xs
xsm
sm
md
lg

คกก.รัฐสภาบราซิลหนุนถอดถอน “ดิลมา รุสเซฟฟ์” พ้นตำแหน่งประธานาธิบดี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สมาชิกคณะกรรมการรัฐสภาว่าด้วยการถอดถอนประธานาธิบดี ต่างแสดงความดีอกดีใจ หลังเสร็จสิ้นการโหวตที่อาคารรัฐสภา กรุงบราซิเลีย เมื่อวันที่ 11 เม.ย.
เอเอฟพี - คณะกรรมการรัฐสภาบราซิลมีมติสนับสนุนให้ถอดถอนประธานาธิบดี ดิลมา รุสเซฟฟ์ ออกจากตำแหน่งเมื่อวานนี้ (11 เม.ย.) ซึ่งถือเป็นขั้นตอนสำคัญก่อนจะมีการโหวตแบบเต็มคณะในสภาผู้แทนราษฎรสัปดาห์หน้า

คณะกรรมการ 65 คนได้ลงคะแนนโหวต 38 ต่อ 27 เสียงสนับสนุนให้ขับรุสเซฟฟ์ออกจากตำแหน่งผู้นำประเทศ หลังใช้เวลาในการดีเบตอย่างเผ็ดร้อนนานหลายชั่วโมง โดยทั้งสองฝ่ายต่างป่าวร้องสโลแกนและชูป้ายข้อความสนับสนุนจุดยืนของฝ่ายตน

มติของคณะกรรมการชุดนี้ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย แต่ก็เป็นปรากฏการณ์เชิงสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงแนวโน้มการลงมติชี้ขาดโดยสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 17 หรือจันทร์ที่ 18 เม.ย. นี้

“นี่คือชัยชนะของชาวบราซิลทุกคน” โฆแวร์ อารันเตส ส.ส.ฝ่ายค้าน ให้สัมภาษณ์ พร้อมทำนายว่าผลการโหวตนี้จะส่งอิทธิพลอย่างสูงต่อการโหวตของสภาผู้แทนราษฎรในสัปดาห์หน้า

ทั้งนี้ หากสภาผู้แทนราษฎรโหวต “ถอดถอน” ด้วยคะแนนเสียงเกิน 2 ใน 3 เรื่องจะถูกส่งต่อไปยังวุฒิสภา ซึ่งจะมีอำนาจเปิดการไต่สวนและขับรุสเซฟฟ์พ้นเก้าอี้ประธานาธิบดีในที่สุด

รุสเซฟฟ์ ซึ่งถูกกล่าวหาว่าตกแต่งบัญชีเพื่อปกปิดสถานะทางการคลังที่ย่ำแย่ของรัฐบาลในช่วงที่เธอลงสมัครรับเลือกตั้งรอบสอง ในปี 2014 พยายามดิ้นรนอย่างเต็มกำลังเพื่อหาแนวร่วมคัดค้านการถอดถอนให้ได้มากพอ หรือไม่ก็โน้มน้าวให้ ส.ส.บางส่วนงดออกเสียง

จากการสำรวจความคิดเห็น ส.ส. จำนวน 513 คนในสภาล่างโดยหนังสือพิมพ์รายวันเอสตาดาโอ เมื่อวานนี้ (11) พบว่ามี ส.ส.เพียง 298 คนที่ตัดสินใจจะโหวตถอดถอนรุสเซฟฟ์ ในขณะที่ญัตตินี้ต้องได้เสียงสนับสนุนไม่ต่ำกว่า 342 เสียงจึงจะดำเนินการต่อได้ ส่วนฟาก ส.ส.ที่คัดค้านการโหวตถอดถอนประธานาธิบดีมีอยู่ 119 คน และต้องได้มากถึง 172 เสียงจึงจะล้มญัตตินี้ได้

ดังนั้น ผลการโหวตในสภาผู้แทนราษฎรสัปดาห์หน้าจึงขึ้นอยู่กับ ส.ส.อีก 96 คนที่ยังไม่ตัดสินใจ หรือยังไม่เปิดเผยจุดยืนของตนในขณะนี้
ภาพประธานาธิบดี ดิลมา รุสเซฟฟ์ (เสื้อแดง) และอดีตประธานาธิบดี ลูอิซ อินาซิโอ ลุลา ดา ซิลวา (ที่ 2 จากขวา) ซึ่งถูกนำมาใช้ในการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล
ทางการบราซิลได้นำแผงเหล็กมากั้นบริเวณ Esplanade of Ministries ซึ่งเป็นที่ตั้งกระทรวงต่างๆ ใจกลางกรุงบราซิเลียเพื่อแยกผู้ประท้วงสองฝ่ายออกจากกัน โดยตำรวจคาดว่าจะมีผู้ชุมนุมหลั่งไหลมามากถึง 300,000 คนระหว่างที่มีการโหวตถอดถอนประธานาธิบดีในสภาผู้แทนราษฎรสัปดาห์หน้า

เว็บไซต์ข่าว G1 รายงานว่า รัฐบาลได้ระดมตำรวจและพนักงานดับเพลิงมากกว่า 4,000 นายเพื่อควบคุมสถานการณ์ และเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยอาคารรัฐสภาอย่างเข้มงวด

ทั้งนี้ หากสภาผู้แทนราษฎรมีมติเกิน 2 ใน 3 ให้ถอดถอนรุสเซฟฟ์ เรื่องจะถูกส่งต่อไปยังวุฒิสภา ซึ่งจะมีการโหวตอีกครั้งว่าจะไต่สวนความผิดของประธานาธิบดีหรือไม่ หากวุฒิสภาโหวตสนับสนุนด้วยเสียงส่วนใหญ่ ประธานาธิบดีหญิงจะถูกปลดจากตำแหน่งชั่วคราวในช่วง 180 วันที่การไต่สวนยังดำเนินอยู่ โดยให้รองประธานาธิบดี มิเชล ทีเมอร์ ซึ่งแปรพักตร์ไปเข้ากับพวกฝ่ายค้าน ขึ้นมารับตำแหน่งแทน

ทีเมอร์จะได้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของบราซิลอย่างสมบูรณ์ หากวุฒิสภาลงมติถึง 2 ใน 3 ให้ปลดรุสเซฟฟ์ออกจากตำแหน่ง

ส.ส.ฝ่ายค้านบางคนถึงกับประกาศว่า รุสเซฟฟ์ “ตายแล้วในทางการเมือง” ตั้งแต่ทีเมอร์ ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคแนวร่วมประชาธิปไตยบราซิล (PMDB) นำลูกพรรคของตนถอนตัวออกจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลเมื่อวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม รุสเซฟฟ์ยังคงได้รับการหนุนหลังจากพันธมิตรสำคัญอย่างอดีตประธานาธิบดี ลูอิซ อินาซิโอ ลุลา ดา ซิลวา ซึ่งกำลังเร่งเจรจาเพื่อหาแนวร่วมมาสกัดการโหวตถอดถอนเธอ
รองประธานาธิบดี มิเชล ทีเมอร์ หัวหน้าพรรคแนวร่วมประชาธิปไตยบราซิล (PMDB) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองใหญ่ที่สุดของแดนแซมบ้า
กระบวนการถอดถอนรุสเซฟฟ์จะถือเป็นการปลดประธานาธิบดีครั้งแรกในรอบกว่า 20 ปี หลังจากกรณีของอดีตประธานาธิบดี เฟอร์นันโด กอลลอร์ เดอ เมลโล ซึ่งถูกวุฒิสภาไต่สวนข้อหาคอร์รัปชันเมื่อปี 1992

แม้คะแนนนิยมของรุสเซฟฟ์จะต่ำเตี้ยเรี่ยดิน แต่ผลสำรวจก็พบว่าชาวบราซิลส่วนใหญ่ไม่ได้ชื่นชอบในตัวว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่อย่างทีเมอร์นัก

ผลสำรวจโดยสถาบันดาตาฟอลฮา (Datafolha) เมื่อวันเสาร์ (9) พบว่า ชาวบราซิลร้อยละ 61 สนับสนุนกระบวนการถอดถอนรุสเซฟฟ์ ลดลงจากช่วงกลางเดือน มี.ค. ซึ่งมีผู้สนับสนุนถึงร้อยละ 68

ผลสำรวจยังพบว่า ชาวบราซิลร้อยละ 58 ต้องการให้ทีเมอร์ถูกถอดถอนด้วยเช่นกัน

บราซิลเคยได้ชื่อว่าเป็นประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่มีแนวโน้มเติบโตเร็วที่สุดเช่นเดียวกับ จีน อินเดีย และรัสเซีย แต่ในปีที่แล้วเศรษฐกิจบราซิลกลับหดตัวถึง 3.8% และยังถูกหั่นเรตติ้งความน่าเชื่อถือลงไปถึงขั้น “ขยะ” (junk)

รัฐบาลบราซิลยังเผชิญปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสซิกา ในขณะที่กำลังจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนที่นครรีโอเดจาเนโรในเดือน ส.ค.นี้

กำลังโหลดความคิดเห็น