xs
xsm
sm
md
lg

ความเกี่ยวพันกันระหว่างความไม่สงบใน ‘ซินเจียง’ กับใน ‘เชชเนีย’

เผยแพร่:   โดย: ปีเตอร์ ลี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

The Xinjiang/Chechnya correlation
By Peter Lee
09/01/2015

รัฐบาลจีนกำลังพยายามหาทางแก้ไขคลี่คลายความยุ่งยากวุ่นวายในมณฑลซินเจียงของตน ด้วยการทุ่มเทเงินทองและดำเนินนโยบายที่ฉลาดหลักแหลมกว่าเดิม ขณะเดียวกันนั้นก็กำลังยอมรับด้วยว่ามีความเสี่ยงที่สถานการณ์จะย่ำแย่ลงไปจนถึงขั้นวิบัติหายนะ สืบเนื่องจากชาวอุยกูร์ในท้องถิ่นโกรธเกรี้ยวไม่พอใจกับสภาพที่โดยเนื้อหาสาระแล้วคือการถูกยึดครองเอาเป็นอาณานิคมอย่างดุดันเหี้ยมเกรียม ทั้งนี้ สภาวการณ์ดังกล่าวบังเกิดขึ้นมา ที่สำคัญแล้วเป็นเพราะฝีมือการทำงานของพวกเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานซึ่งมีคุณภาพเพียงแค่ระดับพื้นๆ นั่นเอง ในส่วนการดำเนินนโยบายต่อซินเจียงของปักกิ่งนั้น เราสามารถที่จะอธิบายได้อย่างถึงแก่นด้วยคำเพียงคำเดียวเท่านั้น นั่นคือคำว่า “เชชเนีย”

เรื่องราวจริงๆ อันยาวเหยียด แต่สามารถที่จะเล่าให้สั้นๆ ได้ว่า ในทัศนะมุมมองของพรรคคอมมิวนิสต์จีนนั้น ซินเจียงจำเป็นที่จะต้องได้คนดีที่สุดมีฝีมือเยี่ยมที่สุด เข้าไปบริหารจัดการกับความขัดแย้งอันล้ำลึกมากมายของ (เขตปกครองตนเองระดับเทียบเท่า) มณฑลแห่งนี้ ทว่าตำแหน่งงานซึ่งต้องแบกรับภาระหน้าที่อันยากเย็นแสนเข็ญเช่นนี้ มักสามารถดึงดูดได้แค่พวกเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและพลเมืองซึ่งมีแนวโน้มที่จะเป็นเพียง “คนย่ำแย่ที่สุดมีฝีมือห่วยที่สุด” ในบรรดาผู้คนซึ่งพอจะอยู่ในสายตา

เวลานี้ศูนย์กลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน กำลังพยายามที่จะทะลวงเปลี่ยนแปลงแก้ไขวงจรนี้ ด้วยการทุ่มเททั้งเงินทองงบประมาณ, ความเอาใจใส่, และการใช้นโยบายต่างๆ ซึ่งฉลาดหลักแหลมขึ้นกว่าเก่า ทว่าในขณะเดียวกันนั้น ศูนย์กลางพรรคก็ตระหนักยอมรับเช่นกันว่า ยุทธศาสตร์ของตนต่อซินเจียงมีโอกาสในระดับหนึ่งที่จะประสบความล้มเหลวเลวร้ายถึงขั้นวิบัติหายนะ สืบเนื่องจากชาวอุยกูร์ในท้องถิ่นโกรธเกรี้ยวไม่พอใจมากขึ้นทุกที กับสภาพที่โดยเนื้อหาสาระแล้วคือการถูกยึดครองเอาเป็นอาณานิคมอย่างดุดันเหี้ยมเกรียม ทั้งนี้ สภาวการณ์ดังกล่าวบังเกิดขึ้นมา ที่สำคัญแล้วเป็นเพราะฝีมือการทำงานของพวกเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานซึ่งมีคุณภาพเพียงแค่ระดับพื้นๆ นั่นเอง

สาธารณรัฐประชาชนจีนนั้นไม่มีความสนใจในเรื่องการบ่มเพาะอบรมชาวอุยกูร์ท้องถิ่นที่มีความสามารถและช่ำชองเจนโลก --อย่างเช่น อิลฮัม โตห์ตี Ilham Tohti (1) ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ถูกทางการจีนตัดสินลงโทษจำคุกอย่างโหดร้ายเกินเลยไปมาก – ผู้อาจทำหน้าที่เป็นจุดดึงดูดนำเสนอทางเลือกใหม่ๆ เพื่อให้ซินเจียงได้ปรับปรุงระดับธรรมาภิบาลให้สูงขึ้นกว่าเดิม แทนที่จะกระทำเช่นนั้น ปักกิ่งกลับกำลังเดินหน้าฟันฝ่าไปด้วยคนคุณภาพเท่าที่จะหาได้ ในขณะเดียวกันก็ตระเตรียมรับมือกับสถานการณ์ขั้นเลวร้ายที่สุดซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้ ด้วยการปรับปรุงเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่ชุดมาตรการกดขี่เต็มพิกัดอันทรงประสิทธิภาพ

รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนป่าวร้องโพนทะนาภัยคุกคามของการก่อการร้าย เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่การปฏิบัติการของตน ตลอดจนสร้างความชอบธรรมให้แก่ปฏิกิริยาตอบโต้ของตนต่อพฤติการณ์นองเลือดชวนสยดสยองซึ่งเกิดขึ้นอยู่เป็นระยะๆ โดยผู้กระทำและผู้ถูกกระทำมีทั้งชาวอุยกูร์ผู้ทนทุกข์, พลเมืองชาวฮั่น, และกลไกด้านความมั่นคงของรัฐ

