xs
xsm
sm
md
lg

‘ระเบิด’รอเล่นงานรบ.ใหม่พม่า: โครงการเขื่อน ณ ชายแดนจีน

เผยแพร่:   โดย: สุธา รามาจันทรัน

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Will Myanmar’s new govt scrap Myitsone project?
By Sudha Ramachandran
16/03/2016

ปัจจัยด้านความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์ระหว่างพม่ากับจีน ผนวกกับสภาพการณ์ที่พม่าต้องพึ่งพิงจีนอย่างมหาศาล อาจส่งผลเป็นการบีบให้รัฐบาลใหม่ของพม่า ต้องนำแนวทางระวังหน้าปิดป้องหลังและปฏิบัติได้จริง ไปใช้ในการกำหนดชะตากรรมของโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าเจ้าปัญหา ซึ่งก็คือการตัดสินใจว่าจะสร้างหรือจะไม่สร้าง หลังจากที่โครงการถูกระงับนิ่งสนิทมาตั้งแต่ปี 2011 โดยเป็นผลจากที่ถูกกระแสต่อต้านรุนแรงมาก ทางด้านจีนก็ประมาณกัน จีนก็อาจจะต้องใช้ท่าทีระแวดระวังตัวสูงและมองการณ์ไกล เพราะรัฐบาล พรรคเอ็นแอลดีของพม่ามีแนวโน้มว่าจะเอียงไปซบโลกตะวันตก

ในช่วงเปลี่ยนผ่านอำนาจ ซึ่งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) กำลังก้าวขึ้นกุมอำนาจความเป็นรัฐบาลแห่งประเทศพม่านั้น ความไม่แน่นอนแห่งชะตากรรมของบรรดาโครงการสร้างปัจจัยพื้นฐานสารพัดโครงการที่มีจีนเป็นผู้สนับสนุนหลัก ก็กำลังก่อตัวในบรรยากาศอึมครึม

ในการนี้ โครงการที่สำคัญกว่าโครงการใดๆ คือโครงการสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า “มิตโสน” (Myitsone) มูลค่า 3,600 ล้านดอลลาร์ บนพื้นที่ของรัฐคะฉิ่น โครงการสร้างเขื่อนนี้เคยเป็นประเด็นความขัดแย้งร้อนแรง ถึงกับมีการเดินขบวนต่อต้านครั้งมโหฬารภายใต้การนำของนักเคลื่อนไหวคะฉิ่น ต่อมา ในเดือนกันยายน ปี 2011 รัฐบาลกึ่งทหารกึ่งพลเรือน ของประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ตัดสินใจออกคำสั่งระงับโครงการ

รัฐบาลเอ็นแอลดีที่กำลังก้าวเข้าสู่อำนาจการบริหารประเทศ หนีไม่พ้นจะต้องตัดสินชะตากรรมของโครงการเจ้าปัญหานี้

ที่ผ่านมา นโยบายต่างประเทศของเอ็นแอลดีมีความกระจ่างน้อยมาก ทั้งผู้นำพรรคและตัวพรรคเองต่างอ้อมๆ แอ้มๆ ที่จะให้ความกระจ่างในเรื่องนี้ตลอดช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

ผู้สันทัดกรณีบางท่านชี้ไปถึงประเด็นว่า อองซาน ซูจี ผู้นำเอ็นแอลดีมีความใกล้ชิดกับบรรดารัฐบาลชาติตะวันตก แล้วฟันธงว่ารัฐบาลเอ็นแอลดีจะเอียงกะเท่เร่ไปทางตะวันตก และจะตัดสินชะตากรรมของโครงการมิตโสน ไปในทางที่จะยกเลิกโครงการไปเลย

แน่นอนว่าการตัดสินใจในกรณีมิตโสน ไม่อาจจะกระทำกันได้ง่ายๆ นอกจากข้อเท็จจริงที่พม่ามีความใกล้ชิดเชิงภูมิศาสตร์กับจีนแล้ว พม่ายังจำเป็นต้องพึ่งพิงจีนอย่างเหนียวแน่น ใช่แต่เท่านั้น ยังต้องไม่ลืมบทบาท“ตัวป่วน”ที่จีนอาจนำมาใช้เพื่อโหมเชื้อความรู้สึกรุนแรงภายในความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ในระหว่างคนพม่ากับชนกลุ่มน้อย อันเป็นปัญหาสาหัสเรื้อรัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายในพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างประเทศพม่ากับประเทศจีน ปัจจัยเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะทำให้รัฐบาลใหม่ของพม่าต้องใช้ท่าทีระวังตัวแจ โดยต้องหลีกเลี่ยงไม่ไปกระตุ้นต่อมพิโรธของปักกิ่งให้กระฉูดไปถึงจุดระเบิดเปรี้ยงปร้าง

