตกลงที่เกิดขึ้นก็จะยังคงอยู่ในลักษณะอ่อนปวกเปียก เนื่องจากยังจะไม่มีการลดปริมาณน้ำมันให้หายไปจากตลาดอย่างแท้จริงแม้แต่บาร์เรลเดียว กระนั้นมันก็มีความหมายในเชิงเป็นการเสนอแรงสนับสนุนเชิงสัญลักษณ์ต่อระดับราคา ด้วยการกระตุ้นส่งเสริมให้พวกกองทุนเฮดจ์ฟันด์หันมาโฟกัสสนใจกับกระบวนการค่อยๆ ปรับตัวคืนสู่ความสมดุลของตลาดซื้อขายแท้จริง ซึ่งถึงอย่างไรก็เป็นแกนในเบื้องลึกของตลาดซื้อขายล่วงหน้าทั้งหลาย

ซาอุดีอาระเบียใช้แนวทางที่แข็งกร้าวยิ่งขึ้น

ลงท้ายแล้ว ผู้ผลิตรายใหญ่แทบทั้งหมดต่างส่งตัวแทนไปประชุมที่โดฮา มียกเว้นก็เพียงสหรัฐฯกับแคนาดา (2 ประเทศนี้ไม่สามารถเข้าร่วมการตกลงประสานงานทางด้านการผลิตได้ เนื่องจากจะขัดต่อกฎหมายต่อต้านการผูกขาดในประเทศของพวกเขา), จีน (ที่เวลานี้มีฐานเป็นผู้นำเข้าสิทธิไปเสียแล้ว), อิหร่าน, และบราซิล

ดูไม่น่าเป็นไปได้เลยที่จะมีผู้ตกลงเข้าร่วมประชุมกันมากมายขนาดนี้ ถ้าหากพวกเขาไม่เชื่อว่าในทางเป็นจริงแล้วมีลู่ทางโอกาสที่จะบรรลุข้อตกลงกันได้ เนื่องจากพวกเขาย่อมต้องตระหนักว่า การจัดการประชุมที่ล้มเหลว ย่อมเลวร้ายยิ่งกว่าการไม่จัดการประชุมขึ้นมาเสียเลย

การติดต่อทางการทูตในช่วงก่อนหน้าการประชุม จะต้องทำให้ประเทศอื่นๆ ส่วนใหญ่มีความเข้าใจมีความประทับใจว่า ซาอุดีอาระเบียเปิดกว้างยอมรับให้เกิดข้อตกลงชนิดที่จำเป็นจะต้องยกเว้นให้อิหร่าน หรืออย่างน้อยก็มีข้อกำหนดพิเศษให้แก่อิหร่าน

แต่แล้วในขณะขยับใกล้ถึงวันประชุม จุดยืนของซาอุดีอาระเบียกลับดูแข็งกร้าวเพิ่มมากขึ้น หนึ่งวันก่อนหน้าการพบปะหารือที่โดฮา รองมกุฎราชกุมารซาอุดีอาระเบีย เจ้าชายโมฮัมหมัด บิน ซัลมาน (Saudi Arabia's Deputy Crown Prince Mohammad Bin Salman) ได้ทรงตรัสเตือนว่า ราชอาณาจักรของพระองค์สามารถที่จะเพิ่มผลผลิตของตนขึ้นไปเป็น 11.5 ล้านบาร์เรลต่อวันในทันที และเป็น 12.5 ล้านภายในระยะเวลา 6 – 9 เดือน

รองมกุฎราชกุมารพระองค์นี้ยังมีพระดำรัสอีกว่า ราชอาณาจักรของพระองค์ยังสามารถที่จะเพิ่มศักยภาพการผลิตขึ้นไปเป็น 20 ล้านบาร์เรลต่อวันได้ทีเดียวถ้าตัดสินใจจะทำการลงทุนเพื่อให้เป็นไปเช่นนั้น แล้วพระองค์ก็ทรงย้ำว่าข้อตกลงเรื่องการผลิตใดๆ ก็ตามจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีอิหร่านเข้าร่วมด้วยเท่านั้น (ดูรายละเอียดใน "Saudi prince says he could add a million barrels immediately" Bloomberg, April 16)

