เอเจนซีส์ / MGR online – ทางการสโลวีเนียประกาศในวันอังคาร (8 มี.ค.) จะเดินหน้าปฏิเสธการเดินทางผ่านดินแดนของตนของเหล่าผู้อพยพ หวังปิดตายเส้นทางอพยพผ่านคาบสมุทรบอลข่าน ที่ก่อนหน้านี้เคยถูกใช้เป็นทางผ่านสำหรับแสวงหา “ชีวิตใหม่ที่ดีกว่า” ในยุโรปของผู้อพยพลี้ภัยจำนวนเรือนแสน
ท่าทีล่าสุดของทางการสโลวีเนียถูกคาดหมายว่า จะส่งผลกระทบไม่ต่างจากการล้มของ “โดมิโน” ไปยังประเทศอื่นๆ ในคาบสมุทรบอลข่าน โดยเฉพาะในกรณีของเซอร์เบียที่ล่าสุดประกาศเตรียมพิจารณา นำมาตรการที่คล้ายคลึงกันนี้มาบังคับใช้เพื่อสกัดกั้นคลื่นผู้อพยพเช่นเดียวกัน ขณะที่รัฐบาลของโครเอเชียและมาเซโดเนียก็คาดว่าจะมีท่าทีที่สอดคล้องกันในเรื่องนี้
ความเคลื่อนไหวล่าสุดของทางการสโลวีเนียในการปิดตายเส้นทางอพยพผ่านคาบสมุทรบอลข่าน มีขึ้นเพียง 1 วันหลังจากที่สหภาพยุโรป (อียู) บรรลุข้อตกลงที่กรุงบรัสเซลส์ของเบลเยียมร่วมกับรัฐบาลตุรกีในวันจันทร์ (7 มี.ค.) เกี่ยวกับการที่รัฐบาลอังการาจะต้องยอมรับตัวเหล่าผู้อพยพผิดกฏหมายทั้งหมดที่ทะลักเข้าสู่เกาะแก่งต่างๆ ของกรีซกลับคืนไป
ก่อนหน้านี้ ผู้อพยพลี้ภัยที่มีจำนวนมากกว่า 1 ล้านคน ได้เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลจากประเทศต่างๆในตะวันออกกลางและแอฟริกาตอนเหนือสู่ตุรกี ก่อนจะเดินทางข้ามทะเลอีเจียนและทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เพื่อมุ่งหน้าสู่กรีซที่เป็นสมาชิกอียูนับตั้งแต่ต้นปี 2015 เป็นต้นมา โดยผู้อพยพส่วนใหญ่ตั้งเป้าจะเดินทางต่อไปยังเยอรมนีหรือกลุ่มประเทศแถบสแกนดิเนเวียทางตอนเหนือของยุโรปเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่
อย่างไรก็ดี วิกฤตการไหลบ่าของผู้อพยพเข้าสู่ยุโรปที่ได้ชื่อว่าเป็นครั้งที่เลวร้ายที่สุด นับตั้งแต่มหาสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมานี้ ได้สร้างความแตกแยกอย่างหนักในหมู่สมาชิกของอียู ทั้งฝ่ายที่ต้องการเปิดประตูต้อนรับผู้อพยพ ที่นำโดยรัฐบาลเยอรมนี กับฝ่ายที่ต่อต้านการรับผู้อพยพแบบแข็งขัน คือ บรรดาประเทศต่างๆ ในยุโรปตะวันออก
ทั้งนี้ ในส่วนของตุรกีเองนั้น มีรายงานว่า รัฐบาลอังการาต้องแบกรับภาระในการดูแลผู้อพยพซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวซีเรียมากกว่า 2.7 ล้านคนแล้วในเวลานี้ และรัฐบาลตุรกีได้ถูกตำหนิจากสหภาพยุโรปถึงความล้มเหลว ในการสกัดกั้นการไหลบ่าของผู้อพยพสู่ยุโรปที่ยังคงมีจำนวนสูงถึงเกือบ 2,000 รายต่อวันในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา