เอเจนซีส์ - เกาหลีเหนือยิงจรวดพิสัยใกล้ 6 ลูกลงทะเลเมื่อวันพฤหัสฯ (3 มี.ค.) ท้าทายนานาชาติ ไม่กี่ชั่วโมงหลังยูเอ็นประกาศมาตรการแซงก์ชันขั้นรุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมา เพื่อสั่งสอนที่โสมแดงทดสอบนิวเคลียร์และยิงจรวดเมื่อต้นปี
การแสดงแสนยานุภาพทางทหารแบบจำกัดกลายเป็นการตอบโต้ปกติของเกาหลีเหนือต่อแรงกดดันของนานาชาติกรณีโครงการนิวเคลียร์ไปจนถึงปัญหาสิทธิมนุษยชน
วันพฤหัสฯ กระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้แถลงว่า มีกระสุนยิง 6 ลูก ซึ่งประกอบด้วยจรวดและขีปนาวุธนำวิถี ยิงลงทะเลห่างจากชายฝั่งด้านตะวันออกของเกาหลีเหนือราว 100-150 กิโลเมตร เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. (08.00 น. ตามเวลาไทย)
หง เล่ย โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน กล่าวถึงเรื่องนี้โดยแสดงความหวังว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะระงับการดำเนินการที่ทำให้สถานการณ์ตึงเครียดยิ่งขึ้น
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ลงมติเอกฉันท์รับรองมาตรการลงโทษใหม่ต่อเปียงยางเมื่อคืนวันพุธ (2) หลังการหารือเคร่งเครียด 7 สัปดาห์ระหว่างอเมริกากับจีน พันมิตรหนึ่งเดียวของเกาหลีเหนือ
มาตรการลงโทษครั้งใหม่ถือว่า รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยกำหนดให้ทุกประเทศต้องตรวจสอบสินค้าที่ไปยังและออกจากเกาหลีเหนือ ทั้งที่สนามบิน และท่าเรือ รวมทั้งจำกัดการส่งออกถ่านหิน เหล็ก แร่เหล็ก และแร่ธาตุอื่นๆ จากเกาหลีเหนือ และห้ามจัดส่งเชื้อเพลิงการบิน รวมถึงเชื้อเพลิงสำหรับจรวดให้โสมแดง
นอกจากนั้นยังมีการจำกัดด้านการธนาคารเข้มงวดขึ้น และรัฐบาลของประเทศต่างๆ ต้องแบนเที่ยวบินที่สงสัยว่าขนสินค้าต้องห้ามให้เกาหลีเหนือ รวมทั้งเพิ่มรายชื่อบุคคล 16 คน และนิติบุคคล 12 แห่งในบัญชีดำ ซึ่งรวมถึงสำนักงานอวกาศนาดาและหน่วยงานสายลับของเกาหลีเหนือ
ชาติสมาชิกยูเอ็นยังต้องขับนักการทูตเกาหลีเหนือที่เกี่ยวข้องกับการลักลอบนำเข้าหรือกิจกรรมผิดกฎหมายอื่นๆ
แมททิว ไรครอฟต์ เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำยูเอ็น กล่าวว่า นี่เป็นมาตรการลงโทษสถานหนักที่สุดเท่าที่คณะมนตรีฯ เคยบังคับใช้กับประเทศใดๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะเกาหลีเหนือ
กระนั้น นักวิเคราะห์ชี้ว่ามาตรการนี้ยังมีช่องโหว่มากมาย อาทิ การตีความคำว่า “การตรวจสอบ” สินค้าอย่างเหมาะสม และข้อกำหนดที่ยกเว้นการส่งออกแร่ธาตุ หากรายได้ที่ได้รับไม่ได้นำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางทหาร
ซาแมนธา เพาเวอร์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำยูเอ็นระบุว่า เกาหลีเหนือมีรายได้จากการส่งออกถ่านหินปีละราว 1,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 1 ใน 3 ของรายได้จากการส่งออกทั้งหมด และราว 200 ล้านดอลลาร์จากการส่งออกแร่เหล็ก
ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ยกย่องมาตรการนี้ว่า เป็นการตอบโต้การทดสอบนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือเมื่อวันที่ 6 มกราคม และการปล่อยจรวดเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ “เด็ดขาด เป็นเอกภาพ และเหมาะสม” เพื่อให้เปียงยางสำเหนียกว่า ต้องยกเลิกโครงการอันตรายเหล่านั้นและเลือกเส้นทางที่ดีกว่าเพื่อประชาชนของตนเอง
ประธานาธิบดีพัค กึน-ฮเยของเกาหลีใต้ แสดงความหวังว่า มาตรการลงโทษรุนแรงอย่างไม่เคยมีมาก่อนนี้จะบีบให้เปียงยางยกเลิกโครงการนิวเคลียร์ในที่สุด
นอกจากนั้น ในวันพฤหัสฯ เกาหลีใต้ยังประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงเพื่อจัดตั้งหน่วยต่อต้านจารชน หลังจากผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาเมื่อคืนวันพุธ รวมทั้งกฎหมายอีกฉบับที่มีเป้าหมายในการยกระดับสิทธิมนุษยชนในเกาหลีเหนือ
ด้านนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะของญี่ปุ่น เรียกร้องให้โสมแดงระงับการยั่วยุ ขณะที่โมโตฮิเดะ โยชิกาวะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำยูเอ็นย้ำว่า ประเด็นสำคัญในขณะนี้คือ จีนและประเทศอื่นๆ ต้องดำเนินการมาตรการลงโทษให้สัมฤทธิ์ผล
เพาเวอร์ขานรับว่า ต้องมีมาตรการติดตามผลที่เข้มงวดและเด็ดขาดเพื่อให้แน่ใจในประสิทธิภาพของมาตรการลงโทษ พร้อมระบุว่า จีนและรัสเซียคือผู้เล่นสำคัญ
ทางฝ่ายเอกอัครราชทูตจีน หลิว เจียยี่ แสดงความเห็นว่า มติของคณะมนตรีฯ ควรเป็นจุดเริ่มต้นใหม่และก้าวย่างสำคัญในการฟื้นการเจรจาเพื่อเลิกล้มโครงการนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ
วิทาลี เชอร์กิน เอกอัครราชทูตรัสเซีย ขานรับว่า มตินี้มุ่งตัดขาดการระดมทุนสำหรับโครงการอาวุธของโสมแดงมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เพื่อกดดันให้เปียงยางกลับสู่โต๊ะเจรจา
ทั้งนี้ ระหว่างการเจรจายาวนาน ปักกิ่งลังเลที่จะรับรองมาตรการลงโทษสถานหนัก เนื่องจากกลัวว่า หากกดดันมากเกินไปอาจทำให้เกาหลีเหนือล่มสลายและสร้างความวุ่นวายขนานใหญ่ตามแนวชายแดน
เอกอัครราชทูตจีนยังย้ำจุดยืนของปักกิ่งในการคัดค้านแผนการของโซลและวอชิงตันในการติดตั้งระบบต่อต้านขีปนาวุธขั้นสูงบนคาบสมุทรเกาหลี โดยอ้างว่า บ่อนทำลายความพยายามในการฟื้นการเจรจา
แอนเดรีย เบอร์เกอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเกาหลีของสถาบันรอยัล ยูไนเต็ด เซอร์วิสเพื่อการศึกษาด้านกลาโหมและความมั่นคง ชี้ว่า การบังคับใช้มาตรการลงโทษของจีนถือเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด
มาตรการลงโทษครั้งนี้ถือเป็นการแซงก์ชันครั้งที่ 5 ของยูเอ็นต่อเปียงยาง โดยครั้งแรกคือในปี 2006 จากกรณีที่เกาหลีเหนือทดสอบอุปกรณ์ปรมาณู