ยิ่งกว่านั้น ต้องไม่ลืมว่าการยกเลิกโครงการแบบไม่เหลือความหวังให้ได้ลุ้นได้รอกันเลยนั้น จะไปกระทบน้ำใจของฝ่ายทหารพม่า ทั้งนี้ เชื่อกันว่าในเรื่องการขับเคลื่อนให้โครงการเจ้าปัญหานี้ได้แจ้งเกิดนั้น บรรดาซูเปอร์บิ๊กพม่าได้ไปทำความตกลงมั่นเหมาะกับจีนไว้แล้ว ดังนั้น เอ็นแอลดีน่าจะอยากไปในแนวทางที่สามารถละเลี่ยงเพลิงพิโรธของเหล่าเจ้าพ่อท็อปบู้ท ภายในห้วงแห่งการถ่ายโอนอำนาจการบริหารปกครองประเทศ

กระนั้นก็ตาม ในอีกด้านหนึ่ง รัฐบาลเอ็นแอลดีจำต้องถนอมความรู้สึกของสาธารณชนอย่างสุดๆ ที่ผ่านมาการที่จีนเข้าครอบงำระบบเศรษฐกิจของพม่าอย่างลึกซึ้ง ได้สร้างความขุ่นเคืองรุนแรงภายในพม่า ในการนี้ โครงการมิตโสน คือภาพสะท้อนถึงสารพัดความผิดพลาดที่สะสมตัวขึ้นอย่างมากมายภายในความสัมพันธ์จีน-พม่า นับจากที่พม่าเดินนโยบายโดดเดี่ยวตนเองออกจากประชาคมโลกในทศวรรษ 1990

ทั้งนี้ ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา จีนมีบทบาทโดดเด่นอยู่ในพม่าใน 3 ฐานะ ได้แก่ การเป็นนักลงทุนรายใหญ่สุด การเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับสอง และการเป็นอภิมหาซัปพลายเออร์เบอร์ 1 ของวงการทหารพม่า ในปรากฏการณ์ทั้งหลายทั้งปวงนี้ รูปการแห่งความเป็นหุ้นส่วนระหว่างกันมิได้ส่งอานิสงส์ใดๆ ไปยังมวลชนพม่า กรณีข้อตกลงสร้างเขื่อนมิตโสน เป็นกรณีตัวอย่างที่ฉูดฉาดเป็นอย่างยิ่ง เพราะพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากเขื่อนนี้ ถูกกำหนดให้ส่งไปยังประเทศจีนในสัดส่วนถึง 90% ขณะที่ประชากรในพื้นที่จะต้องแบกรับผลกระทบอันเป็นต้นทุนมหาศาล ทั้งในทางเศรษฐกิจและสังคม อาทิ การถูกย้ายถิ่นออกจากที่อยู่ที่ทำกินเพื่อเปิดพื้นที่แก่การสร้างเขื่อน ไปจนถึงความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพนิเวศวิทยา

หากรัฐบาลเอ็นแอลดีเลือกจะให้ไฟเขียวแก่ข้อตกลงอันชั่วร้ายนี้ การตัดสินใจดังกล่าวจะเท่ากับการลงตราประทับรับรองแก่บรรดาข้อตกลงจีน-พม่าที่ไม่เท่าเทียมและบ่อนทำลายทรัพยากรธรรมชาติในทำนองนี้อีกนับจำนวนไม่ถ้วน พร้อมกับตอกย้ำความสัมพันธ์ทวิภาคีจีน-พม่าไปสู่ความลึกซึ้งแนบแน่นมากกว่าเดิมอีกด้วย

คำถามที่ต้องพิจารณาให้ดีคือ ท่าทีของอองซาน ซูจี น่าจะไปในทางใดต่อโครงการพลังงานเจ้าปัญหานี้

ที่ผ่านมา ซูจีได้แสดงให้เป็นที่ประจักษ์ว่าตนเป็นนักการเมืองที่ยึดอยู่ในโลกความเป็นจริง ซูจีอาจจะมีความใกล้ชิดกับชาติตะวันตก แต่ไม่น่าจะเป็นไปได้ว่าซูจีจะยกเลิกสารพันโครงการเพียงเพราะเป็นโครงการที่มีจีนเป็นโต้โผร่วม ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการรัฐสภาไต่สวนโครงการเหมืองทองแดงเล็ตปาตอง (Leptadaung) มูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์เมื่อปี 2013 ซูจีให้ความเห็นว่าควรฟื้นเหมืองทองแดงนี้ขึ้น แม้จะมีฝ่ายต่อต้านจากภายในท้องถิ่น โดยซูจีชี้ว่าการปิดเหมืองจะส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเสียความเชื่อมั่นและจะพากันตีจากพม่า

