รอยเตอร์/เอเอฟพี - รัฐบาลจีนใช้มาตรการจำกัดการเสนอข่าวเกี่ยวกับชุดเอกสาร “ปานามา เปเปอร์ส” ซึ่งเปิดโปงพฤติกรรมการเลี่ยงภาษีของนักการเมืองระดับผู้นำประเทศ มหาเศรษฐี และบุคคลที่มีชื่อเสียงทั่วโลก โดยบล็อกคำค้นหาและลบบทความบางชิ้นที่มีเนื้อหาพัวพันถึงบุคคลในรัฐบาลจีน
เอกสารลับกว่า 11 ล้านฉบับที่รั่วไหลออกมาจากบริษัทกฎหมาย มอสแซก ฟอนเซกา สัญชาติปานามา ได้เปิดโปงพฤติกรรมการซุกซ่อนทรัพย์สินของนักการเมืองและบุคคลผู้มีชื่อเสียงหลากหลายวงการ รวมไปถึงเพื่อนของประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย, ญาติของอดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ ไอซ์แลนด์ ปากีสถาน และประธานาธิบดียูเครน เป็นต้น
สมาคมผู้สื่อข่าวสายสอบสวนนานาชาติ (ICIJ) ซึ่งได้ตีแผ่เนื้อหาบางส่วนจากเอกสารชุดนี้ ระบุว่า เอกสารของ มอสแซก ฟอนเซกา ยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทต่างชาติที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับครอบครัวของประธานาธิบดี สี่ จิ้นผิง ตลอดจนผู้นำระดับสูงของจีนอีกหลายคนทั้งในอดีตและปัจจุบัน
แม้การมีเงินสดอยู่ในบริษัทต่างชาติจะไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย แต่ผู้สื่อข่าวที่ได้เอกสารชุดนี้มาระบุว่า มันอาจจะใช้เป็นหลักฐานเปิดโปงการเลี่ยงภาษี การฟอกเงิน การหลบเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตร การค้ายาเสพติด และอาชญากรรมในรูปแบบอื่นๆ
แม้สำนักข่าวสารของคณะรัฐมนตรีจีนจะยังไม่ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อมูลใน “ปานามา เปเปอร์ส” แต่สื่อใหญ่ๆ ที่เป็นกระบอกเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเริ่มหลีกเลี่ยงการเสนอข้อมูลอย่างเห็นได้ชัด
หากพิมพ์คำว่า “Panama” เพื่อค้นข้อมูลผ่านเสิร์ชเอนจินของจีนก็จะยังเห็นบทความที่เกี่ยวข้องอยู่ แต่หลายลิงก์ไม่สามารถเข้าถึงได้ หรือไม่ก็เปิดให้เฉพาะลิงก์ที่เกี่ยวข้องกับการเลี่ยงภาษีของนักกีฬาดังๆ เท่านั้น
ทั้งนี้ หากใส่คีย์เวิร์ด “Panama Papers” เป็นภาษาจีน ก็จะมีคำเตือนขึ้นมาว่า บทความเหล่านี้ “ขัดต่อกฎหมายและข้อบังคับ จึงไม่สามารถแสดงได้”
หน่วยงานที่กำกับดูแลการใช้อินเทอร์เน็ตในจีนยังปฏิเสธที่จะตอบคำถามเรื่องนี้
หนังสือพิมพ์โกลบอล ไทม์ส ซึ่งเป็นสื่อแทบลอยด์ทรงอิทธิพลในเครือเดียวกับพีเพิลส์ เดลี ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้ระบุในบทบรรณาธิการฉบับวันนี้ (5) ว่า สื่อตะวันตกที่สหรัฐฯ คอยหนุนหลังอยู่มักจะใช้เอกสารรั่วไหลเหล่านี้เป็นเครื่องมือโจมตีประเทศที่มิใช่ตะวันตก
“สื่อตะวันตกมักจะผูกขาดการตีความทุกครั้งที่มีการเปิดโปงชุดเอกสารเช่นนี้ออกมา และวอชิงตันก็มีอิทธิพลอย่างยิ่งในเรื่องนี้”
“ข้อมูลใดๆ ก็ตามที่เป็นผลเสียต่อสหรัฐฯ จะถูกปกปิด แต่ถ้าเกี่ยวกับผู้นำที่มิใช่ยุโรป เช่น ประธานาธิบดีปูติน จะถูกกระพือข่าวเสียใหญ่โต”
บทบรรณาธิการของโกลบอลไทม์สซึ่งตีพิมพ์ทั้งในเวอร์ชันภาษาอังกฤษและจีน ไม่ได้เอ่ยถึงความเชื่อมโยงระหว่างบุคคลสำคัญของจีนกับข้อมูลในปานามา เปเปอร์ส แม้แต่น้อย
ชุดเอกสารของ มอสแซก ฟอนเซกา ได้ระบุชื่อสมาชิกคณะกรรมการประจำกรมการเมืองของจีน (Politburo Standing Committee) ทั้งในอดีตและปัจจุบันอย่างน้อย 8 คน นอกจากนี้ ยังมีชื่อของ “เติ้ง เจียกุย” พี่เขยของประธานาธิบดี สี่ จิ้นผิง ซึ่งไปเปิดบริษัท 2 แห่งไว้ที่หมู่เกาะบริติชเวอร์จินเมื่อปี 2009 โดยขณะนั้น สี่ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการประจำกรมการเมือง แต่ยังไม่ได้เป็นประธานาธิบดี
บุตรสาวของอดีตนายกรัฐมนตรี หลี่ เผิง ซึ่งดำรงตำแหน่งระหว่างปี 1987-1998 ก็มีชื่ออยู่ในเอกสารปานามา เปเปอร์ส ด้วยเช่นกัน