พวกรัฐบาลและสื่อมวลชนตะวันตกนั้น มีสัญชาตญาณที่จะรู้สึกคลื่นเหียน หากถูกผลักดันให้รับรองเห็นด้วยกับคำยืนยันเรียกร้องของระบอบปกครองแสนกดขี่ของจีน ในการเรียกขานความรุนแรงที่ชาวอุยกูร์ก่อขึ้นมาว่าเป็น “การก่อการร้าย” แม้กระทั่งในเวลาซึ่งยากที่จะเรียกเป็นอะไรอย่างอื่นได้ ตัวอย่างเช่น ในกรณีที่ชาวชาติพันธุ์อุยกูร์กลุ่มหนึ่ง เที่ยววิ่งไล่ล่าฟันแทงผู้คนในสถานีรถไฟแห่งหนึ่งทางภาคใต้ของจีน และรวมแล้วเข่นฆ่าสังหารผู้คนไป 29 คน ทำให้บาดเจ็บอีก 143 คน

แม้กระทั่งพวกโรคจิตหวาดระแวงเพ้อเจ้อมองเห็นใครๆ เป็นปรปักษ์ผู้มุ่งร้ายไปหมด บางครั้งบางคราวก็เจอะเจอเข้ากับข้าศึกศัตรูตัวจริงเสียงจริงอยู่เหมือนกัน ทั้งนี้ ในอนาคตข้างหน้า รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนอาจจะต้องเผชิญหน้ากับความเป็นจริงที่ว่า การปกครองของตนในซินเจียงนั้น สามารถกระตุ้นยั่วยุให้เกิดพลวัตทางการเมืองอันน่าขยะแขยงขึ้นมา ซึ่งมีศักยภาพเพียงพอที่จะก่อกำเนิดการก่อการร้ายขนานแท้ เป็นการก่อการร้ายซึ่งปฏิบัติการกันแบบมืออาชีพ และนานาชาติต้องยินยอมประทับตรารับรองด้วยการจัดพิธีจุดเทียนรำลึกไว้อาลัยเหยื่อเคราะห์ร้าย แทนที่จะเป็นการก่อเหตุอย่างลนลานด้วยอาวุธขี้ปะติ๋วเฉพาะกิจ อย่างที่ดูเหมือนจะเป็นสิ่งซึ่งกำลังเกิดขึ้นในเวลานี้

ผมมีความเชื่อว่า การดำเนินนโยบายต่อซินเจียงของสาธารณรัฐประชาชนจีนนั้น เราสามารถที่จะอธิบายได้อย่างถึงแก่นด้วยคำเพียงคำเดียวเท่านั้น นั่นคือคำว่า “เชชเนีย”

ในโลกตะวันตกนั้น เรามีความโน้มเอียงที่จะจัดจำแนกนำเอาเรื่อง “เชชเนีย” เสียบเข้าไปอยู่ในหัวข้อ “ปัญหาของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย” หัวข้อย่อย “กรณีโชกเลือดในคอเคซัส” โดยไม่รู้สึกว่ามีอะไรเกี่ยวข้องกับโลกตะวันตก อันที่จริงแล้ว ดูเหมือนมีกลุ่มนักหนังสือพิมพ์ฝ่ายตะวันตกผู้หวาดผวาปูตินกลุ่มใหญ่พอดูทีเดียว ซึ่งต่างมีความคิดเห็นไปว่า ปัญหาเชชเนียนั้นจุดสำคัญที่สุดเป็นเรื่องของรัสเซีย VS การขาดไร้เสรีภาพ และพวกเขาต่างเฝ้ารอคอยโดยแทบไม่ปิดบังการขาดไร้ความอดทนอดกลั้นของพวกเขาเอาเลย ว่าเมื่อใดเชชเนียจึงจะแตกแยกออกเป็นเสี่ยงๆ อีกครั้ง เพื่อที่จะได้โหมกระพือทำให้ทั้ง ปูติน, ระบอบปกครองอันกดขี่แบบยุคพระเจ้าซาร์ของเขา, ตลอดจนบริวารในท้องถิ่นผู้ดุร้ายเหี้ยมโหดของเขาซึ่งมีนามว่า รัมซัน คาดืย์รอฟ (Ramzan Kadyrov) (2) เสื่อมเสียเครดิตความน่าเชื่อถือ

อย่างไรก็ดี พวกเขาดูจะลืมเลือนไปว่า เชชเนียยังมีอัตลักษณ์อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ที่มีสีสันความเป็นยุโรปน้อยทว่าความเป็นเอเชียกลางเข้มข้น ได้แก่การมีฐานะเป็นสถานีจอดพักแห่งหนึ่งในเส้นทางรถไฟฟ้าของพวกนักรบญิฮัดระดับโลก ทั้งนี้หลังจากสหภาพโซเวียตประสบความเพลี่ยงพล้ำและต้องถอนตัวออกไปจากอัฟกานิสถานแล้ว เหล่านักรบญิฮัดซึ่งผ่านการฝึกฝนอบรมมาเป็นอันดี รวมทั้งได้รับการปลุกเร้าจูงใจอย่างเต็มขีด, ประกอบกับในเวลานั้นยังคงได้รับเงินทุนสนับสนุนอย่างใจบุญสุนทาน (แน่นอนที่เดียวว่า ได้จากมูลนิธิทางศาสนาในซาอุดีอาระเบีย) จึงพากันออกจากอัฟกานิสถานไปเสาะแสวงหาสมรภูมิใหม่ๆ กันต่อไปอีก และหลังจากหยุดแวะพักอยู่ระยะสั้นๆ ในบอสเนีย และใน ทาจิกิสถาน แล้ว พวกเขาก็ค้นพบสมรภูมิใหม่อันเหมาะเหม็งมากในเชชเนีย

