xs
xsm
sm
md
lg

ครบ 2 ปีปริศนา MH370 ยังคงดำมืด หน่วยงาน UN เผยกฎใหม่ป้องกันซ้ำรอย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

หญิงชาวมาเลเซียเดินผ่านหน้าจิตรกรรมฝาผนังว่าด้วยเที่ยวบิน MH370 ณ บริเวณตรอกแห่งหนึ่งในเมืองชาห์อาลัม เมืองเอกของรฐสลังงอร์ มาเลเซีย เมื่อวันอังคาร (8 มี.ค.) อันเป็นวันครบรอบ 2 ปีแห่งการหายสาปสูญของเครื่องบินโดยสารลำนี้
เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - ทีมสอบสวนนานาชาติแถลงในวาระครบรอบ 2 ปีเมื่อวันอังคาร (8 มี.ค.) ยอมรับการหายสาบสูญของเที่ยวบิน MH370 ยังคงเป็นปริศนาลึกลับของวงการการบินโลก อย่างไรก็ดี ทั้งมาเลเซียและออสเตรเลียพยายามมองโลกแง่ดีว่า ปฏิบัติการค้นหาขนาดใหญ่ใต้มหาสมุทรอินเดียที่กำลังดำเนินการอยู่จะพบเงื่อนงำไขสาเหตุการสูญหายของเครื่องบินโดยสารลำนี้ได้ในที่สุด ขณะเดียวกัน องค์การการบินของยูเอ็นอนุมัติข้อเสนอใหม่เพื่อให้สามารถติดตามตำแหน่งเครื่องบินพลเรือนแบบเรียลไทม์ รวมถึงเข้าถึงข้อมูลการบันทึกการบินได้ทันทีในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ

ในวันอังคาร (8) ทีมผู้เชี่ยวชาญการบินนานาชาติที่นำโดยมาเลเซียและจัดตั้งขึ้นเพื่อสอบสวนหาสาเหตุการสูญหายของเที่ยวบิน MH370 ของมาเลเซีย แอร์ไลนส์ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2014 ได้เปิดเผยรายงานความคืบหน้าประจำปีซึ่งระบุว่า จนถึงวันนี้ยังคงไม่พบซากเครื่องบินโบอิ้ง 777 ของเที่ยวบินนี้ แม้มีการค้นหาอย่างต่อเนื่องทางตอนใต้ของมหาสมุทรอินเดียซึ่งเชื่อว่าเป็นจุดที่เครื่องบินตกก็ตาม จึงนับเป็นปีที่สองติดต่อกันที่ทีมสอบสวน ซึ่งรวมถึงผู้เชี่ยวชาญ 7 คนจากหน่วยงานของหลายประเทศซึ่งทำหน้าที่คล้ายกับคณะกรรมการความปลอดภัยในการขนส่งแห่งชาติของสหรัฐฯ (NTSB) ไม่มีข้อมูลใหม่ๆ มานำเสนอ

อย่างไรก็ตาม มาเลเซียและออสเตรเลียยังคงมีความหวังในการค้นพบเบาะแสที่อาจนำไปสู่การค้นพบกล่องดำของ MH370

นายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัค ของมาเลเซีย แถลงว่า ปฏิบัติการค้นหาคาดว่าจะเสร็จสิ้นปลายปีนี้ และมาเลเซียยังคงเชื่อมั่นว่าจะค้นพบ MH370 แต่หากการค้นหาสิ้นสุดลงโดยไม่พบสิ่งใด มาเลเซีย ออสเตรเลีย และจีน จะหารือกันว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

MH370 หายไปเมื่อสองปีก่อนขณะบินในเส้นทางกัวลาลัมเปอร์-ปักกิ่ง พร้อมกับลูกเรือและผู้โดยสาร 239 คน ส่วนใหญ่เป็นคนจีน และมาเลเซีย
ญาติของผู้โดยสารเที่ยวบิน MH370 ของสายการบินมาเลเซีย แอร์ไลน์ส อ่านถ้อยแถลงระหว่างรวมตัวกันด้านนอกวัดลามะในกรุงปักกิ่งเมื่อวันอังคาร (8 มี.ค.) ในวาระครบรอบ 2 ปีแห่งการหายสาปสูญของเครื่องบินโดยสารลำนี้
กลางปีที่แล้วมีผู้พบชิ้นส่วนปีกที่ภายหลังได้รับการยืนยันว่าเป็นของ MH370 ที่เกาะเรอูนิยง ห่างจากพื้นที่ค้นหาหลายพันกิโลเมตร ซึ่งถือเป็นหลักฐานชิ้นแรกที่พิสูจน์ว่า เครื่องบินลำนี้ตก ทว่า ยังคงไม่มีคำตอบว่าจุดตกที่แท้จริงคือที่ใด และทั้งสามประเทศเกริ่นไว้แล้วว่าจะยุติปฏิบัติการค้นหาครั้งใหญ่ที่สุดและมีราคาแพงที่สุดในประวัติศาสตร์ หากการค้นหาด้วยอุปกรณ์สุดไฮเทคใต้ท้องมหาสมุทรในพื้นที่ที่กำหนดคว้าน้ำเหลว

ด้านรัฐมนตรีคมนาคมออสเตรเลีย ดาร์เรน เชสเตอร์ แสดงความหวังเช่นเดียวกับนาจิบว่า ที่สุดแล้วปฏิบัติการค้นหาจะให้คำตอบแก่โลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งครอบครัวผู้สูญหาย

