xs
xsm
sm
md
lg

รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ “จอห์น เคร์รี” เยือนอนุสรณ์สันติภาพ “ฮิโรชิมา” ย้ำเตือนทั่วโลกปลดอาวุธนิวเคลียร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รอยเตอร์ - จอห์น เคร์รี สร้างประวัติศาสตร์เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศคนแรกของสหรัฐฯ ที่เดินทางไปเยือนอนุสรณ์สันติภาพเมืองฮิโรชิมาในวันนี้ (11 เม.ย.) เพื่อแสดงความเคารพแด่ดวงวิญญาณชาวญี่ปุ่นนับแสนที่ตกเป็นเหยื่อระเบิดปรมาณูในปี 1945 โดยเขาระบุว่า พิพิธภัณฑ์และอนุสรณ์ที่ฮิโรชิมาเป็นสิ่งเตือนใจให้นานาชาติตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องทำให้โลกนี้ปลอดจากอาวุธนิวเคลียร์


ระหว่างการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน เคร์รีระบุว่า ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ซึ่งจะเดินทางมาประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ G7 ที่ญี่ปุ่นในเดือน พ.ค. ปรารถนาที่จะมาเยือนฮิโรชิมาด้วยตนเอง แต่ไม่แน่ใจว่ากำหนดการที่ค่อนข้างแน่นจะเปิดโอกาสให้ทำเช่นนั้นได้หรือไม่

เคร์รี และบรรดารัฐมนตรีกลุ่ม G7 ได้มีถ้อยแถลงร่วมยืนยันถึงเจตนารมณ์ที่จะทำให้โลกนี้ปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ ทว่าความพยายามนี้ยังคงเผชิญอุปสรรคจากการยั่วยุของเกาหลีเหนือ ตลอดจนสถานการณ์ความมั่นคงที่ย่ำแย่ในซีเรียและยูเครน

รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ, แคนาดา, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อิตาลี, ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ต่างนำพวงหรีดสีขาวไปวางที่หน้าอนุสรณ์สันติภาพ ซึ่งถูกสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหยื่อระเบิดปรมาณูเมื่อวันที่ 6 ส.ค. ปี 1945 ซึ่งทำให้ฮิโรชิมาทั้งเมืองกลายเป็นทะเลเพลิง และคร่าชีวิตชาวญี่ปุ่นไปมากถึง 140,000 คนภายในสิ้นปีนั้น

เคร์รียังได้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ซึ่งจัดแสดงภาพถ่ายและสิ่งของที่บ่งบอกถึงความสูญเสียจากอานุภาพทำลายล้างของระเบิดปรมาณู เช่น ภาพถ่ายเหยื่อที่ถูกไฟเผาไหม้ร่างกาย เศษเสื้อผ้า และรูปปั้นที่คนเนื้อหนังหลุดร่อนออกจากแขนขา

“นี่คือสิ่งย้ำเตือนถึงความสำคัญของภารกิจที่พวกเราทุกคนต้องร่วมมือกันทำ... นั่นคือการสร้างและส่งเสริมให้โลกนี้ปลอดจากอาวุธนิวเคลียร์” เคร์รีแถลงต่อสื่อมวลชน

เคร์รีไม่ใช่เจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดของสหรัฐฯ ที่เคยไปเยือนอนุสรณ์สันติภาพและพิพิธภัณฑ์ที่ฮิโรชิมา เนื่องจากสถานะดังกล่าวตกเป็นของ แนนซี เพโลซี ซึ่งเดินทางไปที่ฮิโรชิมาในปี 2008 ขณะที่เธอดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร

อย่างไรก็ตาม เคร์รียังนับว่าเป็นเจ้าหน้าที่สูงสุดของ “ฝ่ายบริหาร” สหรัฐฯ ที่ได้ทำเช่นนี้

หลังเสร็จสิ้นพิธีไว้อาลัย เด็กนักเรียนญี่ปุ่นซึ่งยืนตั้งแถวโบกสะบัดธงชาติ 7 ประเทศก็ได้มอบพวงมาลัยที่ทำจากนกกระสากระดาษให้แก่เหล่ารัฐมนตรี ตามสีธงชาติของแต่ละประเทศ

เคร์รียังเชิญชวนรัฐมนตรีอีก 6 ชาติให้เดินไปชมอนุสรณ์โดมปรมาณู ซึ่งเป็นโครงสร้างเพียงหนึ่งเดียวที่ยังเหลือรอดมาได้ ทั้งที่อยู่ไม่ไกลจากศูนย์กลางของการระเบิด และปัจจุบันได้ถูกประกาศให้เป็นมรดกโลก

เพียง 3 วันหลังจากที่เครื่องบินสหรัฐฯ ได้ทิ้งระเบิดปรมาณูลูกแรกลงเหนือท้องฟ้าเมืองฮิโรชิมา เมืองท่านางาซากิก็ถูกทิ้งบอมบ์ในวันที่ 9 ส.ค. ปี 1945 และรัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศยอมแพ้สงครามในอีก 6 วันให้หลัง

ผู้สังเกตการณ์มองว่า การเยือนของ เคร์รีในวันนี้ (11) อาจเป็นการ “ปูทาง” ก่อนที่โอบามาจะมาประชุมซัมมิต G7 ที่ญี่ปุ่นในเดือนหน้า และหากเขาเจียดเวลาไปเยือนอนุสรณ์สันติภาพที่ฮิโรชิมา ก็จะถือเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในตำแหน่งคนแรกที่ทำเช่นนี้

เคร์รียืนยันว่า ตนจะกลับไปพูดคุยกับโอบามาถึงความสำคัญของการเยือนอนุสรณ์สถานที่ฮิโรชิมา แต่ยังตอบไม่ได้ว่าผู้นำสหรัฐฯ จะทำเช่นเดียวกับตนหรือไม่

โอบามาเสี่ยงที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงหากตัดสินใจมาเยือนฮิโรชิมา เพราะคนอาจมองว่าเขากำลัง “ขออภัย” ในสิ่งที่สหรัฐฯ ได้ทำกับญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ยังมองว่าการทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมาและนางาซากิเป็นสิ่งชอบธรรม เพราะช่วยรักษาชีวิตผู้คนอีกจำนวนมากไว้ ในขณะที่ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากไม่คิดเช่นนั้น

นักประวัติศาสตร์บางคนชี้ว่า การสูญเสียที่ฮิโรชิมาและนางาซากิได้ช่วยชีวิตพลเมืองโลกอีกนับล้านๆ คนที่อาจจะต้องตายหากกองทัพญี่ปุ่นสามารถเดินตามแผนรุกรานที่วางไว้ ในขณะที่นักวิจารณ์บางรายกลับมองว่า การยุติสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่จำเป็นต้องใช้ระเบิดปรมาณูเข้าช่วย เพราะถึงอย่างไรเสียกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นก็มีแนวโน้มที่จะแพ้แน่นอนอยู่แล้ว










กำลังโหลดความคิดเห็น