ทัศนะความเห็นเช่นนี้อาจตีความได้ว่าเป็นโวหารที่ใช้เป็นหมากสำหรับการเจรจาต่อรอง กระนั้นก็ตาม การประกาศเรียกร้องเช่นนี้ในช่วงที่เกือบจะถึงเวลาประชุมกันอยู่แล้ว ย่อมต้องถือเป็นลางร้าย

เมื่อตอนที่คณะผู้แทนซาอุดีอาระเบียเดินทางมาถึงกรุงโดฮา พวกเขาดูเหมือนยังคงมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำดีลฉบับนี้ให้สำเร็จ แต่แล้วพอถึงนาทีสุดท้ายพวกเขากลับยืนยันให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขสาระสำคัญของร่างข้อตกลง (ดูรายละเอียดได้ที่ "No agreement on oil freeze at Doha meeting", Wall Street Journal, April 17)

วอลล์สตรีทเจอร์นัลรายงานเอาไว้อย่างน่าสนใจมากว่า “ในชั่วโมงต้นๆ ของตอนเช้าวันอาทิตย์ (17 เม.ย.) อาลี อัล-ไนมี (Ali al-Naimi) รัฐมนตรีน้ำมันมากประสบการณ์ของซาอุดีอาระเบีย ไดรับโทรศัพท์จากกรุงริยาด แล้วจากนั้นก็แจ้งให้พวกผู้แทนในคณะของเขาทราบว่า พวกเขาจำเป็นที่จะต้องฉีกร่างข้อตกลงระงับการเพิ่มการผลิต ถ้าหากไม่มีการกำหนดให้อิหร่านเข้ามาร่วมด้วย ทั้งนี้ตามการเปิดเผยของบุคคลผู้หนึ่งซึ่งคุ้นเคยกับเหตุการณ์เป็นอย่างดี”

เรื่องราวเดียวกันนี้ยังปรากฏออกมาจากแหล่งข่าวอื่นๆ ด้วย รัฐมนตรีพลังงานของรัสเซียถึงกับกล่าวประณาม “ประเทศโอเปกบางประเทศ” ซึ่งพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขข้อตกลงในนาทีสุดท้าย “เพื่อพยายามที่จะให้ได้รับการอ่อนข้อจากประเทศที่ไม่ได้มาเข้าร่วมในที่นี้ด้วย” (ดูรายละเอียดได้ที่ "Russia 'disappointed' by Qatar oil talks," Russia Today, April 17)

น้ำมันและการเดินหมากทางการทูต

การแสดงออกของซาอุดีอาระเบียเช่นนี้ สะท้อนให้เห็นว่าพวกเขาไม่เคยมีความกระตือรือร้นในเรื่องการร่วมมือประสานงานจำกัดผลผลิตเลย พวกเขาประกาศให้การรับรองในเชิงหลักการ ขณะที่เน้นย้ำเงื่อนไขโหดๆ ซึ่งทำให้เป็นไปไม่ได้ที่จะเดินหน้าในทางปฏิบัติ

ในอนาคต ราชอาณาจักรแห่งนี้คงจะต้องชดใช้ความเสียหายในทางการทูต จากการล้มคว่ำการเจรจาในตอนที่การต่อรองเกือบจะบรรลุถึงขั้นสุดท้ายแล้วเช่นนี้ ซึ่งมีแต่ทำให้ทุกๆ ฝ่ายรู้สึกอับอายขายหน้า อย่างไรก็ดี เห็นได้ชัดว่าพวกผู้วางนโยบายระดับอาวุโสของซาอุดีอาระเบียเองตัดสินใจว่า การไม่มีข้อตกลงเลยถึงอย่างไรก็ดีกว่าการมีข้อตกลงที่อ่อนปวกเปียก

