xs
xsm
sm
md
lg

‘กลาโหมจีน’ ระบุจำเป็นเสริมการป้องกัน ‘ทะเลจีนใต้’ เมื่อต้องเผชิญหน้ากับสหรัฐฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i>พ.อ. อู๋ เชียน โฆษกกระทรวงกลาโหมจีน แถลงว่า แดนมังกรจำเป็นต้องดำเนินการป้องกันของตนในทะเลจีนใต้ เมื่อเผชิญกับกระบวนการเสริมแสนยานุภาพทางทหารซึ่งสหรัฐฯเป็นผู้เริ่มต้นส่งเสริมสนับสนุน </i>
รอยเตอร์/MGR ออนไลน์ - ประเทศจีน “มีความจำเป็นจริงๆ” ที่จะต้องดำเนินการเสริมการป้องกันของตนในทะเลจีนใต้ เมื่อต้องเผชิญกับกระบวนการเสริมแสนยานุภาพทางทหารซึ่งสหรัฐฯกำลังผลักดันอยู่ นอกจากนั้นแดนมังกรย่อมสามารถที่จะติดตั้งประจำการยุทโธปกรณ์ใดก็ตามเอาไว้บนดินแดนของตนตามที่ตนเองต้องการ กระทรวงกลาโหมจีนแถลงเช่นนี้เมื่อวันพฤหัสบดี (25 ก.พ.) ที่ผ่านมา

จีนกับสหรัฐฯ แถลงโต้ตอบกันหลายรอบตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ภายหลังสื่อมวลชน และหน่วยงานคลังสมองของสหรัฐฯ ตลอดจนทางการไต้หวัน ออกมาประโคมข่าวว่า จีนกำลังติดตั้งประจำการขีปนาวุธยิงจากพื้นดินสู่อากาศบ้าง, เครื่องบินขับไล่บ้าง และระบบเรดาร์ความถี่สูงบ้าง ตามเกาะหลายๆ แห่งในทะเลจีนใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนเกาะวู้ดดี้ซึ่งเป็นเกาะใหญ่ที่สุดในหมู่เกาะพาราเซล

สหรัฐฯ นั้นกล่าวหาจีนว่ากำลังเสริมแสนยานุภาพทางทหารในบริเวณน่านน้ำที่ยังเป็นกรณีพิพาทช่วงชิงกับประเทศอื่นๆ ขณะที่ปักกิ่งก็แสดงความโกรธเกรี้ยวต่อการที่สหรัฐฯ อ้างเหตุผลเรื่อง “เสรีภาพในการเดินเรือ” ส่งเรือรบและเครื่องบินทหารออกตรวจการณ์เฉียดใกล้ๆ พวกเกาะซึ่งจีนอ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้

ความเคลื่อนไหวที่สร้างความไม่พอใจเหล่านี้ มีอาทิ การตรวจการณ์ของเครื่องบินทิ้งระเบิดยุทธศาสตร์แบบ บี-52 จำนวน 2 ลำในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว และการที่เรือพิฆาตติดขีปนาวุธของกองทัพเรือสหรัฐฯ แล่นผ่านเขตน่านน้ำ 12 ไมล์ทะเลของเกาะไทรตัน ในหมู่เกาะพาราเซล เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา

“สหรัฐฯ คือผู้เริ่มต้นส่งเสริมสนับสนุนตัวจริงในเรื่องการเสริมแสนยานุภาพทางทหารในทะเลจีนใต้” พ.อ. อู๋ เชียน โฆษกกระทรวงกลาโหมจีน กล่าวในการแถลงข่าวประจำเดือนตามปกติของกระทรวง

“การที่จีนก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกทางทหารบนเกาะต่างๆ และแนวปะการังต่างๆ ในทะเลจีนใต้นั้น เป็นเรื่องที่มีความจำเป็นจริงๆ”