เชชเนียในช่วงทศวรรษ 1990 ช่างดูคล้ายคลึงกับอัฟกานิสถานที่ปรากฏตัวซ้ำขึ้นมาอีกหนหนึ่ง โดยที่มีกลไกทางทหารรัสเซียซึ่งไร้สมรรถภาพอย่างร้ายแรงเจ้าเก่า กำลังแสดงความโหดร้ายป่าเถื่อนต่อประชากรอิสลามผู้รักเสรีภาพในอีกสถานที่หนึ่ง ด้วยวิธีการเดิมๆ ซึ่งเคยใช้อยู่ในอัฟกานิสถาน อันได้แก่ การเข้ายึดครอง/การเข้าปฏิบัติการด้านความมั่นคง อย่างทารุณอำมหิต

นักรบญิฮัดชาวอาหรับ นำโดย อิบน์ อัล-คอตตับ (Ibn al-Khattab) เดินทางมาถึงเชชเนียในช่วงกลางทศวรรษ 1990 ต้องขอบคุณความดุดันไร้เมตตาปรานีของพวกเขา ตลอดจนการมีประสบการณ์ผ่านศึกสู้รบอย่างโชกโชน รวมทั้งอุดมการณ์แนวความคิดที่ดึงดูดใจและสอดคล้องกับความเป็นจริงในทางปฏิบัติ (คอตตับ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการผลักดันอุดมการณ์แนวความคิด ซึ่งเราอาจจะเรียกขานว่าเป็น “ลัทธินักรบญิฮัดที่เน้นหนักการต่อสู้อยู่ในประเทศหนึ่งประเทศเดียว” นั่นคือทำนองเดียวกับที่ โจเซฟ สตาลิน เสนอเรื่องให้ทำการปฏิวัติสังคมนิยมในประเทศหนึ่งประเทศเดียวก่อน แต่ตรงกันข้ามกับ อุซามะห์ บิน ลาดิน ผู้มีแนวทางทำนองเดียวกับพวกทรอตสกี้ นั่นคือต้องการให้ทำสงครามญิฮัดในขอบเขตทั่วโลกโดยมุ่งเน้นหนักไปที่การโจมตีเล่นงานสหรัฐฯ) นักรบหัวรุนแรงชาวอาหรับเหล่านี้จึงสามารถเข้ายึดครองขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชของชาวเชเชนพื้นบ้านไปได้ในระดับที่สำคัญทีเดียว นอกจากนั้นพวกเขายังดำเนินการจัดตั้ง “สายพานลำเลียง” ที่จะนำเอานักรบชาวเชเชนเข้าไปฝึกอบรมเพิ่มเติมในอัฟกานิสถาน (ปรากฏว่าชาวเชเชนเหล่านี้จำนวนมาก ไม่สามารถเดินทางกลับบ้านสู่เขตเชชเนียที่ได้รับการปลดแอกได้ ดังนั้น เราจึงพบว่าพวกเขาได้ถูกใช้สอยและถูกเกลี้ยกล่อมให้หันไปทำการสู้รบในซีเรีย/อิรัก ทว่านี่เป็นเรื่องราวอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งไม่เกี่ยวกับสิ่งที่เราต้องการพูดในข้อเขียนชิ้นนี้)

คอตตับ เป็นผู้นำทางทหารที่ดุดันทรงประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถเอาชนะเหนือฝ่ายรัสเซียในการสู้รบหลายต่อหลายครั้ง เขายังได้รับประโยชน์จากความสนับสนุนภายนอกอีกด้วย ดังที่ โธมัส เฮกกัมเมอร์ (Thomas Hegghammer) บรรยายเอาไว้ในหนังสือของเขาเรื่อง “Jihad in Saudi Arabia: Violence and Pan-Islamism since 1979” (ญิฮัดในซาอุดีอาระเบีย: ความรุนแรงและลัทธิรวมอิสลามิสต์นับแต่ปี 1979) ดังนี้:

ไม่นานนักหลังจากเขามาถึงเชชเนีย คอตตับก็เริ่มสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการฝึกอบรมขึ้นมาแห่งหนึ่ง โดยที่เขาจะดำเนินการในลักษณะจับมือร่วมงานกับ ชามิล บาซาเยฟ (Shamil Basayev) หัวหน้านักรบชาวเชเชนระดับตำนาน พอถึงกลางปี 1995 ก็มีการจัดตั้งสายพานทางด้านการส่งกำลังบำรุง เพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดส่งอาสาสมัครต่างชาติเข้ามายังเชชเนีย สถานีหลักๆ ของสายพานนี้อยู่ที่เมืองอิสตันบูล (ประเทศตุรกี) และกรุงบากู (ประเทศอาร์เซอร์ไบจาน)

เซฟเฮาส์ในบากูนั้น ดำเนินการโดยชาวอาหรับ ซึ่งปฏิบัติการโดยอาศัย “คณะกรรมการการกุศลอิสลาม” (Islamic Benevolence Committee) เป็นเครื่องปกปิดอำพราง คอตตับได้รับความสนับสนุนทางด้านการส่งกำลังบำรุงและทางด้านการเงินจำนวนหนึ่งจากซาอุดีอาระเบีย พวกชีคซาอุดีพากันประกาศว่ากลุ่มต่อต้านชาวเชเชนนั้นเป็นนักรบญิฮัดที่ต่อสู้อย่างถูกต้องชอบธรรม และพวกผู้บริจาคที่เป็นเอกชนชาวซาอุดีต่างส่งเงินทองไปให้ คอตตับ และเพื่อนร่วมงานชาวเชเชนของเขา ในตอนหลังๆ จนกระทั่งถึงปี 1996 นักรบญิฮัดที่ได้รับบาดเจ็บในเชชเนีย ต่างถูกจัดส่งไปยังซาอุดีอาระเบียเพื่อเข้ารับการรักษาพยาบาลทางการแพทย์ โดยเป็นวิธีปฏิบัติซึ่งองค์กรการกุศลต่างๆ เป็นผู้ออกเงินให้ ส่วนรัฐซาอุดีอาระเบียก็ทำเฉยๆ ไม่ห้ามปรามอะไร

หลังจากสงครามเชชเนียครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง คอตตับได้ขยายกิจกรรมต่างๆ ของเขาในดินแดนแห่งนี้ มีการสร้างค่ายพักเพิ่มขึ้นหลายแห่ง และจัดตั้งสถาบันการศึกษาซึ่งพวกเพื่อนเก่าชาวซาอุดีของคอตตับ ทำหน้าที่สอนเรื่องศาสนาและศาสตร์ทางการทหารให้แก่เหล่าผู้นำกบฎชาวเชเชน


คอตตับยังได้ประโยชน์จากการมีแหล่งหลบภัยในทางเป็นจริง ที่บริเวณช่องเขาปันคิซี (Pankisi Gorge) ในประเทศจอร์เจีย ที่เป็นเพื่อนบ้านติดกับรัสเซีย สำหรับสถานะในปัจจุบันของแหล่งหลบภัยแห่งนี้เป็นอย่างไร เรื่องนี้ต้องแล้วแต่ว่าคุณจะเลือกเชื่อใคร โดยที่ถ้าหากไม่ถูกรัฐบาลจอร์เจียที่เป็นพวกโปรอเมริกันปิดไปแล้วเพื่อเห็นแก่ประโยชน์ของเพื่อนบ้านอย่างแดนหมีขาว ก็ยังคงถูกใช้เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการพักผ่อนและการเติมพลังขึ้นมาใหม่ของพวกนักรบญิฮัดทั้งรุ่นปัจจุบันและรุ่นใหม่ๆ ซึ่งวาดหวังว่าจะตอกปูตินให้ติดตรึงอยูในเชชเนีย และตอกประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ให้ติดตรึงอยู่ในซีเรีย

การสิ้นชีวิตของ คอตตับ ออกจะเป็นเรื่องราวการใช้เล่ห์เหลี่ยมชิงไหวชิงพริบ ในแบบของภาพยนตร์ซีรีส์ชุด “Game of Thrones” ผสมกับบรรยากาศแห่งยุคตระกูลเมดิชีครองดินแดนในอิตาลี (ดูตัวอย่างบรรยากาศเช่นนี้ได้จากรายงานข่าวชิ้นนี้ http://www.foxnews.com/story/2007/01/04/csi-renaissance-evidence-medici-poisoning-discovered-420-years-later/) ทั้งนี้ วิกิพีเดีย (http://en.wikipedia.org/wiki/Ibn_al-Khattab) ได้เขียนเอาไว้ดังนี้:

เขาถูกสังหารในระหว่างคืนวันที่ 19 ย่างสู่วันที่ 20 มีนาคม 2002 เมื่อผู้เดินสารชาวดาเกสถาน (Dagestan) ผู้หนึ่งซึ่งถูกว่าจ้างโดย เอฟเอสบี (FSB หรือ องค์การความมั่นคงแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย เป็นหน่วยงานสืบราชการลับที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาแทนที่ KGB ในยุคสหภาพโซเวียต) ได้ส่งจดหมายเคลือบยาพิษฉบับหนึ่งแก่ คอตตับ แหล่งข่าวชาวเชเชนหลายรายระบุว่า จดหมายฉบับนั้นถูกเคลือบเอาไว้ด้วย “สารทำลายประสาทที่ออกฤทธิ์รวดเร็ว โดยเป็นไปได้ว่าจะเป็น ซาริน (sarin) หรืออนุพันธ์ตัวหนึ่งของสารนี้” ผู้เดินสารผู้นี้ เป็นสายลับซ้อนชาวดาเกสถาน ซึ่งรู้จักกันในชื่อว่า อิบรอกิม อาเลารี (Ibragim Alauri) เขาถูก เอฟเอสบี จับกุมและเกลี้ยกล่อมให้เปลี่ยนข้าง ในระหว่างที่เขาทำหน้าที่เดินสารตามปกติของเขา

คอตตับนั้นจะได้รับจดหมายจากคุณแม่ของเขาในซาอุดีอาระเบียอยู่เรื่อยๆ และ เอฟเอสบี ก็พบว่านี่ช่างเป็นช่วงจังหวะอันเหมาเจาะที่จะสามารถสังหารคอตตับได้ แทนที่จะต้องยกกำลังเข้าโจมตีสถานที่ซ่อนตัวบนภูเขาของเขา และเสี่ยงต่อการสูญเสียกำลังทหาร มีรายงานว่าการปฏิบัติการในการจับกุม และเกลี้ยกล่อมให้ อิบรอกิม อาเลารี หันมาทำงานให้เอฟเอสบี และเดินทางไปส่งจดหมายยาพิษฉบับนั้น ใช้เวลาในการเตรียมการอยู่ประมาณ 6 เดือน มีรายงานด้วยว่าตัวอิบรอกิมได้ถูกตามล่าและสังหารในอีก 1 เดือนให้หลังที่กรุงบากู


เรื่องราวเหล่านี้เกี่ยวข้องอะไรกับซินเจียง? ผมคาดเดาว่า ในความคิดของพวกนักยุทธศาสตร์ของสาธารณรัฐประชาชนจีนแล้ว จุดที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องคล้องจองกันอย่างสูงหรืออย่างน้อยก็บางส่วนนั้น มีอยู่ 7 จุด 7 ประการด้วยกัน

ประการแรกสุด พวกนักเคลื่อนไหวไม่ว่าจะเป็นชาวอุยกูร์หรือชาวเชเชน ต่างก็มีความกระหายที่จะเป็นเอกราชเช่นเดียวกัน ถึงแม้พวกเขาจะได้เป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิคอมมิวนิสต์ที่ประกอบด้วยคนหลายหลากชาติพันธุ์มาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว ก็ยังคงล้มเหลวไม่สามารถที่จะดับมอดความกระหายเช่นนี้ได้