จากการที่มีประเทศผู้ผลิตรายอื่นๆ เป็นจำนวนมากมาปรากฏตัวในการประชุมที่โดฮา และพร้อมที่จะเห็นพ้องตกลงระงับการเพิ่มการผลิตเช่นนี้ ย่อมเท่ากับว่าร่างข้อตกลงที่วางแบอยู่บนโต๊ะเจรจานั้น มีเนื้อหาโอนอ่อนยอมตามเงื่อนไขส่วนใหญ่ซึ่งฝ่ายซาอุดีอาระเบียเรียกร้องเอาไว้ตั้งแต่เมื่อหลายเดือนก่อน

ทั้งนี้ ตั้งแต่การทำความตกลง 4 ฝ่ายในเดือนกุมภาพันธ์แล้ว ซาอุดีอาระเบียไม่ได้กำลังเรียกร้องให้ตัดลดการผลิตลง เพียงแค่ให้หลีกเลี่ยงอย่าได้เพิ่มการผลิตขึ้นอีกเป็นระยะเวลา 6 เดือน จนกระทั่งมีการประชุมทบทวนกันอีกครั้งในเดือนตุลาคมนี้ ทว่าท่าทีเช่นนี้ไปๆ มาๆ ก็เป็นเพียงการแสดงออกซึ่งว่างเปล่าไม่มีความจริงใจ

เงื่อนไขเพียงประการเดียวที่ไม่ได้เป็นไปตามข้อเรียกร้องของฝ่ายซาอุดีอาระเบีย ได้แก่เรื่องการเข้าร่วมของอิหร่าน ซึ่งเมื่อพิจารณาจากภาพกว้างของภาวะตลาดน้ำมันโดยรวมในปัจจุบันแล้ว ก็ต้องถือว่าเป็นเรื่องค่อนข้างเล็กน้อยมาก ทว่ามันกลับมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดเมื่อพิจารณาจากภาพกว้างทางการทูต

นักวิเคราะห์บางคนเห็นว่า การที่ซาอุดีอาระเบียปฏิเสธไม่ยอมให้เกิดข้อตกลงเช่นนี้ขึ้นมา มีแรงจูงใจซึ่งตรงไปตรงมายิ่งกว่าที่พวกนักวิเคราะห์จำนวนมากขบคิดเสนอแนะกัน กล่าวคือ ราชอาณาจักรแห่งนี้มีความวิตกกังวลว่า ราคาน้ำมันกำลังขยับสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเกินไปและไต่ขึ้นมากเกินไปแล้ว จนกระทั่งอาจกลายเป็นการโยนห่วงชูชีพให้แก่พวกกิจการขุดเจาะน้ำมันจากหินดินดาลของสหรัฐฯ ตลอดจนพวกผู้ผลิตที่มีต้นทุนสูงรายอื่นๆ

ราคาที่กำลังขยับสูงขึ้นนี้ ทำให้มีความเสี่ยงที่จะสร้างความล้มเหลวให้แก่มาตรการปรับให้ตลาดบังเกิดความสมดุลขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งซาอุดีอาระเบียและพวกชาติพันธมิตรของตนได้พยายามผลักดันดำเนินการโดยไม่ทดท้อกับความเจ็บปวด ในตลอดระยะเวลา 18 เดือนที่ผ่านมา (ดูรายละเอียดเรื่องนี้ได้ที่ "Saudis won't shed any tears over Doha", Bloomberg, April 17)

คำอธิบาย 2 อย่างนี้ (คำอธิบายที่เน้นเรื่องการเดินหมากทางการทูต และคำอธิบายที่เน้นเรื่องการใช้มาตรการเพื่อทำให้ตลาดกลับคืนสู่ความสมดุลกันใหม่) ไม่ใช่ว่าจะแยกขาดออกจากกันโดยไม่ได้ส่งผลต่อกันและกันเลย แต่ดูเหมือนว่านโยบายด้านน้ำมันของซาอุดีอาระเบีย อย่างน้อยก็ในบางระดับ ได้ถูกนำไปผูกโยงยุ่งเหยิงกับความขัดแย้งในวงกว้างซึ่งราชอาณาจักรแห่งนี้มีอยู่กับอิหร่าน

