เอพี/MGRออนไลน์ - ผู้บัญชาการกองเรือภาคแปซิฟิกของสหรัฐฯ ออกมากล่าวเตือนในวันพุธ (16 มี.ค.) ว่า ถ้าสหรัฐฯไม่สามารถเข้าไปยังน่านน้ำระหว่างประเทศต่าง ๆ ในทะเลจีนใต้ ซึ่งจีนประกาศอ้างกรรมสิทธิ์แล้ว ผลพวงต่อเนื่องที่ติดตามมาจะกว้างไกลยิ่งกว่าด้านทางการทหารเท่านั้น
พล.ร.อ.สกอตต์ เอช. สวิฟต์ กล่าวย้ำในการประชุมว่าด้วยความมั่นคงทางทะเลย่านมหาสมุทรอินเดีย - มหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงแคนเบอร์รา, ออสเตรเลีย ในวันพุธ ว่า การส่งเรือรบออกไปปฏิบัติการสำแดงเสรีภาพทางการเดินเรือ โดยให้แล่นผ่านพื้นที่พิพาทต่าง ๆ ซึ่งหลาย ๆ ประเทศประกาศอ้างกรรมสิทธิ์ช่วงชิงกันอยู่นั้น “ไม่ใช่เป็นประเด็นปัญหาทางการเดินเรือ” เท่านั้น ทั้งนี้ เขาระบุว่า ประเด็นปัญหาดังกล่าวยังมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และต่อกฎหมายระหว่างประเทศอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม เขาบอกว่า สหรัฐฯไม่ได้คาดหมายว่า ตนเองจะต้องเผชิญการสูญเสียไม่สามารถเข้าถึงน่านน้ำต่าง ๆ ดังกล่าว
กองทัพเรือสหรัฐฯนั้น ได้ทำให้จีนขุ่นเคืองใจในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ด้วยการส่งเรือรบเข้าไปใกล้ ๆ เกาะเทียมในทะเลจีนใต้ที่สร้างขึ้นโดยปักกิ่ง เกาะเทียมเหล่านี้มีทั้งสนามบินและสถานีเรดาร์ด้วย วอชิงตันไม่ได้อ้างกรรมสิทธิ์เหนือน่านน้ำบริเวณใดของทะเลจีนใต้ แต่ประกาศว่า ตนเองมีผลประโยชน์ในการทำให้เกิดความมั่นใจว่า จะต้องมีเสรีภาพในการเดินเรือ และในการเดินอากาศ ตลอดจนมีการใช้วิธีสันติในการแก้ไขข้อพิพาทช่วงชิงกรรมสิทธิ์ ขณะเดียวกัน สหรัฐฯก็กระตุ้นส่งเสริมให้กำลังใจและให้ความช่วยเหลือทางวัตถุในบางระดับแก่หลายชาติเอเชียที่มีปัญหาอยู่กับจีน เป็นต้นว่า ฟิลิปปินส์ และ เวียดนาม
ในอีกด้านหนึ่ง สหรัฐฯยังกำลังเพิ่มการปรากฏตัวทางทหารในภูมิภาคแถบนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์ปักหมุดหวนคืนกลับมาให้ความสำคัญแก่เอเชีย ทว่า ในเรื่องหลังนี้ สวิฟต์ ยืนยันว่า สหรัฐฯไม่มีความจำเป็นหรือความต้องการ ที่จะมีสิ่งปลูกสร้างหรือสิ่งอำนวยความสะดวกทางนาวีในประเทศต่าง ๆ แถบนี้ อย่างเช่นออสเตรเลีย เพิ่มเติมขึ้นอีก
“มันไม่มีความจำเป็นเลยจริง ๆ ในทางเป็นจริงแล้วมันกลับจะกลายเป็นภาระที่จะต้องดูแลสิ่งอำนวยความสะดวกขึ้นมาด้วยซ้ำ ถ้าหากเราเกิดจะต้องขยายตัวไปในทิศทางอื่น ๆ กันบ้าง นั่นจึงไม่ใช่อะไรที่ผมจะให้ความสนับสนุนหรอก” สวิฟต์ กล่าว