ประการที่สอง มีพลวัตอันทรงพลังมากในเรื่องเกี่ยวกับ “พวกคนต่างชาติไม่นับถือพระเจ้ากำลังกดขี่ชาวมุสลิม” โดยปรากฏว่าพลวัตดังกล่าวนี้ทำงานอย่างได้ผลในอัฟกานิสถาน และจากนั้นจึงถูกส่งต่อมาใช้ในเชชเนีย

ประการที่สาม พลวัตทางศาสนาในประชาคมชาวอุยกูร์ที่ซินเจียง มีความคล้ายคลึงกับในดินแดนเชชเนียเมื่อช่วงทศวรรษ 1990 นั่นคือ แนวความคิดอิสลามแบบซูฟี (Sufism) ที่เป็นแบบพื้นบ้านและค่อนข้างรักสงบไม่มีปากมีเสียงอะไรกับใคร ได้ถูกลดทอนทำลายความน่าเชื่อถือศรัทธาไปมาก จากการไร้สมรรถภาพไร้บทบาทในการต่อสู้เรียกร้องเอกราช

ประการที่สี่ การท้าทายจากลัทธิวาห์ฮาบี (Wahhabism) ซึ่งสนับสนุนความรุนแรง ทั้งนี้อาศัยปรัชญาเรื่องญิฮัดของลัทธินี้, องค์กรการกุศลต่างๆ ที่มีเงินทุนหนาแน่นและหนุนหลังโดยพวกชีคซาอุดี, และพวกแนวที่ห้าของลัทธินี้ซึ่งอยู่ในรูปของโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม (madrassah) ได้เข้าท้าทายแนวทางปฏิบัติทางศาสนา/ทางการเมืองแบบประเพณีดั้งเดิมในพื้นถิ่น

ในเชชเนียนั้น พวกวาห์ฮาบี สามารถที่จะบรรลุความสำเร็จในการขึ้นครองอำนาจ อย่างน้อยที่สุดก็ชั่วระยะเวลาหนึ่งและยึดอำนาจเอาไว้ได้เป็นบางส่วนบางเสี้ยว

ขณะที่ในสาธารณรัฐประชาชนจีน ก็อย่างที่บทความซึ่งเขียนเอาไว้อย่างดีเลิศ (ดูรายละเอียดได้ที่ http://thediplomat.com/2014/10/chinese-salafism-and-the-saudi-connection/) ของ มูฮัมเหม็ด อัล-ซูไดรี (Muhammed al-Sudairi) ในวารสาร “เดอะ ดีโพลแมต” (The Diplomat) ได้ชี้เอาไว้ สาธารณรัฐประชาชนจีนนั้นมีความระแวดระวังมากในการจำกัดตัดรอนความพยายามของพวกวาห์ฮาบี
ไม่ว่าจะในเรื่องการอบรมสั่งสอนให้ผู้คนศรัทธานับถือและเปลี่ยนมาเข้ารีตลัทธิของตน, การจัดการศึกษา (ทั้งภายในสาธารณรัฐประชาชนจีนเอง และตามมหาวิทยาลัยอาหรับต่างๆ), การให้ความอุปถัมภ์แก่การจาริกแสวงบุญ โดยผ่านทางองค์กรการกุศลต่างๆ ของชาวซาอุดี

เมื่อพิจารณาจากบริบทเช่นนี้ ก็เป็นเรื่องที่อธิบายให้เข้าใจได้ว่า ทำไมสาธารณรัฐประชาชนจีนจึงบังคับใช้ระเบียบกฎหมายที่อยู่ในลักษณะล่วงละเมิดและสอดแทรก เป็นต้นว่า การห้ามประกอบศาสนกิจภายในบ้านเรือน, การห้ามไว้เคราและสวม ฮิญาบ (ผ้าคลุมศีรษะของสตรีมุสลิม) โดยที่มีการตั้งสมมุติฐานว่า ถ้าหากบุคคลใดละทิ้งเครื่องแต่งกายตามประเพณีของชาวอุยกูร์ และหันไปเคารพนับถือวิธีปฏิบัติศาสนกิจแบบที่เจือด้วยสีสันของลัทธิวาห์ฮาบีแล้ว บุคคลเหล่านี้ก็เสมือนกับกำลังประกาศตนว่าเป็นพวกที่เที่ยวแสดงความไม่พอใจและพวกชอบสร้างความวุ่นวายมืออาชีพ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เนื่องจากการไว้เคราและการสวมฮิญาบ เป็นการล่วงละเมิดระเบียบกฎหมาย สาธารณรัฐประชาชนจีนจึงมีความชอบธรรมพื้นฐานสำหรับการนำตัวคนเหล่านี้มาสอบปากคำ และสร้างฐานข้อมูลอันมีประโยชน์ซึ่งรวบรวมประวัติตัวบุคคล, ครอบครัว, และเครือข่ายทางสังคม ที่น่าเป็นห่วงทั้งหลายเอาไว้

ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ ถือว่าเป็นการดำเนินการซึ่งสอดประสานไปกับความพยายามของทางการรัฐบาลท้องถิ่นเชชเนีย (ดูรายละเอียดได้ที่ https://theivorybunker.wordpress.com/2010/12/09/fighting-islam-with-islam-sufi-and-wahabi-forces-in-chechnya/) ที่จะกอบกู้ชื่อเสียงเกียรติคุณของวิธีปฏิบัติตามแบบซูฟีพื้นถิ่นขึ้นมาใหม่ เพื่อให้เป็นทางเลือกอีกทางหนึ่ง นอกเหนือจากลัทธิวาห์ฮาบีซึ่งทั้งมีลักษณะ “ต่างด้าว” และทั้งมีลักษณะบ่อนทำลาย