“การพิพาทอันขมขื่นเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอิหร่าน เวลานี้กำลังแสดงออกให้เห็นในตลาดน้ำมันด้วย” แอนดี คริตชโลว์ (Andy Critchlow) เพื่อนร่วมงานของผมในสำนักข่าวรอยเตอร์ ชี้เอาไว้เช่นนี้ (ดูรายละเอียดได้ที่เรื่อง "Proxy war", Reuters, April 18)

นโยบายด้านน้ำมันของราชอาณาจักรแห่งนี้ตอนนี้ได้หลุดออกจากมือของพวกเทคโนแครต และถูกถือเป็นเรื่องรองไปเสียแล้ว นโยบายด้านน้ำมันดังกล่าวนี้ในปัจจุบันดูเหมือนกำลังถูกชี้นำสั่งการโดยราชสำนักและโดยเจ้าชายรองมกุฎราชกุมาร ซึ่งกำลังปฏิบัติต่อนโยบายนี้ในฐานะที่เป็นมิติหนึ่งของการเดินหมากทางการทูต

อันที่จริงมีข้อน่าสังเกตว่า นับตั้งแต่ที่พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเมื่อปีที่แล้ว ซาอุดีอาระเบียก็มีจุดยืนแบบยืนกรานแข็งกร้าวเพิ่มมากขึ้นในประเด็นทางด้านนโยบายการต่างประเทศจำนวนหนึ่ง โดยที่การทูตเชิงเศรษฐกิจก็กลายเป็นส่วนสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในความพยายามดังกล่าว

ซาอุดีอาระเบียมีความพยายามที่จะจำกัดการฟื้นตัวของการส่งออกน้ำมันของอิหร่าน ด้วยการเตือนพวกบริษัทเรือขนส่งน้ำมันทั้งหลายว่า พวกเขาจะถูกขึ้นบัญชีดำถ้าพวกเขาเข้าไปขนถ่ายน้ำมันอิหร่าน (ดูรายละเอียดเรื่องนี้ได้ที่ "Saudi Arabia acts to
slow Iran's oil exports", Financial Times, April 4"Saudi Arabia acts to slow Iran's oil exports", Financial Times, April 4)

การตัดสินใจทำลายการเจรจาหารือที่กรุงโดฮา เป็นสิ่งสอดคล้องเป็นไปในทางเดียวกันกับแบบแผนที่กำลังปรากฏให้เห็น ของสงครามทางเศรษฐกิจที่ซาอุดีอาระเบียกำลังพยายามดำเนินอยู่

ไม่เหมือนกับพวกผู้ผลิตน้ำมันรายอื่นๆ ซึ่งกำลังเสาะแสวงหาหนทางทำให้ราคาขยับสูงขึ้น ซาอุดีอาระเบียดูเหมือนมีความยินดีที่จะเสี่ยงภัยทำให้ราคาลดต่ำลงมา ทั้งๆ ที่มันจะสร้างความเจ็บปวดเสียหายให้แก่เศรษฐกิจของตนเองด้วย เนื่องจากมีความเชื่อว่า ถึงอย่างไรมันก็จะสร้างความเจ็บปวดเสียหายให้แก่อิหร่านสูงกว่า

[2] ถึงแม้การประชุมในกรุงโดฮาที่ยุติลงด้วยความล้มเหลวได้ผ่านพ้นไปหลายวันแล้ว แต่การเปลี่ยนจุดยืนแบบสุดเซอร์ไพรซ์ของซาอุดีอาระเบีย ก็ยังคงถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงกันไม่ขาดสาย ดังที่ปรากฏในรายงานข่าวของสำนักข่าวรอยเตอร์เมื่อวันอังคาร (19 เม.ย.) ชิ้นนี้:

เวลานี้ใครกันแน่ที่เป็นผู้กำหนดนโยบายด้านน้ำมันของซาอุดีอาระเบีย
โดย รอยเตอร์

Who speaks for Saudi Arabia on oil, rivals and allies wonder
By Reuters
19/04/2016

