xs
xsm
sm
md
lg

ถึงเวลาที่ซาอุฯต้องทบทวนว่าจะยังเป็นศัตรูกับอิหร่านเช่นนี้ต่อไปหรือไม่

เผยแพร่:   โดย: เอ็ม เค ภัทรกุมาร

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Saudis face rethink on Iran rivalry
By M K Bhadrakumar
16/01/2015

ที่มั่นบริเวณชายแดนของซาอุดีอาระเบีย ซึ่งตั้งประชิดกับพื้นที่จังหวัดอันบาร์ ของอิรัก ได้ถูกผู้ก่อการร้ายเข้าโจมตีเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นับเป็นการโจมตีซึ่งกลุ่ม “รัฐอิสลาม” (ไอเอส) กระทำต่อราชอาณาจักรแห่งนี้เป็นครั้งแรก อย่างน้อยที่สุดก็เป็นครั้งแรกซึ่งเป็นที่ทราบกันต่อโลกภายนอก กรณีดังกล่าวนี้อาจจะเป็น “ฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้อูฐหลังหัก” ตามที่พูดกันในคำพังเพย โดยที่มันกำลังบังคับให้ทางการริยาดต้องขบคิดทบทวนอย่างลึกซึ้งจริงจัง เกี่ยวกับยุทธศาสตร์ระดับภูมิภาคของตน ซึ่งเต็มไปด้วยการวางตัวมุ่งเป็นศัตรูคู่ชิงดีชิงเด่นกับอิหร่าน

ที่มั่นบริเวณชายแดนของซาอุดีอาระเบีย ซึ่งตั้งประชิดกับพื้นที่จังหวัดอันบาร์ (Anbar) ของอิรัก ได้ถูกผู้ก่อการร้ายเข้าโจมตีเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นับเป็นการโจมตีซึ่งกลุ่ม “รัฐอิสลาม” (Islamic State หรือ IS) กระทำต่อราชอาณาจักรแห่งนี้เป็นครั้งแรก อย่างน้อยที่สุดก็เป็นครั้งแรกซึ่งเป็นที่ทราบกันต่อโลกภายนอก กรณีดังกล่าวนี้อาจจะเป็น “ฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้อูฐหลังหัก” ตามที่พูดกันในคำพังเพย โดยที่มันกำลังบังคับให้ทางการริยาดต้องขบคิดทบทวนอย่างลึกซึ้งจริงจัง เกี่ยวกับยุทธศาสตร์ระดับภูมิภาคของตน ซึ่งเต็มไปด้วยการวางตัวมุ่งเป็นศัตรูคู่ชิงดีชิงเด่นกับอิหร่าน

ทางฝ่ายเตหะรานนั้นสามารถทำการตอบโต้อย่างประสบผล ต่อการเดินหมากกลอุบายของฝ่ายซาอุดีในซีเรียและอิรัก จนในขณะนี้ดูเหมือนจะเป็นฝ่ายได้เปรียบด้วยซ้ำ ขณะที่ความพยายามดิ้นรนครั้งสุดท้ายของซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมุ่งทำให้เศรษฐกิจของอิหร่านบาดเจ็บหนัก ด้วยการบีบบังคับให้ราคาน้ำมันลดฮวบดำดิ่ง กลับปรากฏว่าไม่เพียงก่อให้เกิดผลลัพธ์ตามที่ปรารถนาเท่านั้น หากแต่ดังที่ประธานาธิบดีฮัสซัน รูฮานี (Hassan Rouhani) ของอิหร่าน กล่าวเตือนออกมาอย่างโต้งๆ ชัดๆ เมื่อวันที่ 14 มกราคมว่า ลงท้ายแล้วทางการริยาดจะประสบชะตากรรมแบบ “ให้ทุกข์แก่ท่าน ทุกข์นั้นถึงตัว” (โดยที่ คูเวต ผู้เป็น “น้องชาย” ของซาอุดีอาระเบีย ก็หนีไม่พ้นชะตากรรมเดียวกันนี้)