หมู่เกาะพาราเซล คือ “ดินแดนที่เป็นของจีนมาแต่ไหนแต่ไร” เขากล่าว “จีนมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะจัดสร้างสิ่งปลูกสร้างเพื่อการป้องกันและติดตั้งยุทโธปกรณ์ภายในดินแดนของเราเอง ไม่ว่าจะเป็นการนำเข้าประจำการตั้งแต่ก่อนหน้านี้หรือเป็นการดำเนินการในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการชั่วคราวหรือเป็นการถาวร ไม่ว่าจะเป็นยุทโธปกรณ์ใดๆ ก็ตามที”
<i>ภาพเรือพิฆาตติดขีปนาวุธนำวิธี “ยูเอสเอส เคอร์ติส วิลเบอร์” ซึ่งถ่ายเมื่อ 15 สิงหาคม 2013 โดยกองทัพเรือสหรัฐฯ  ทั้งนี้สหรัฐฯส่งเรือรบลำนี้แล่นเฉียดผ่านในระยะไม่ถึง 12 ไมล์ทะเล ห่างจากเกาะไทรตัน ในหมู่เกาะพาราเซล ซึ่งจีนประกาศอ้างกรรมสิทธิ์ เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2016 โดยระบุว่าเป็นการสำแดงออกซึ่งเสรีภาพในการเดินเรือ  </i>
ผู้คนทั้งหลายกำลังรู้สึก “พิศวงงงงวย” กับการโหมกระพืออย่างไม่รู้จบรู้สิ้นของสื่อมวลชนสหรัฐฯ ในเรื่องที่กำลังมีการนำเอายุทโธปกรณ์ของจีนเข้าประจำการในทะเลจีนใต้ โฆษกผู้นี้บอก

“นาทีหนึ่งเป็นเรื่องขีปนาวุธป้องกันภัยทางอากาศ ครั้นแล้วก็เป็นเรื่องเรดาร์ ครั้นแล้วก็เป็นเครื่องบินประเภทต่างๆ --ใครทราบว่าพรุ่งนี้จะมีการนำเอายุทโธปกรณ์ใหม่ๆ มาโหมกระพือกันต่อไปอีก”

แม้กระทั่งพวกอเมริกันเองยังบอกเลยว่า ยุทโธปกรณ์บางอย่างเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ถูกนำมาติดตั้งที่นั่นตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว อู๋กล่าว

ในสัปดาห์นี้ ขณะที่ หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีนเดินทางเยือนวอชิงตัน พล.ร.อ.แฮร์รี แฮร์ริส ผู้บัญชาการทหารภาคแปซิฟิกของสหรัฐฯ ก็มาให้ปากคำต่อคณะกรรมาธิการของวุฒิสภาและของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯในกรุงวอชิงตันเช่นกัน โดยที่แฮร์ริสบอกว่า สหรัฐฯ จะเพิ่มการปฏิบัติการเพื่อสำแดงออกซึ่งเสรีภาพในการเดินเรือในทะเลจีนใต้ให้มากขึ้นอีก พร้อมกันนั้นเขายังโจมตีกล่าวหาจีนว่ากำลังพยายามที่จะครอบงำเอเชียตะวันออกด้วยแสนยานุภาพทางทหาร

อู๋ แถลงว่า สหรัฐฯ กำลังทำตัวสองมาตรฐาน พร้อมกับตั้งคำถามว่าทำไมการที่สหรัฐฯ ใช้เรือรบและเครื่องบินรบตรวจการณ์ในทะเลจีนใต้ จึงไม่สมควรที่จะถือว่าเป็นการเสริมแสนยานุภาพทางทหารบ้าง

มีการคาดเดากันว่าจีนอาจจะประกาศ “พื้นที่แสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ” (Air Defence Identification Zone หรือ ADIZ) ในทะเลจีนใต้ ทำนองเดียวกับที่ปักกิ่งเคยประกาศใช้เหนือทะเลจีนตะวันออกในช่วงปลายปี 2013 ซึ่งสร้างความขุ่นเคืองให้แก่สหรัฐฯ และญี่ปุ่น

เมื่อถูกผู้สื่อข่าวถามว่ามีความพยายามในเรื่องเช่นนี้หรือไม่ อู๋ก็ตอบตามแนวทางที่ผ่านมาของกระทรวง นั่นคือกล่าวว่าจีนมีสิทธิทุกประการที่จะทำเช่นนั้น แต่ความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับระดับภัยคุกคามทางอากาศที่จีนต้องเผชิญ

“มีปัจจัยด้านต่างๆ มากมายที่จำเป็นต้องนำมาพิจารณา” อู๋ กล่าวโดยไม่แจกแจงรายละเอียด

กำลังโหลดความคิดเห็น