มอสโก/โดฮา - รัฐมนตรีน้ำมัน อาลี อัล-ไนมี (Ali al-Naimi) ของซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเคยเป็นเจ้าหน้าที่ด้านน้ำมันผู้ทรงอิทธิพลสูงที่สุดของโลกในช่วงระยะเวลา 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เวลานี้ไม่ได้เป็นปากเสียงอันทรงอำนาจของราชอาณาจักรแห่งนี้เสียแล้ว ทั้งนี้ตามตามการสังเกตของรัฐมนตรีน้ำมัน ยูโลจิโอ เดล ปิโน (Eulogio Del Pino) แห่งเวเนซุเอลา

เดล ปิโน กล่าวว่าตัวเขาเองยังกำลังพยายามค้นหาอยู่เลยว่า ใครกันแน่ที่เป็นผู้ทรงอำนาจตัวจริง

ขณะที่ลู่ทางโอกาสซึ่งจะได้ข้อตกลงฉบับแรกระหว่างชาติโอเปกและชาตินอกโอเปกในรอบระยะเวลา 15 ปี ต้องมีอันจางหายไปเมื่อวันอาทิตย์ (17 เม.ย.) ที่ผ่านมา สืบเนื่องจากข้อเรียกร้องในนาทีสุดท้ายจากฝ่ายซาอุดีอาระเบีย พวกรัฐมนตรีที่ไปประชุมในกรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ ต่างได้พยายามร้องอุทธรณ์ต่อ ไนมี ขอให้ช่วยชีวิตดีลคราวนี้ เดล ปีโน บอก

“โชคร้าย คนที่เป็นตัวแทนของฝ่ายซาอุดีในการประชุมนี้กลับไม่ได้มีอำนาจแท้จริงอะไรเลย” เดล ปิโน บอกกับพวกผู้สื่อข่าวที่กรุงมอสโกในวันจันทร์ (18 เม.ย.) หนึ่งวันภายหลังที่ข้อเรียกร้องของซาอุดีอาระเบียที่จะให้อิหร่านต้องเข้าร่วมการหยุดเพิ่มการผลิตน้ำมันด้วย ได้กลายเป็นตัวทำลายการประชุมหารือที่โดฮาคราวนี้

“แม้กระทั่ง ไนมี ก็ไม่ได้มีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย รัฐมนตรีซาอุดีผู้นี้กล่าวเพียงว่า 'เรามีข้อเสนอใหม่ และพวกคุณคงต้องรับรองข้อเสนอเหล่านี้ ไม่เช่นนั้นเราก็ไม่สามารถที่จะตกลงด้วยได้'” เดล ปิโน เล่าต่อ “นี่เป็นการตัดสินใจทางการเมืองแท้ๆ ทีเดียว … โอมาน, อิรัก, ทุกๆ คนเลยล้วนแต่รู้สึกผิดหวัง มีรัฐมนตรีคนหนึ่งบอกผมว่า ครั้งนี้คือการประชุมที่เลวร้ายที่สุดที่เขาเคยเจอมา”

เวเนซุเอลา ซึ่งเป็นชาติสมาชิกของโอเปก เป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกกระหน่ำหนักหน่วงที่สุดจากภาวะราคาน้ำมันทรุดตัวระลอกล่าสุดนี้ ทั้งนี้เวเนซุเอลามีความสัมพันธ์อันตึงเครียดกับริยาด ซึ่งเป็นผู้นำในทางพฤตินัยของโอเปก ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา

ทว่า ความหงุดหงิดผิดหวังของ เดล ปิโน ยังกำลังถูกสะท้อนดังกึกก้องทั้งจากภายในและภายนอกองค์การประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่ที่ เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน รองมกุฎราชกุมารของซาอุดีอาระเบีย ได้ทรงกลายเป็นเจ้าหน้าที่น้ำมันสูงสุดของราชอาณาจักรแห่งนี้เมื่อปีที่แล้ว

แทบไม่มีผู้เฝ้าจับตามองซาอุดีหรือโอเปกรายไหนเลย ที่แสดงความสงสัยข้องใจว่า เจ้าชายโมฮัมเหม็ด ซึ่งปัจจุบันทรงมีพระชนมายุ 31 พรรษา คือผู้รับผิดชอบนโยบายด้านน้ำมันของประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลกรายนี้จริงหรือไม่ โดยที่พระองค์ยังทรงเป็นผู้รับผิดชอบด้านกลาโหมและการปฏิรูปเศรษฐกิจของราชอาณาจักรแห่งนี้อีกด้วย

