xs
xsm
sm
md
lg

กรีซเริ่มย้ายผู้อพยพจากพรมแดนมาเซโดเนีย แต่อีกเรือนหมื่นยังปักหลักมั่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี / เอเจนซีส์ / MGR online - ทางการกรีซเริ่มการอพยพเหล่าผู้อพยพออกจากค่ายอิโดเมนี ที่ตั้งอยู่บริเวณรอยต่อพรมแดนติดต่อกับมาเซโดเนีย ขณะที่คลื่นการไหลบ่าของผู้อพยพที่เดินทางเข้าสู่หมู่เกาะต่างๆ ของกรีซในทะเลอีเจียนเริ่มลดน้อยถอยลง

รายงานข่าวในวันเสาร์ (26 มี.ค.) ซึ่งอ้างการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องถิ่นระบุว่า รัฐบาลกรีซใช้รถบัสโดยสาร จำนวน 8 คัน ในการเคลื่อนย้ายผู้อพยพราว 400 ราย ออกจากค่ายดังกล่าวที่ตั้งอยู่ติดกับชายแดนมาเซโดเนียตั้งแต่วันศุกร์ (25) เพื่อส่งไปยังค่ายผู้อพยพแห่งอื่นๆ ที่อยู่ห่างออกไป ขณะที่รถบัสอีกนับสิบคันยังคงจอดรอบรรดาผู้อพยพที่ยังคงไม่เต็มใจจะเดินทางออกจากแนวพรมแดนกรีซ-มาเซโดเนีย ที่ถูกปิดตายมาตั้งแต่ต้นเดือนนี้

รายงานข่าวระบุว่า ผู้อพยพที่ตัดสินใจขึ้นรถบัสโดยสารกลุ่มแรกๆ ส่วนใหญ่เป็นบรรดาพ่อแม่ที่มีลูกเล็กๆ ซึ่งไม่อาจทนต่อสภาพความยากลำบากในค่ายอิโดเมนีได้อีกต่อไป

อย่างไรก็ดี ตัวเลขผู้อพยพที่ยังปักหลักรอคอยการเปิดพรมแดนกรีซ-มาเซโดเนีย ต่อไปอย่างมีความหวัง ยังคงมีจำนวนถึง 11,603 ราย ตามการสำรวจล่าสุดของทางการกรีซ

ในอีกด้านหนึ่งมีรายงานว่า คลื่นการไหลบ่าของผู้อพยพที่เดินทางเข้าสู่หมู่เกาะต่างๆ ของกรีซในทะเลอีเจียนเริ่มลดน้อยถอยลงแล้ว โดยที่วันพฤหัสบดี (24) ที่ผ่านมา หน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองของกรีซเปิดเผยว่า ไม่มีผู้อพยพแม้แต่รายเดียวที่เดินทางเข้าสู่หมู่เกาะต่างๆ ของตนในทะเลอีเจียน ในรอบ 24 ชั่วโมง ซึ่งถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ที่มีการบรรลุข้อตกลงระหว่างสหภาพยุโรป (อียู) กับตุรกีเพื่อยุติการไหลบ่าของผู้อพยพที่มีผลในทางปฏิบัติตั้งแต่ช่วงสุดสัปดาห์ที่แล้ว

ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว ผู้อพยพทั้งหมดที่เดินทางถึงหมู่เกาะต่างๆ ของกรีซในทะเลอีเจียนจะต้องถูกส่งกลับไปยังตุรกีโดยไม่มีเงื่อนไขในทันที

ในเวลานี้ รัฐบาลกรีซยังคงต้องแบกรับผู้อพยพลี้ภัยไว้ในประเทศของตนมากกว่า 50,200 ราย ขณะที่รัฐบาลกรีซกำลังดำเนินมาตรการต่างๆ ที่จำเป็นเพื่อส่งตัวผู้อพยพเหล่านี้ไปยังตุรกี ซึ่งรวมถึงการระดมกำลังเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง และผู้เชี่ยวชาญด้านการลี้ภัยจำนวนกว่า 4,000 คน

ด้านบรรดาองค์กรการกุศลอย่างกลุ่มแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) International Rescue Committee รวมถึงสภาผู้อพยพแห่งนอร์เวย์ ต่างออกโรงวิพากษ์วิจารณ์ข้อตกลงสกัดกั้นผู้อพยพระหว่างอียูกับตุรกีว่าเกิดขึ้นโดยไม่คำนึงถึงหลักศีลธรรมจรรยา และส่งผลกระทบต่อความพยายามขององค์กรการกุศลทั้งหลายในการช่วยเหลือเหล่าผู้อพยพที่ดำเนินการไว้ก่อนหน้านี้

ในปี 2015 จำนวนผู้อพยพมากกว่า 1 ล้านคน ได้ไหลบ่าเข้าสู่ยุโรป โดยที่ราวครึ่งหนึ่งในจำนวนนี้เป็นผู้อพยพชาวซีเรียที่หลบหนีสงครามกลางเมืองมาจากประเทศบ้านเกิด ขณะที่เยอรมนีกลายเป็นประเทศปลายทางที่ต้องแบกรับภาระในการรับผู้อพยพเหล่านี้เอาไว้มากที่สุด

ข้อมูลระบุด้วยว่า ในจำนวนผู้อพยพจำนวนดังกล่าวที่ไหลบ่าเข้าสู่ยุโรปนั้น มีกว่า 850,000 ราย ที่ใช้เส้นทางอพยพจากตุรกีเข้าสู่กรีซผ่านทางทะเลอีเจียน ซึ่งเส้นทางนี้ได้คร่าชีวิตผู้อพยพระหว่างการเดินทางไปมากกว่า 300 ราย



กำลังโหลดความคิดเห็น