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่พวกไอเอสเข้าโจมตีที่มั่นของซาอุดีอาระเบีย โดยสังหารเจ้าหน้าที่รักษาชายแดนไป 2 คน และผู้บังคับบัญชาระดับสูงอีก 1 คน (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.reuters.com/article/2015/01/09/us-mideast-crisis-saudi-idUSKBN0KI1D520150109) กำลังผลักดันสถานการณ์ให้เข้าสู่ช่วงเวลาที่จะต้องตัดสินใจครั้งสำคัญ ข้อเท็จจริงที่ว่าพวกนักรบไอเอสซึ่งเข้าโจมตีคราวนี้ มีคนสัญชาติซาอุดีรวมอยู่ด้วย 3 คน ต้องถือว่าเป็นการปลุกกันอย่างเอะอะตึงตังให้ตื่นฟื้นจากความหลับใหล เป็นที่แน่นอนอยู่แล้วว่า ราชอาณาจักรแห่งนี้จะต้องเริ่มต้นแสดงปฏิกิริยาตอบโต้ อันที่จริงซาอุดีอาระเบียกำลังวาดหวังที่จะก่อสร้าง “แนวกำแพงอันยิ่งใหญ่” (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.telegraph.co.uk/news/worldnews/middleeast/saudiarabia/11344116/Revealed-Saudi-Arabias-Great-Wall-to-keep-out-Isil.html ) ซึ่งจะคุ้มครองปกป้องตนเองให้พ้นจากพวกไอเอสผู้โหดร้ายป่าเถื่อนที่อยู่ข้างๆ บ้าน ทว่าการโจมตีคราวนี้กลับชี้ให้เห็นว่า แนวกำแพงดังกล่าวเป็นเพียงการวางก้ามแสดงความใหญ่โตองอาจอย่างจอมปลอมเท่านั้นเอง

สถานการณ์ความมั่นคงในจังหวัดอันบาร์ ซึ่งถูกพวกไอเอสยึดครองเอาไว้ กำลังย่ำแย่ลงอย่างรวดเร็ว (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.aawsat.net/2015/01/article55340352) การที่พวกชนเผ่าชาวสุหนี่ต่างๆ ขาดความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เมื่อผสมผสานกับข้อจำกัดนานาประการของกองทหารอิรัก จึงทำให้ไอเอสกลายเป็นฝ่ายได้เปรียบ และไอเอสก็มีโอกาสที่จะอาศัยการปกครองอันน่าสยดสยองของตน เข้าทำลายกวาดล้างฝ่ายต่อต้านได้อย่างเป็นระบบ ยังมีงานพื้นฐานอีกเป็นจำนวนมากที่จะต้องทำขึ้นมา จึงจะสามารถสร้างและจัดตั้งชาวชนเผ่าต่างๆ ให้กลายเป็นพลังต่อต้านพวกไอเอสอย่างมีประสิทธิภาพ (ในแนวทางเดียวกับการก่อตั้งกองกำลัง “อะเวกเคนนิ่ง” Awakening อันมีชื่อเสียงเมื่อทศวรรษที่แล้วในเขตพื้นที่ของชาวสุหนี่ในอิรักซึ่งเวลานั้นตกอยู่ใต้การยึดครองของสหรัฐฯ) และนี่อาจจะเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งซึ่งทำให้ฝ่ายซาอุดีตัดสินใจที่จะเปิดสถานเอกอัครราชทูตของตนในกรุงแบกแดดขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง หลังจากปิดไปนานเป็นเวลาถึงราวเสี้ยวศตวรรษ