แต่พวกเขาบอกว่า หลังจากที่ได้ยินได้ฟังเทคโนแครตแทบจะเพียงคนเดียว ซึ่งก็คือ ไนมี พูดจาแจกแจงอย่างน่าเชื่อถือเกี่ยวกับนโยบายดังกล่าวต่อโลกภายนอกมาเป็นเวลาหลายทศวรรษแล้ว เวลานี้กลับมีเสียงพูดออกมาหลายเสียงจนทำให้เกิดความสับสนมากกว่าจะเกิดความกระจ่าง

นอกจากเจ้าชายโมฮัมเหม็ด ซึ่งทรงเป็นผู้ทรงสิทธิ์อันดับ 2 ที่จะได้ขึ้นครองราชบัลลังก์แล้ว เสียงต่างๆ ดังกล่าวยังรวมไปถึง เจ้าชายอับดุลอาซิซ (Prince Abdulaziz) ที่โดยตำแหน่งแล้ว ทรงเป็นรัฐมนตรีช่วยของ ไนมี ทว่าพระองค์ก็ทรงเป็นพระเชษฐาต่างมารดาของเจ้าชายรองมกุฎราชกุมาร ตลอดจน คอลิด อัล-ฟาลีห์ (Khalid al-Falih) ประธานของ ซาอุดี อารามโค (Saudi Aramco) รัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่ด้านน้ำมันของราชอาณาจักรแห่งนี้

ทั้งนี้ต้องไม่ลืมปากเสียงของตัว ไนมี เองด้วย โดยที่ผู้เฒ่าวัย 81 ปีผู้นี้ยังคงปรากฏตัวให้เห็นอย่างสม่ำเสมอ ถึงแม้มีข่าวลือสะพัดว่าเขาจะได้รับอนุญาตให้เกษียณอายุในไม่ช้าไม่นานนี้ก็ตามที

เลี้ยวกลับ 180 องศา

เท่าที่ผ่านมานโยบายต่างๆ ของซาอุดีอาระเบียไม่เคยที่จะอ่านกันได้ด้วยความง่ายดายเลย ทว่าพวกนักเฝ้าจับตาซาอุดีบอกกันว่า คุณสมบัติแห่งการไม่อาจทำนายคาดทายได้ของมัน ได้เพิ่มขึ้นสูงลิบในระยะเดือนหลังๆ มานี้ ภาวะเช่นนี้ยิ่งไม่น่าพึงพอใจเป็นพิเศษเมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่าความสัมพันธ์ระหว่างริยาดกับเตหะรานกำลังเลวร้ายลง โดยที่ต่างกำลังทำสงครามตัวแทนกันทั้งในซีเรียและเยเมน

แหล่งข่าวโอเปกในแถบอ่าวเปอร์เซียหลายรายเปิดเผยว่า ถึงแม้พวกชาติพันธมิตรริมอ่าวเปอร์เซียของซาอุดีอาระเบีย พากันปรับตัวอย่างรวดเร็วในการเข้าแถวคอยสนับสนุน ไนมี ระหว่างการประชุมหารือที่กรุงโดฮาในวันอาทิตย์ (17 เม.ย.) ทว่าการตัดสินใจของไนมีคราวนี้ ก็บังเกิดขึ้นแบบสุดเซอร์ไพรซ์จริงๆ สำหรับพวกเขา ทั้งๆ ที่ปกติแล้วราชอาณาจักรแห่งนี้ต้องคอยปรึกษาหารือเป็นประจำกับชาติพันธมิตรเหล่านี้อย่างเช่น คูเวต, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี), และกาตาร์

แหล่งข่าวระดับอาวุโสรายหนึ่งซึ่งคุ้นเคยทราบเรื่องการเจรจาหารือบอกว่า เขาคิดว่าแม้กระทั่งตัวไนมีเองก็ไม่ทราบหรอกว่ามีการเปลี่ยนแผน จวบจนกระทั่งเกมล่วงเลยไปมากแล้ว