“เราต้องเดินหน้าต่อไป (กับจีน) ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ก็ตาม” ซูจีกล่าวกับชาวบ้านที่คัดค้านโครงการ

แนววิธีจัดการปัญหาในทำนองนี้ที่ให้ความระมัดระวังถึงผลกระทบ อาจจะเป็นแนวทางที่มีผลต่อการตัดสินใจของซูจีต่อโครงการมิตโสน ซูจีจะเดินเส้นทางสายกลาง

ขณะที่ต้องหลีกเลี่ยงการเลือกวิธียกเลิกโครงการ รัฐบาลเอ็นแอลดีจะใช้วิธีเจรจากันใหม่ในเรื่องรายละเอียดของสัญญาข้อตกลงโครงการ เพื่อให้ออกผลที่ดูแย่น้อยลงในสายตาของฝ่ายพม่า

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว อู ฮันถา มิ้นต์ (U Hantha Myint) ประธานคณะกรรมการเศรษฐกิจของเอ็นแอลดี กล่าวกับสำนักข่าวฝรั่งเศสว่า เอ็นแอลดีกำลังพิจารณาที่จะปรับโฉมโครงการ โดยมีประเด็นที่ต้องพิจารณา เช่น กรณีพื้นที่โครงการอยู่ใกล้เคียงแนวแผ่นดินไหว ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายๆ เรื่องที่ต้องแก้ไขเพื่อลดความเสี่ยง เขากล่าวว่าแทนที่จะสร้างเขื่อนที่มิตโสน “เราสามารถขยับขึ้นไปสร้างเขื่อนให้ขึ้นมาทางต้นน้ำมากขึ้น”

แน่นอนว่ารัฐบาลเอ็นแอลดีอาจจะเลื่อนเวลาการตัดสินใจถึงชะตากรรมของโครงการ กระนั้นก็ตาม แท็กติกนี้มิอาจจะเลื่อนกันไปอย่างไร้กรอบเวลา เพราะผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องนับวันแต่จะทวีตัว หากแนวทางการฟื้นชีพโครงการนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นในทางที่เอื้อแก่ฝ่ายพม่ามากขึ้น รัฐบาลเอ็นแอลดีจะไม่ได้ประโยชน์จากการประวิงเวลาอย่างไร้กำหนด เนื่องจากต้นทุนของการยกเลิกโปรเจ็กต์นั้น ทวีตัวขึ้นเรื่อยๆ

กระนั้นก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงปัจจัยสำคัญสองประการคือ ความสำคัญของพม่าต่อผลประโยชน์ของจีนในด้านเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ กับข้อเท็จจริงว่าทางเลือกที่รัฐบาลเอ็นแอลดีมีในมือ มิได้อับจนเสมือนสภาพการณ์ของรัฐบาลทหารในห้วง 25 ปีที่ผ่านมา โดยเอ็นแอลดีมีตัวช่วยทางเศรษฐกิจจากนานาชาติให้เลือกใช้เป็นจำนวนมาก ฝ่ายจีนเองอาจต้องเดินเกมอย่างระมัดระวังและผ่อนปรนต่อกรณีโครงการมิตโสน

ตัวอย่างเด่นๆ คือ โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษจอก์พยู (Kyaukphyu) จีนก็เร่งดำเนินการต่างๆ เพื่อลดกระแสต่อต้านโครงการนี้ที่ร้อนแรงอยู่ในสาธารณชน ทั้งนี้ ผู้คนในพื้นที่ได้รับการฝึกอบรมเพื่อให้สามารถเข้าเป็นพนักงานในโครงการ

คำถามมีอยู่ว่าการปรับตัวนิดๆ หน่อยๆ อย่างเช่นการฝึกอบรมทักษะฝีมือแรงงาน จะเพียงพอจะสยบกระแสคลื่นพิโรธที่โหมหนักอยู่ในมวลชนคนพม่าซึ่งแค้นเคืองการเอาเปรียบต่างๆ นานาที่จีนกระทำต่อประเทศพม่ามาอย่างเนิ่นนาน

ดร.สุธา รามาจันทรัน เป็นผู้สื่อข่าว/นักวิจัยอิสระ โดยมีสำนักงานอยู่ในบังกาลอร์ ประเทศอินเดีย ดร.สุธาเขียนประเด็นการเมืองและความมั่นคงในเอเชียใต้ สามารถติดต่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกับเธอได้ที่ sudha.ramachandran@live.in


กำลังโหลดความคิดเห็น