กระนั้นก็ตาม เมื่อวิเคราะห์กันถึงที่สุดแล้ว ต่อเมื่อเข้าร่วมมือใช้ความพยายามร่วมกันกับอิหร่านเท่านั้น ซาอุดีอาระเบียจึงจะสามารถตีโต้ผลักไสกระแสการคุกคามของกลุ่มไอเอสซึ่งมีต่อความมั่นคงแห่งชาติของตนอย่างได้ผล ขณะนี้ ริยาด กับ เตหะราน ก็ดูเหมือนกำลังส่งสัญญาณเคลื่อนตัวเข้าหากันและกัน ในลักษณะคล้ายๆ กับคนแปลกหน้าซึ่งมาเจอกันในเวลากลางคืนและต่างฝ่ายต่างคอยเหลือบมองกัน

หนังสือพิมพ์อิหร่านเดลี่ (Iran Daily) อันทรงอิทธิพล ได้แสดงความเห็นเอาไว้ในบทบรรณาธิการเมื่อวันที่ 14 มกราคม ว่า “ความแตกต่างที่มีกันอยู่ (ระหว่างอิหร่านกับซาอุดีอาระเบีย) ไม่ได้เป็นสาระสำคัญอะไรนักหนาที่พวกเขาไม่สามารถแก้ไขคลี่คลายได้” (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.iran-daily.com/News/109427.html) บทบรรณาธิการนี้ยังเตือนว่า พวกไอเอส “อาจทำอันตรายต่อระบบรัฐบาลในซาอุดีอาระเบีย” เนื่องจาก “คำขวัญคำปลุกใจต่างๆ ของพวกเขาสามารถที่จะกระตุ้น” ประชาชนให้ลุกฮือขึ้นมาต่อต้านระบอบปกครองของริยาด นอกจากนั้น บทบรรณาธิการชิ้นนี้ยังวาดภาพในทางบวกมากๆ ว่า ความร่วมมือกันระหว่างอิหร่านกับซาอุดีอาระเบีย “จะนำความมั่นคงและเสถียรภาพมาสู่ภูมิภาคตะวันออกกลางทั่วทั้งหมด”

แน่นอนอยู่แล้วว่า เงื่อนไขต่างๆ ของการมีปฏิสัมพันธ์กันนี้ จะต้องมีเรื่องของราคาน้ำมันรวมอยู่ด้วย อิหร่านเดลี่ ยอมรับว่า การตัดสินใจของซาอุดีอาระเบียที่จะเพิ่มการผลิตน้ำมันดิบจนกระทั่งนำไปสู่การตกฮวบของราคาน้ำมันนั้น มีความหมายเท่ากับ “การใช้น้ำมันมาเป็นเครื่องมือสร้างความเสียหายให้แก่ศัตรูองตน ซึ่งก็ได้แก่อิหร่านนั่นเอง” และ “การกระทำเช่นนี้ได้สร้างปัญหาทางเศรษฐกิจให้แก่เตหะราน” แต่ถึงแม้จะยอมรับตรงๆ เช่นนี้ บทบรรณาธิการชิ้นนี้ก็กล่าวเตือนว่าฐานะของซาอุดีอาระเบียในเวลานี้นั้น ยังห่างไกลความได้เปรียบถึงขั้นที่จะสามารถบงการกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ตามที่ตนเองต้องการได้

ทั้งนี้ อิหร่านเดลี่ แจกแจงเอาไว้ดังนี้: “พระสุขภาพของสมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลเลาะห์ (King Abdullah) ตกเป็นข่าวลือกันสนั่นว่ากำลังเลวร้ายลงไปทุกวัน และรายงานต่างๆ ก็บ่งชี้ให้เห็นว่ากำลังมีการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจในหมู่เจ้าชายซาอุดีทั้งหลาย ด้วยเหตุนี้ หนทางออกสำหรับชาวซาอุดีจึงอาจจะอยู่ที่การต้องครุ่นคิดใคร่ครวญให้ดีว่าระบบรัฐบาลใหม่ควรจะเป็นอย่างไร”