“ผมคิดว่านี่เป็นการตัดสินใจเปลี่ยนแผนในนาทีสุดท้าย ไม่อย่างนั้นไนมีคงจะไม่เดินทางมาร่วมประชุมด้วยหรอก” แหล่งข่าวรายนี้กล่าว “ไนมีบินไปโดฮาด้วยความตั้งใจที่จะสรุปปิดดีลนี้ แต่เมื่อเขามาถึงโดฮาแล้ว เขากลับได้คำชี้แนะอีกอย่างหนึ่งว่าอย่าให้ข้อตกลงนี้ได้เกิด”

จนกระทั่งถึงวันเสาร์ (16 เม.ย.) ที่ผ่านมา เจ้าชายอับดุลอาซิซ ยังทรงทำให้ทุกๆ คนมั่นอกมั่นใจในเวลาที่ทรงตรัสด้วยเป็นการภายในว่า ดีลนี้จะเกิดขึ้นมา แหล่งข่าวหลายรายที่ใกล้ชิดกับการเจรจาหารือคราวนี้เปิดเผย

พวกเจ้าหน้าที่ของกาตาร์ผู้เป็นประเทศเจ้าภาพ ก็เที่ยวบอกกับผู้เข้าร่วมประชุมว่า เจ้าผู้ครองกาตาร์ (Emir of Qatar) ชัยค์ ตอมิม บิน ฮามัด อัล-ธานี (Sheikh Tamim bin Hamad al-Thani) ทรงได้รับการยืนยันจากเจ้าชายโมฮัมหมัด รองมกุฎราชกุมารซาอุดีอาระเบียว่า ข้อตกลงนี้จะเกิดขึ้นมา ไม่ว่าอิหร่านจะเข้าร่วมหรือไม่ก็ตาม แหล่งข่าวเหล่านี้เล่าต่อ

สำหรับรัสเซีย ซึ่งก็หมายมั่นที่จะเข้าร่วมในดีลหยุดเพิ่มการผลิตในระดับทั่วโลกคราวนี้ด้วย การเปลี่ยนจุดยืนของซาอุดีอาระเบียเช่นนี้ได้สร้างความประหลาดใจอย่างใหญ่หลวง เพราะวังเครมลินคิดว่าได้ตกลงเรื่องดีลนี้กับแทบจะทุกๆ คนซึ่งมีความสำคัญในซาอุดีอาระเบียเรียบร้อยแล้ว แหล่งข่าวรัสเซียหลายรายระบุ

รัฐมนตรีน้ำมัน อเล็กซานเดอร์ โนวัค (Alexander Novak) ของรัสเซีย มีความมั่นอกมั่นใจในเรื่องที่จะมีการทำข้อตกลงนี้กันได้ในการประชุมวันอาทิตย์ (17 เม.ย.) จนถึงขนาดที่เขาเป็นรัฐมนตรีซึ่งเดินทางมาถึงเป็นคนสุดท้าย เนื่องจากใช้เวลาส่วนใหญ่ของวันเสาร์ (16 เม.ย.) ไปเล่นฟุตบอลในทีมรัฐบาลรัสเซียซึ่งทำการแข่งขันกับทีมอิตาลี

“แต่ลงท้ายแล้วมันไม่ได้สำคัญอะไรเลยว่าเรากำลังพูดจาอยู่กับใคร ไม่ว่าจะเป็นไนมี หรือเป็นเจ้าชายโมฮัมเหม็ด เพราะฝ่ายซาอุดีได้เปลี่ยนนโยบายไปเฉยเลย” แหล่งข่าวผู้หนึ่งซึ่งใกล้ชิดกับโนวัค และได้เข้าร่วมการประชุมที่โดฮาด้วย เล่าให้ผู้สื่อข่าวฟัง

“แน่อนที่ว่าเรายังจะดำเนินการพูดจากับฝ่ายซาอุดีต่อไป ทว่ามันคงเป็นเรื่องลำบากมากทีเดียว” แหล่งข่าวรายนี้กล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น