xs
xsm
sm
md
lg

ตะวันออกกลางยิ่งตึงเครียดพุ่งทะลัก ซาอุดีฯ-พันธมิตรตัดสัมพันธ์อิหร่าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เหล่าผู้สนับสนุนในอิรัก ของชัยค์ นิมรา อัล-นิมรา นักการศาสนาคนสำคัญของนิกายชีอะต์ ออกมาประท้วงต่อต้านโทษประหารของทางการซาอุดีอาระเบียในกรุงแบกแดด
เอเจนซีส์ - ความตึงเครียดระหว่างอิหร่านกับเหล่าชาติเพื่อนบ้านอาหรับสุหนี่พุ่งทะลักขึ้นสู่จุดสูงระดับใหม่ในวันจันทร์ (4 ธ.ค.) เมื่อซาอุดีอาระเบียและชาติพันธมิตรในอ่าวเปอร์เซียพากันตัดสัมพันธ์หรือลดระดับความสัมพันธ์กับเตหะราน สืบเนื่องจากกรณีวิวาทซึ่งมีชนวนจากการที่ริยาดประหารชีวิตนักการศาสนานิกายชีอะห์คนสำคัญ ส่วนที่อิรักซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชีอะห์ ปรากฏว่าเกิดเหตุระเบิดมัสยิดนิกายสุหนี่ 2 แห่ง และมีผู้เสียชีวิตไปอย่างน้อย 2 ราย

ภายหลังซาอุดีอาระเบียประกาศในตอนคืนวันอาทิตย์ (3) ตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิหร่าน และขีดเส้นตายให้เจ้าหน้าที่ของเตหะรานเดินทางออกนอกประเทศภายใน 48 ชั่วโมง อีกไม่กี่ชั่วโมงถัดมาสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ก็ประกาศเรียกตัวเอกอัครราชทูตของตนกลับมาจากกรุงเตหะราน และลดระดับความสัมพันธ์กับอิหร่านลงมาเหลือแค่ระดับอุปทูตเท่านั้น จากนั้นบาห์เรน ราชอาณาจักรที่เป็นเกาะเล็กๆ และซูดาน ก็แถลงสะบั้นความสัมพันธ์กับอิหร่านเช่นกัน นอกจากนั้นยังมีโซมาเลีย ซึ่งออกคำแถลงที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์เตหะราน

ทางด้าน ฮุสเซน จาเบอร์ อันซารี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศอิหร่าน แถลงในวันจันทร์ (4) ว่า “ซาอุดีอาระเบียได้ประโยชน์จากความตึงเครียดที่เรื้อรัง และใช้เหตุการณ์นี้เป็นข้ออ้างในการโหมกระพือความตึงเครียด” และสำทับว่า ซาอุดีฯ พยายามแก้ปัญหาภายในด้วยการผลักดันปัญหาออกนอกประเทศ

ขณะที่รองประธานาธิบดีเอสฮัก จาฮันกิรีของอิหร่าน ขานรับว่า การตัดความสัมพันธ์ทางการทูตของริยาดเป็นการกระทำอย่างเร่งร้อนและผิดกฎหมาย และฝ่ายที่สูญเสียคือซาอุดีฯ เอง พร้อมระบุว่า เตหะรานพยายามอดกลั้นกับริยาดตลอดมา

อันซารีที่ระบุว่า นักการทูตอิหร่านยังไม่ได้เดินทางออกจากริยาดยืนกรานว่า เตหะรานปกป้องความปลอดภัยของนักการทูตต่างชาติและดำเนินการตามหน้าที่ในการควบคุมกระแสความไม่พอใจของประชาชนที่พลุ่งพล่าน
ชาวมุสลิมอเมริกัน ชูป้ายประท้วงต่อต้านริยาดที่ประหารชีวิตอิหม่ามนิกายชีอะห์ชื่อดัง ชัยค์ นิมรา อัล-นิมรา ที่มีชื่อเสียงในฐานะนักวิพากษ์วิจารณ์ฝีปากกล้าต่อการปกครองที่กดขี่ของทางการซาอุดีอาระเบีย ในมิชิแกน เมื่อวันอาทิตย์(3ม.ค.)ที่ผ่านมา
มีรายงานในเวลาต่อมาโดยอ้างการเปิดเผยของแหล่งข่าววงการทูตหลายรายกล่าวว่า เมื่อถึงช่วงเย็นวันจันทร์ ได้มีชาวซาอุดีฯ ประมาณ 80 คน ในจำนวนนี้มีทั้งนักการทูตและครอบครัว เดินทางออกจากอิหร่านมาถึงดูไบแล้ว

ทั้งนี้ ซาอุดีอาระเบียออกมาประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูต มีการขับนักการทูตอิหร่านออกจากซาอุดีฯ ภายใน 48 ชั่วโมง ตลอดจนเรียกเจ้าหน้าที่ทูตของตนทั้งหมดกลับจากอิหร่าน หลังจากสถานเอกอัครราชทูตซาอุดีฯ ในเตหะรานถูกฝูงชนโจมตีด้วยระเบิดและเข้าทำลายข้าวของภายในอาคาร เนื่องจากโกรธเกรี้ยวที่ริยาดประหารชีวิต ชัยค์ นิมรา อัล-นิมรา นักการศาสนาคนสำคัญของนิกายชีอะห์ในซาอุดีอาระเบียเมื่อวันเสาร์ (2) ซึ่งอยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน ประกาศว่า การกระทำดังกล่าวของริยาดจะได้รับการชำระแค้นจากพระเจ้า