ประการที่ห้า การมีแหล่งหลบภัย ในช่วงที่สงครามเชชเนียอยู่ในระยะดุเดือดที่สุดนั้น หลายๆ ส่วนของประเทศกลายเป็นพื้นที่ห้ามเข้า แต่ก็ยังมีช่องเขาปันคิซี และถัดจากนั้นไปอีก ยังมีความรู้สึกสบายใจอันคาดคำนวณไม่ถูก จากการที่พวกนักรบญิฮัดทราบว่ามีโอกาสที่จะได้เดินทางไปพักผ่อนรักษาตัวยังซาอุดีอาระเบีย (ทำนองเดียวกับที่พวกนักรบในซีเรียและอิรัก ได้รับอนุญาตให้เข้าถึงสถานรักษาพยาบาลของตุรกีนั่นเอง)

สาธารณรัฐประชาชนจีนนั้นกำลังทุ่มเททรัพยากรอย่างมากมาย เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเขตอำนาจศาลของตนครอบคลุมตลอดทั่วทั้งซินเจียง ทว่าภายนอกซินเจียงออกไป ยังคงมีดินแดนที่ชื่อลงท้ายด้วย “สถาน” จำนวนมากซึ่งอยู่ในภาวะไม่มั่นคงไร้เสถียรภาพ โดยมีทั้งอัฟกานิสถาน, มีทั้งพื้นที่บริเวณต่างๆ ของชาวปาชตุน (Pashtun) ในภาคตะวันตกของปากีสถานซึ่งถือเป็นเขตประสบความหายนะทางด้านความมั่นคง ตอนนี้ยังมีการลดกำลังทหารอเมริกัน/นาโต้ ซึ่งประจำอยู่ในอัฟกานิสถานลงมาอีกตามนโยบายของโอบามา ถึงแม้กองทหารเหล่านี้ถือว่าไร้ประสิทธิผลในทางยุทธศาสตร์ แต่ก็ยังให้ผลในทางการขู่ขวัญ

ประการที่หก มีการรับเข้าศึกษาใน “มหาวิทยาลัยนักรบญิฮัด” ซึ่งก็คือเครือข่ายระหว่างประเทศของพวกหัวรุนแรงอิสลามิสต์ที่มีประสบการณ์, ความรู้ความสามารถ, และมีลักษณะเหมาะสม “เป็นผู้ประกอบการ” ทั้งนี้ คนเหล่านี้เพียงแค่ไม่กี่ร้อยคนก็สามารถสร้างความแตกต่างได้แล้ว ดังที่ เฮกกัมเมอร์ ชี้เอาไว้ว่า:

ในการบอกเล่าบรรยายประวัติความเป็นมาของพวกอิสลามิสต์นั้น พวกเขาชอบบอกว่าการปรากฏขึ้นมาของขบวนการนักรบญิฮัดชาวซาอุดี เป็นตัวแทนของ “การลุกขึ้นมาของประชาชน” ซึ่งเป็นการลุกขึ้นมาอย่างเป็นไปเอง เมื่อเผชิญหน้ากับการรุกรานจากภายนอก ไม่ว่าจะในอัฟกานิสถาน, บอสเนีย, หรือเชชเนีย ทว่า ความเป็นจริงเป็นสิ่งที่มีความสลับซับซ้อนกว่านั้นมากมายนัก “ประชาชน” นั้นไม่เคยที่จะลุกขึ้นเข้าสู่การต่อสู้เพื่อเรื่องเหล่านี้ในดินแดนต่างๆ ที่อ้างไว้ข้างต้นเลย ส่วนการที่ผู้คนลุกฮือขึ้นก็ไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปเองเช่นกัน หากแต่เป็นผลจากการใช้ความพยายามอย่างเป็นระบบและอย่างต่อเนื่องของกลุ่ม “ผู้ประกอบการ” ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของบุคคลผู้อุทิศตนทั้งหลาย

คอตตับ เป็นผู้ที่ช่วยนำเอาสงครามญิฮัดเข้าไปในเชชเนีย

สำหรับในปากีสถาน ก็อย่างที่ผมได้พยายามชี้ให้เห็นอยู่บ่อยๆ (เป็นต้นว่าในข้อเขียนชิ้นนี้ http://chinamatters.blogspot.com/2014/12/maulana-abdul-aziz-on-defensivefor-now.html) อัตลักษณ์อันเป็นเนื้อในสำคัญของกลุ่มตอลิบานปากีสถาน (Pakistani Taliban) (ขอได้โปรดอย่านำกลุ่มนี้ไปสับสนปนเปกับกลุ่มตอลิบานอัฟกานิสถาน Afghan Taliban ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเป็นมิตรและเปิดกว้างพร้อมทำธุรกิจกับสาธารณรัฐประชาชนจีน) คือการมุ่งล้างแค้นให้แก่การบุกเข้าปราบปรามอย่างนองเลือดที่สุเหร่า “ลัล มัสยิด” (Lal Masjid) ในกรุงอิสลามาบัด เมื่อปี 2007 โดยที่ทางการปากีสถานบุกเข้าปราบปรามตามเสียงเรียกร้องของสาธารณรัฐประชาชนจีน ส่วนหนึ่งเนื่องจากปักกิ่งเชื่อว่ามีพวกหัวรุนแรงชาวอุยกูร์พำนักหลบภัยกันอยู่ที่นั่น

ในเอเชียกลาง สาธารณรัฐประชาชนจีนในอดีตเคยได้ประโยชน์จากข้อตกลงและทรัพยากรต่างๆ ที่ตนพัฒนาขึ้นมา ในระหว่างแสดงบทบาทเป็นกองพลาธิการของซีไอเอ ทำหน้าที่ส่งกำลังบำรุงให้แก่พวกนักรบมูจาฮีดีนต่อต้านโซเวียต ตลอดจนจากการที่สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นพันธมิตรทางด้านความมั่นคงที่สนิทชิดเชื้อของกองทัพปากีสถาน ทว่าความสัมพันธ์เหล่านี้กำลังตกอยู่ในอันตรายที่จะเสียหายหลุดลุ่ย อย่างน้อยที่สุดก็ในกรณีของบางกลุ่มบางพวกซึ่งได้ผละจากอัลกออิดะห์และตอลิบานอัฟกานิสถาน แล้วหันมาประกาศแสดงความจงรักภักดีต่อรัฐกาหลิบอิสลามของกลุ่ม “รัฐอิสลาม” (ไอเอส) โดยที่มีรายงานว่า พวกหัวรุนแรงชาวอุยกูร์สามารถไปหลบภัยพักพิงกับกลุ่มเหล่านี้ได้แล้ว

