xs
xsm
sm
md
lg

FBI แฮก “ไอโฟน” มือปืนซานเบอร์นาดิโนสำเร็จ-ยกเลิกคำสั่งศาลบีบ “แอปเปิล” ทรยศลูกค้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รอยเตอร์ - กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ประกาศวานนี้ (28 มี.ค.) ว่าเจ้าหน้าที่สำนักงานสอบสวนกลาง (เอฟบีไอ) สามารถปลดล็อกไอโฟนของมือปืนกราดยิงเมืองซานเบอร์นาดิโนได้สำเร็จแล้ว และจะยุติการใช้อำนาจศาลกดดันบริษัท แอปเปิล อิงค์ ทำให้การต่อสู้ทางกฎหมายซึ่งอุตสาหกรรมไอทีทั่วโลกเฝ้าจับตามองปิดฉากลงอย่างกะทันหัน โดยทิ้งความค้างคาใจเรื่องสิทธิในการปกป้องข้อมูลส่วนตัว

การยุติเผชิญหน้าครั้งนี้ถือว่าเป็นชัยชนะสำหรับแอปเปิล ซึ่งที่ผ่านมาได้ยืนหยัดคัดค้านคำสั่งศาลซึ่งขอให้บริษัทผลิตซอฟต์แวร์ใหม่ที่จะช่วยลบรหัสความปลอดภัยของไอโฟนได้

อย่างไรก็ดี การต่อสู้ในภาพรวมยังไม่จบลงง่ายๆ เพราะบริษัทเทคโนโลยีต่างยึดถือจุดยืนที่ว่า การช่วยรัฐบาลเจาะรหัสลับของผลิตภัณฑ์ไอทีไม่ว่าจะรูปแบบใดก็ตาม อาจบั่นทอนความปลอดภัยของผู้ใช้ทุกคน ในขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐส่วนใหญ่อ้างว่าการสอบสวนคดีอาชญากรรมจะมีอุปสรรคอย่างมาก หากไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลโทรศัพท์ของคนร้ายได้

การงัดข้อทางกฎหมายครั้งนี้เกิดจากกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ต้องการสืบเบาะแสเพิ่มเติมจากไอโฟนของ ซายเอ็ด ริซวาน ฟารุก มือปืนชาวมุสลิมที่ร่วมกับภรรยา ตัชฟีน มาลิก ก่อเหตุกราดยิงงานปาร์ตี้ในศูนย์พัฒนาผู้พิการที่เมืองซานเบอร์นาดิโนจนมีผู้เสียชีวิต 14 ราย บาดเจ็บอีก 22 คน เมื่อเดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว โดยสองผัวเมียถูกตำรวจวิสามัญทั้งคู่

หลังจากที่ยืนยันต่อศาลและสภาคองเกรสมาตลอดหลายสัปดาห์ว่าแอปเปิลครอบครอง “กลวิธีทางเทคนิคเฉพาะตัว” (exclusive technical means) ที่จะช่วยปลดล็อกไอโฟนเครื่องนี้ได้ ในที่สุดกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ก็ออกมาประกาศอย่างเหนือความคาดหมายเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า มี “กลุ่มบุคคลที่ 3” เสนอวิธีที่อาจจะสามารถปลดล็อกรหัสความปลอดภัยของไอโฟนคนร้าย โดยไม่ต้องขอความช่วยเหลือจากแอปเปิล
ซายเอ็ด ฟารุก (ขวา) และ ตัชฟีน มาลิก สองสามีภรรยาชาวมุสลิมที่ก่อเหตุกราดยิงคนตาย 14 ศพ ที่เมืองซานเบอร์นาดิโน
จากข้อมูลในเอกสาร 2 หน้ากระดาษที่ยื่นต่อศาลวานนี้ (28) กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ระบุว่า รัฐบาล “สามารถเข้าถึงข้อมูลที่บันทึกอยู่ในไอโฟนของฟารุก และไม่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากแอปเปิลอีกต่อไป” พร้อมขอให้ศาลแขวงเมืองริเวอร์ไซด์ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ยกเลิกคำสั่งบังคับให้แอปเปิลต้องร่วมมือกับทางการ

แอปเปิลโต้แย้งมาโดยตลอดว่า คำขอจากทางการสหรัฐฯ ตลอดจนคำสั่งศาลที่ติดตามมานั้นถือเป็นการใช้อำนาจอย่างไร้ขอบเขตบังคับให้บริษัทเอกชนต้องกลายเป็นตัวแทน (agents) ของรัฐ นอกจากนี้ สภาคองเกรสก็ไม่ได้ให้อำนาจรัฐในการบีบบังคับเอกชนให้ช่วยสอดแนมทางอิเล็กทรอนิกส์และรวบรวมข้อมูล

บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำกว่า 20 แห่ง รวมถึงกูเกิล เฟซบุ๊ก และไมโครซอฟท์ ได้ประกาศสนับสนุนจุดยืนของแอปเปิล ขณะที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ก็ได้รับการหนุนหลังจากองค์กรบังคับใช้กฎหมาย และญาติ 6 คนของเหยื่อที่เสียชีวิตในเหตุกราดยิง

การที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ค้นพบวิธีแฮกไอโฟนยังก่อให้เกิดคำถามสำคัญที่ว่า ข้อมูลนี้ควรจะถูกเปิดเผยออกมาในรูปแบบใด หากรัฐบาลยอมเปิดเผยกลวิธีให้แอปเปิลทราบ ทางบริษัทก็อาจจะแก้ไขจุดอ่อนทันที และทำให้เทคนิคใหม่ที่กระทรวงค้นพบใช้ไม่ได้ผลในอนาคต แต่หากรัฐบาลเลือกเก็บงำข้อมูลเอาไว้ ก็จะทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาในระบบความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์แอปเปิล

กำลังโหลดความคิดเห็น