ในขณะที่ภาพสถานการณ์กำลังพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปเช่นนี้ การที่ซาอุดีอาระเบียจะต้องหันมาขบคิดทบทวนกันใหม่ในเรื่องยุทธศาสตร์ระดับภูมิภาคของตน จึงกลายเป็นเรื่องที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เสียแล้ว ในข้อเขียนชิ้นหนึ่ง (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.aawsat.net/2015/01/article55340407/print/) ที่ปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของ อาชาร์ก อัล-อาวซัต (Asharq Al-Awsat) หนังสือพิมพ์รายวันของชนชั้นปกครองซาอุดีอาระเบีย เมื่อวันที่ 15 มกราคม ผู้เขียนซึ่งคือ เจ้าชายตุรกี อัล-ไฟซาล (Prince Turki al-Faisal) อดีตผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองซาอุดีอาระเบีย ได้แสดงความคิดเห็นอย่างเกรี้ยวกราดรุนแรงเป็นพิเศษต่อกลุ่มไอเอส กระทั่งถึงกับแปลงชื่อย่อในภาษาอาหรับของกลุ่มนี้ ซึ่งก็คือ Da’ech ให้กลายเป็น Fahesh (แปลว่า น่าสะอิดสะเอียน) และเปรียบเทียบพวกเขาว่าเหมือนกับพวกคอริจี (Kharijites) ในยุคศตวรรษที่ 7 ซึ่งเป็นที่ร่ำลืออื้อฉาวอยู่ในเรื่องเล่าขานของชาวอาหรับมุสลิม ว่าโหดร้ายป่าเถื่อนเป็นอย่างยิ่ง

การประณามโดยเลือกใช้ถ้อยคำเจ็บๆ แรงๆ ว่าเป็นลูกหลานของพวกป่าเถื่อนเหี้ยมโหดในอดีตเช่นนี้ ย่อมเป็นการแสดงให้เห็นว่าฝ่ายซาอุดีอาจจะตระหนักขึ้นมาแล้วว่า กลอุบายที่จะต่อต้านคัดค้านอิหร่านด้วยการเล่นไพ่ความแตกแยกทางนิกายศาสนา ในการแข่งขันช่วงชิงอำนาจกันในภูมิภาคแถบนี้นั้น ปรากฏว่ามีค่าใช้จ่ายแพงลิ่วเกินไปและกลับบังเกิดผลในทางเลวร้าย รวมทั้งยังอุดมไปด้วยผลต่อเนื่องในทางลบซึ่งกระทบกระเทือนสร้างความเสียหายต่อผลประโยชน์แกนกลางของฝ่ายซาอุดีเองด้วยซ้ำ ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดสำหรับซาอุดีอาระเบียน่าจะเป็นการประคับประคองตัวให้ยังสามารถอยู่ในเกมที่กำลังค่อยๆ คลี่คลายพัฒนาไปเรื่อยๆ โดยที่จะต้องทำการปรับเปลี่ยนนโยบายต่ออิหร่านให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ยิ่งเมื่อสหรัฐฯกับอิหร่านสามารถทำข้อตกลงเรื่องนิวเคลียร์ขึ้นมาได้ด้วยแล้ว ดุลแห่งอำนาจในภูมิภาคแถบนี้ก็จะยิ่งเอนเอียงไปในข้างที่อิหร่านเป็นฝ่ายได้เปรียบมากขึ้นอีก (ดูรายละเอียดได้จากข้อเขียนชิ้นก่อนๆ ในบล็อกของผมนี้ ที่ใช้หัวเรื่องว่า Iran trumps Saudi project in Syria-Iraq ที่เว็บเพจ http://blogs.rediff.com/mkbhadrakumar/2015/01/02/iran-trumps-saudi-project-in-syria-iraq/)

เอกอัครราชทูต เอ็ม เค ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย เขาเคยได้รับมอบหมายให้ไปประจำอยู่ในหลายๆ ประเทศ อาทิ สหภาพโซเวียต, เกาหลีใต้, ศรีลังกา, เยอรมนี, อัฟกานิสถาน, ปากีสถาน, อุซเบกิสถาน, คูเวต, และตุรกี
กำลังโหลดความคิดเห็น