ผมเชื่อว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนกำหนดนโยบายการทูตและนโยบายทางด้านความมั่นคงต่อเอเชียกลาง โดยเน้นไปที่ความพยายามในการยกระดับเพิ่มพูนศักยภาพการต่อต้านการก่อการร้ายของชาติเพื่อนบ้านผู้อ่อนแอกว่าเหล่านี้ เพื่อรับมือกับวันเวลาซึ่งพวกหัวรุนแรงอิสลามิสต์มืออาชีพจะตัดสินใจประกาศว่า การสู้รบกับพวกนอกรีตนอกศาสนาชาวจีนในซินเจียง ในนามของอิสลามและในนามของชาวอุยกูร์นั้น เป็นการต่อสู้ซึ่งผู้ศรัทธาจำนวนมากๆ ควรจะเข้ามาร่วมแล้ว

ประการที่เจ็ด มีเงินทองมากมายจากภายนอก การที่ชาวซาอุดีให้ความสนับสนุนทางการเงินอยู่ในเชชเนียนั้นเป็นเรื่องที่ทราบกันแพร่หลายอยู่แล้ว โดยที่มีข่าวลืออันฉาวโฉ่เรื่องหนึ่งว่า เจ้าชายบันดาร์ บิน สุลต่าน (Prince Bandar bin Sultan) ซึ่งเวลานั้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองของซาอุดีอาระเบีย ได้หยิบยกปัญหาเชชเนียขึ้นมาข่มขู่ประธานาธิบดีปูติน ในช่วงที่รัสเซียเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวขึ้นที่เมืองโซชิ ทั้งนี้ถ้าหากรัสเซียไม่ยอมยกเลิกนโยบายถือหางสนับสนุนรัฐบาลซีเรีย

แต่อย่างน้อยที่สุดสำหรับสาธารณรัฐประชาชนจีนแล้ว โอกาสความเป็นไปได้ที่พวกชีคชาวซาอุดีจะผ่อนถ่ายโอนเงินทองและความสนับสนุนต่างๆ ให้แก่พวกกบฏชาวอุยกูร์ ยังคงอยู่ค่อนข้างห่างไกล เพราะนั่นย่อมจะเป็นการล่วงละเมิดและการสร้างแปลกแยกอย่างร้ายแรงให้แก่จีน ผู้เป็นลูกค้าซื้อหาน้ำมันและก๊าซจากตะวันออกกลางรายใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่ 21

ตราบเท่าที่สาธารณรัฐประชาชนจีนถูกปล่อยให้ใช้เครื่องไม้เครื่องมือของตนเอง และประชาคมชาวอุยกูร์ก็มีความแตกแยกกันภายใน ขณะที่ถูกโดดเดี่ยวจากความสนับสนุนภายนอกแล้ว โมเดลที่ใช้กับซินเจียงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งมีส่วนผสมทั้งนโยบายการแบ่งแยกแล้วปกครอง/การผสมกลมกลืน/การกดขี่ โดยที่ได้รับการหนุนหลังจากฐานะความเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกและมีระบบเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ก็มีลู่ทางโอกาสอยู่มากที่จะประสบความสำเร็จ

กระนั้นก็ตามที ปัจจัยต่างๆ ตั้งแต่ประการที่หนึ่ง จนถึงประการที่หก ก็ควรเป็นอาหารสมองให้สาธารณรัฐประชาชนจีนได้ขบคิดพิจารณากันเหนื่อยทีเดียว

หมายเหตุผู้แปล

(1) อิลฮัม โตห์ตี (Ilham Tohti) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอุยกูร์วัย 46 ปี ซึ่งกำลังรับโทษจำคุกตลอดชีวิตอยู่ในประเทศจีน ด้วยข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งแยกดินแดน เขาเกิดที่ซินเจียง ในปี 1969 และสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฝึกหัดครูภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeast Normal University) และคณะเศรษฐศาสตร์ของสถาบันการศึกษาซึ่งตั้งอยู่ในกรุงปักกิ่ง ที่เวลานั้นเรียกว่า “มหาวิทยาลัยชนชาติส่วนกลาง” (Central Nationalities University) ปัจจุบันใช้ชื่อว่า มหาวิทยาลัยหมินจู่แห่งประเทศจีน (Minzu University of China) โตห์ตี มีชื่อเสียงจากทำงานศึกษาวิจัยว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างชาวอุยกูร์กับชาวฮั่น, และจากการอุทิศตนเป็นปากเสียงเรียกร้องให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายปกครองตนเองของภูมิภาคต่างๆ ในประเทศจีน, ตลอดจนจากการก่อตั้งเว็บไซต์ “อุยกูร์ ออนไลน์” (Uyghur Online) ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ถกเถียงอภิปรายเกี่ยวกับประเด็นปัญหาต่างๆ ของชาวอุยกูร์ เขาถูกทางการจองจำเป็นระยะเวลาสั้นๆ ภายหลังเกิดเหตุจลาจลเมืองอูรุมชี เมืองเอกของซินเจียง ในเดือนกรกฎาคม 2009 เนื่องจากเขาวิพากษ์วิจารณ์นโยบายที่รัฐบาลจีนปฏิบัติต่อชาวอุยกูร์ในซินเจียง เวลาต่อมาเขาได้รับการปล่อยตัว ก่อนจะมาถูกจับกุมคุมขังอีกในเดือนมกราคม2014 โดยในคราวนี้ เขาถูกกักตัวอยู่ที่เรือนจำในซินเจียง ซึ่งอยู่ห่างหลายพันกิโลเมตรจากกรุงปักกิ่งที่ตัวเขาและครอบครัวพำนักอาศัยอยู่ เขาถูกพิจารณาคดีโดยศาลประชาชนชั้นกลางของเมืองอูรุมชี ในเดือนกันยายน 2014 และถูกตัดสินว่ามีความผิดจริงฐานแบ่งแยกดินแดน โดยต้องรับโทษจำคุกตลอดชีวิต รวมทั้งถูกยึดทรัพย์สินทั้งหมด ทางด้านกลุ่มสิทธิมนุษยชนทั้งภายในจีนและระดับระหว่างประเทศ รวมทั้งรัฐบาลประเทศตะวันตก ได้ออกมาประณามการคุมขังลงโทษโตห์ตี และเรียกร้องให้ปล่อยตัวเขาเป็นอิสระ สมาคมภาษาและหนังสืออเมริกัน (PEN American Center) ได้ประกาศมอบรางวัล “PEN/Barbara Goldsmith Freedom to Write Award ประจำปี 2014 แก่โตห์ตี (ข้อมูลจาก Wikipedia)

