เอเอฟพี - ญี่ปุ่นยื่นเสนอแบ่งปันเทคโนโลยีล่องหน (สเตลธ์) ซึ่งถือเป็นความลับสุดยอดของรัฐบาลให้แก่ออสเตรเลีย หากได้รับเลือกให้เป็นผู้พัฒนาและผลิตกองเรือดำน้ำรุ่นใหม่แก่แดนจิงโจ้ รายงานเผยวันนี้ (8 ก.พ.)
ผู้ผลิตจาก 3 ชาติต่างหยิบยื่นข้อเสนอมัดใจรัฐบาลออสซี่ โดยหวังที่จะเป็นหุ้นส่วนในโครงการออกแบบและผลิตเรือดำน้ำรุ่นใหม่มูลค่า 50,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย เพื่อมาทดแทนฝูงเรือดำน้ำชั้นคอลลินส์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลและไฟฟ้า และจวนถึงกำหนดปลดระวางในราวปี 2026
ออสเตรเลียได้ปิดรับซองประมูลแล้ว โดยมีผู้แข่งขันอยู่ทั้งหมด 3 ราย ได้แก่ ดีซีเอ็นเอส กรุ๊ป ของฝรั่งเศส, ทีเคเอ็มเอส จากเยอรมนี และรัฐบาลญี่ปุ่น
นอกจากพิสัยเดินทางและความทนทานที่จะต้องไม่ด้อยไปกว่าเรือดำน้ำชั้นคอลลินส์แล้ว ออสเตรเลียยังคาดหวังให้เรือดำน้ำที่จะผลิตขึ้นใหม่นี้มีระบบเซ็นเซอร์ตรวจจับที่เหนือกว่า รวมถึงเทคโนโลยีในการพรางตัว
เคนจิ วากามิยะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่น แถลงว่า ที่ผ่านมาโตเกียวได้แชร์เทคโนโลยีล่องหนในเรือดำน้ำชั้นโซริว (Soryu) ให้กับสหรัฐฯ เพียงชาติเดียวเท่านั้น แต่ออสเตรเลียก็ถือเป็นพันธมิตรที่ญี่ปุ่นไว้วางใจอย่างยิ่ง
“การแบ่งปันเทคโนโลยีนี้ให้แก่ออสเตรเลียถือเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับเรา” หนังสือพิมพ์ ดิ ออสเตรเลียน ฉบับวันนี้ (8) ตีพิมพ์บทสัมภาษณ์ของ วากามิยะ
วากามิยะ กล่าวเสริมอีกว่า ญี่ปุ่นเต็มใจที่จะแชร์เทคโนโลยีลับสุดยอดนี้กับออสเตรเลีย เพื่อแสดงให้เห็นว่าโตเกียวเล็งเห็นความสำคัญของการปกป้องความมั่นคงในภูมิภาคมากเพียงใด
“โปรดทราบด้วยว่า เราตัดสินใจเช่นนี้เพราะเห็นว่าออสเตรเลียเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญยิ่ง... และผมเชื่อว่าโครงการพัฒนาเรือดำน้ำรุ่นใหม่จะช่วยยกระดับความปลอดภัยทางทะเลในภูมิภาคแถบนี้”
เมื่อปลายปีที่แล้ว เก็น นากาตานิ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่น ก็ได้ออกมาพูดในทำนองเดียวกันว่า หากแคนเบอร์ราเลือกญี่ปุ่นเป็นผู้ผลิตเรือดำน้ำรุ่นใหม่จะยิ่งเป็นผลดีต่อความมั่นคงทางทะเลในเอเชีย-แปซิฟิก โดยสื่อนัยยะถึงความจำเป็นที่สหรัฐฯ จีน และออสเตรเลีย จะต้องผนึกกำลังต้านทานการขยายแสนยานุภาพของจีน
เรือดำน้ำชั้นโซริวของญี่ปุ่นถูกมองว่ามีประสิทธิภาพสูงที่สุดในเรือดำน้ำประเภทเดียวกัน แต่หากออสเตรเลียตัดสินใจยกสัมปทานผลิตเรือดำน้ำให้ญี่ปุ่น ก็อาจจะต้องผิดใจกับปักกิ่งซึ่งเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่ง
รายงานระบุว่า รัฐบาลญี่ปุ่นเสนอที่จะผลิตเรือดำน้ำชั้นโซริวรุ่นใหม่ที่ลำตัวยาวขึ้นกว่าเดิม 6-8 เมตร เพื่อให้บรรจุแบตเตอรีได้มากขึ้น และมีพิสัยเดินทางไกลขึ้น สอดคล้องกับภารกิจของกองทัพเรือออสเตรเลีย
การยื่นประมูลโครงการนี้ได้กลายเป็นประเด็นละเอียดอ่อนทางการเมืองในแดนจิงโจ้ เนื่องจากรัฐบาลต้องการให้แรงงานและผู้ผลิตในประเทศได้มีส่วนร่วมมากที่สุด และเกรงกันว่าหากรัฐบาลตัดสินใจซื้อเรือดำน้ำแบบสำเร็จรูปพร้อมใช้งานจากญี่ปุ่นหรือผู้ผลิตรายอื่นๆ อาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่ออุตสาหกรรมต่อเรือในประเทศ
ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส และเยอรมนี ต่างยืนยันเป็นมั่นเหมาะว่า หากได้รับเลือกให้เป็นผู้พัฒนาเรือดำน้ำรุ่นใหม่ก็จะใช้ออสเตรเลียเป็นฐานผลิตชิ้นส่วนขนาดใหญ่ หรืออาจจะทั้งหมด โดยจะมีการประเมินศักยภาพด้านการแข่งขันทุกๆ 10 เดือน