ในอีกด้านหนึ่ง บรรดาญาติผู้สูญหายต่างพากันเรียกร้องให้ขยายปฏิบัติการค้นหาออกไปจนกว่าจะพบเครื่องบินที่หายไป

ทั้งนี้ มีผู้ทฤษฎีหลายอย่างที่อธิบายการหายไปไร้ร่องรอยของ MH370 รวมถึงการเกิดปัญหาด้านกลไกหรือโครงสร้างของเครื่องบิน การจี้เครื่องบินหรือการก่อการร้าย หรือนักบินก่อเหตุขึ้นมา

ญาติผู้สูญหายจำนวนมากกล่าวหาสายการบินและรัฐบาลมาเลเซียปล่อยให้เครื่องบินสูญหายด้วยการให้คำตอบกำกวมและล่าช้า อีกทั้งยังปิดบังข้อมูลและปฏิบัติต่อครอบครัวเหยื่ออย่างไร้ความรู้สึก ซึ่งทั้งรัฐบาลมาเลเซียและสายการบินต่างปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านี้ทั้งหมด

วาระครบรอบ 2 ปีที่เครื่องบินสูญหาย ยังเป็นเส้นตายสำหรับการที่ญาติผู้เสียหายจะต้องยื่นฟ้องร้องก่อนหมดอายุความ
ญาติของผู้โดยสารเที่ยวบิน MH370 ของสายการบินมาเลเซีย แอร์ไลน์ส ถึงกับร่ำไห้ระหว่างรวมตัวกันด้านนอกวัดลามะในกรุงปักกิ่งเมื่อวันอังคาร (8 มี.ค.) ในวาระครบรอบ 2 ปีแห่งการหายสาปสูญของเครื่องบินโดยสารลำนี้
ด้วยเหตุนี้ ช่วงหลายวันที่ผ่านมาจึงมีญาติผู้สูญหายจำนวนมากยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายทั้งในอเมริกา มาเลเซีย จีน ออสเตรเลีย และอีกหลายประเทศ โดยบางรายยื่นฟ้องรัฐบาลมาเลเซียและโบอิ้ง ผู้ผลิตเครื่องบินลำนี้

นอกจากนั้น ในวันอังคารองค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ในสังกัดสหประชาชาติ ได้อนุมัติข้อเสนอให้เครื่องบินพลเรือนติดตั้งอุปกรณ์ติดตามแบบเรียลไทม์ที่จะถ่ายทอดข้อมูลตำแหน่งที่ตั้งอย่างน้อยทุก 1 นาทีในกรณีที่เครื่องบินติดต่อขอความช่วยเหลือ และผู้ดำเนินการเครื่องบินจะต้องรับประกันว่าสามารถกู้คืนข้อมูลจากเครื่องบันทึกการบินได้ พร้อมกันนี้ก็ให้ขยายเวลาการบันทึกเสียงในห้องนักบินจาก 2 ชั่วโมงเป็น 25 ชั่วโมง

ICAO แจงว่า ข้อกำหนดการติดตามทุก 1 นาทีและการเข้าถึงข้อมูลการบันทึกการบินนี้มุ่งดูที่ผลการปฏิบัติ ซึ่งหมายความว่า สายการบินและผู้ผลิตเครื่องบินสามารถเลือกวิธีที่ดีที่สุดสำหรับตนเอง จากเทคโนโลยีต่างๆ ที่มีอยู่แล้วและกำลังจะเกิดขึ้นตามมามากมาย

การเปลี่ยนแปลงนี้จะทยอยมีผลตั้งแต่ขณะนี้จนถึงปี 2021

ทั้งนี้ ปีที่ผ่านมา มาเลเซีย แอร์ไลนส์เรียกร้องให้ระบบติดตามเที่ยวบินแบบเรียลไทม์เป็นเป้าหมายสำคัญอันดับแรกของอุตสาหกรรมการบิน หลังการสูญหายของ MH370

โอลูมูยิวา เบนาร์ด อลิอู ประธานสภา ICAO แถลงว่า มาตรการใหม่เหล่านี้จะรับประกันว่า ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ เจ้าหน้าที่จะสามารถรับรู้จุดเกิดเหตุภายในระยะ 6 ไมล์ทะเลทันที และสามารถเข้าถึงข้อมูลอุปกรณ์บันทึกการบินของเครื่องบินได้ทันทีและอย่างวางใจได้ เท่ากับว่าการค้นหาและการกู้ภัยจะมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น


ปริศนาMH370ยังคงดำมืด แม้โศกนาฏกรรมผ่านมาครบ2ปี
ทีมสอบสวนนานาชาติแถลงในวาระครบรอบ 2 ปีเมื่อวันอังคาร (8 มี.ค.) ยอมรับการหายสาบสูญของเที่ยวบิน MH370 ยังคงเป็นปริศนาลึกลับของวงการการบินโลก อย่างไรก็ดี ทั้งมาเลเซียและออสเตรเลียพยายามมองโลกแง่ดีว่า ปฏิบัติการค้นหาขนาดใหญ่ใต้มหาสมุทรอินเดียที่กำลังดำเนินการอยู่จะพบเงื่อนงำไขสาเหตุการสูญหายของเครื่องบินโดยสารลำนี้ได้ในที่สุด ขณะเดียวกัน องค์การการบินของยูเอ็นอนุมัติข้อเสนอใหม่เพื่อให้สามารถติดตามตำแหน่งเครื่องบินพลเรือนแบบเรียลไทม์ รวมถึงเข้าถึงข้อมูลการบันทึกการบินได้ทันทีในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ
กำลังโหลดความคิดเห็น