(2) รัมซัน คาดืย์รอฟ (Ramzan Kadyrov) เกิดเมื่อปี 1976 เวลานี้อายุ 39 ปี เขาเป็นประธานาธิบดีคนปัจจุบันของสาธารณรัฐปกครองตนเองเชชเนีย (Chechnya) ซึ่งอยู่ในสหพันธรัฐรัสเซีย โดยที่ในอดีตเขาเคยเป็นกบฎแบ่งแยกดินแดนอยู่ระยะหนึ่ง ทั้งนี้ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ขณะที่สหภาพโซเวียตล่มสลายแตกออกเป็นเสี่ยงๆ ชาวเชเชนได้ก่อการเรียกร้องเอกราช และกลายเป็นสงครามเชชเนียครั้งที่ 1 (First Chechen Warเดือนธันวาคม 1994 ถึงเดือนสิงหาคม 1996) ในสงครามคราวนั้น รัมซัน คาดืย์รอฟ ได้ร่วมกับ อัคหมัด คาดืย์รอฟ (Akhmad Kadyrov) ผู้เป็นบิดา ทำการสู้รบกับกองทัพรัสเซีย โดยที่ อัคหมัด ได้ประกาศทำสงครามญิฮัดกับรัสเซีย และได้เป็นหัวหน้านักการศาสนาผู้ทำหน้าที่ตีความกฎหมายชารีอะห์ (Mufti) ของพวกแบ่งแยกดินแดนเชชเนีย ทั้งในระหว่างและภายหลังสงครามเชชเนียครั้งที่ 1 แต่เมื่อสงครามเชชเนียครั้งที่สอง (Second Chechen War เดือนสิงหาคม 1999 – เดือนเมษายน 2009) ระเบิดขึ้น อัคหมัด และตระกูลคาดืย์รอฟ ก็ตัดสินใจเปลี่ยนข้างมาอยู่กับฝ่ายรัฐบาลรัสเซีย โดยที่ อัคหมัด ขึ้นเป็นผู้รักษาการหัวหน้าฝ่ายบริหารของเชชเนียตั้งแต่กลางปี 2000 และต่อมากลายเป็นประธานาธิบดีของสาธารณรัฐปกครองตนเองเชชเนีย ในเดือนตุลาคม 2003 ขณะที่ รัมซัน ก็กลายเป็นผู้นำของกองกำลังอาวุธท้องถิ่นของเขา ซึ่งได้รับความสนับสนุนจากองค์การความมั่นคงแห่งรัฐของรัสเซีย (เอฟเอสบี) หลังจากประธานาธิบดีอัคหมัด คาดืย์รอฟ บิดาของเขาถูกลอบสังหารไปในปี 2004 รัมซัน ได้รับแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรีของเชชเนีย จากนั้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2007 ก็ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดี ไม่นานนักหลังจากเขามีอายุครบ 30 ปีซึ่งเป็นอายุขั้นต่ำของผู้ที่จะสามารถนั่งเก้าอี้ตัวนี้ได้ ระหว่างอยู่ในตำแหน่งนี้ เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงทั้งจากสื่อมวลชนระหว่างประเทศและจากรัสเซีย สืบเนื่องจากถูกกล่าวหาว่าทุจริตคอร์รัปชั่นและละเมิดสิทธิมนุษยชน (ข้อมูลจาก Wikipedia)

ข้อเขียนชิ้นนี้เป็นการปรับปรุงจากบทความของ ปีเตอร์ ลี ว่าด้วยการรับมือของสาธารณรัฐประชาชนจีนต่อชนกลุ่มน้อยชาวอุยกูร์ของตนในซินเจียง โดยใช้ชื่อเรื่องว่า “The Stan That Never Was” ตีพิมพ์เผยแพร่ในฉบับปัจจุบันของ “เคาน์เตอร์พันช์ แมกกาซีน” (CounterPunch Magazine) นิตยสารรายเดือนในรูปสิ่งพิมพ์และดิจิตอล ซึ่งจำหน่ายจ่ายแจกให้เฉพาะผู้ที่บอกรับเป็นสมาชิก ทั้งนี้สามารถบอกรับได้ที่ http://store.counterpunch.org/print-subscription/

ปีเตอร์ ลี เป็นนักเขียนที่สนใจเรื่องกิจการเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ ตลอดจนจุดตัดกันระหว่างภูมิภาคเหล่านี้กับนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ สามารถอ่านบทความของเขาได้ที่เว็บบล็อกของเขาชื่อ China Matters (http://chinamatters.blogspot.com/)
กำลังโหลดความคิดเห็น