การประหารนิมราตอกย้ำนโยบายแข็งกร้าวภายใต้การปกครองของกษัตริย์ซัลมาน โดยก่อนหน้านี้ซาอุดีฯ ก็เป็นแกนนำของกลุ่มพันธมิตรอาหรับ เข้าทำการสู้รบกับกบฏชีอะห์ในเยเมน

ริยาด กับ เตหะราน ซึ่งต่างเป็นชาติส่งออกน้ำมันรายสำคัญ ยังอยู่คนละฝั่งในสงครามกลางเมืองซีเรีย โดยที่อิหร่านสนับสนุนรัฐบาลของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด

ในวันอาทิตย์ ประธานาธิบดีฮัสซัน รูฮานีของอิหร่าน ได้ออกมาตำหนิการบุกโจมตีสถานทูตซาอุดีฯ ว่า “ไม่เหมาะสมโดยสิ้นเชิง” และทางการจับกุมผู้โจมตีได้ 50 คน

อย่างไรก็ดี เมื่อวันอาทิตย์ยังมีการประท้วงเกิดขึ้นในที่อื่นๆ ของอิหร่าน รวมถึงประเทศที่มีชาวชีอะห์จำนวนมาก เป็นต้นว่า อิรัก บาห์เรน เลบานอน และปากีสถาน เนื่องจากกระแสความไม่พอใจต่อการประหารชีวิตนิมรา ที่ใช้เวลานานหลายสิบปีศึกษาอยู่ในโรงเรียนสอนศาสนาของอิหร่าน

แต่ขณะเดียวกันนิมราก็มีบทบาทสำคัญในการประท้วงของชนกลุ่มน้อยชีอะห์ในซาอุดีฯ ที่ได้อิทธิพลจากการปฏิวัติ “อาหรับสปริง” จนกระทั่งถูกจับกุมในปี 2012 และถูกตั้งข้อหาว่า เป็นผู้ก่อการร้าย ทว่า เจ้าตัวปฏิเสธว่าไม่ได้สนับสนุนการก่อความรุนแรงแต่อย่างใด

มีรายงานจากอิรักในวันจันทร์ (4) ด้วยว่า มีผู้ลอบวางระเบิดมัสยิดนิกายสุหนี่ 2 แห่งในเมืองฮิลลา ทางภาคกลางของประเทศ ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 3 คน นอกจากนั้น ชายผู้หนึ่งซึ่งพำนักอาศัยอยู่ในมัสยิดที่ถูกระเบิดแห่งหนึ่งก็ถูกยิงเสียชีวิต แล้วยังมีเจ้าหน้าที่เรียกชาวมุสลิมให้มาละหมาดของมัสยิดสุหนี่แห่งหนึ่งในเมืองอิสคันดาริยะห์ ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงแบกแดดไปทางใต้ราว 40 กิโลเมตร ถูกยิงเสียชีวิตที่ใกล้ๆ บ้านพักของเขา
ผู้ประท้วงชาวอิหร่าน ออกมาประท้วงต่อต้านซาอุดีอาระเบีย ที่จัตุรัสอิหม่ามฮุสเซน ในวันจันทร์(4ม.ค.) หลังริยาดสั่งประหารชีวิต ชัยค์ นิมรา อัล-นิมรา นักการศาสนาคนสำคัญของนิกายชีอะต์
ด้านซาอุดีฯ กล่าวหาว่า อิหร่านสนับสนุนลัทธิก่อการร้าย โดย อะเดล อัล-จูเบียร์ รัฐมนตรีต่างประเทศ แถลงเมื่อวันอาทิตย์ว่า เตหะรานมีประวัติยาวนานในการละเมิดคณะนักการทูตต่างชาติที่ย้อนไปถึงเหตุการณ์การยึดสถานทูตอเมริกันเมื่อปี 1979 และนโยบายปรปักษ์ของอิหร่านมีเป้าหมายเพื่อบ่อนทำลายความมั่นคงในภูมิภาค พร้อมกับกล่าวหาว่า อิหร่านลักลอบส่งอาวุธและระเบิด รวมทั้งสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายในซาอุดีฯ และประเทศอื่นๆ ในตะวันออกกลาง

ในส่วนของอเมริกาและยุโรปต่างเรียกร้องให้สองฝ่ายผ่อนคลายความตึงเครียด จอห์น เคอร์บี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า วอชิงตันเชื่อว่าปฏิสัมพันธ์ทางการทูตและการหารือโดยตรงเป็นสิ่งสำคัญในการคลี่คลายข้อขัดแย้ง และว่า อเมริกาจะเดินหน้าเรียกร้องผู้นำทั่วตะวันออกกลางให้ดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อผ่อนคลายสถานการณ์ลง

วันอาทิตย์เช่นเดียวกัน เฟเดอริกา โมเกรินี กรรมาธิการนโยบายต่างประเทศสหภาพยุโรป (อียู) หารือกับโมฮัมหมัด จาวัด ซารีฟ รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่านทางโทรศัพท์ และเรียกร้องให้เตหะรานปลดชนวนความตึงเครียดและปกป้องนักการทูตซาอุดีฯ

ขณะที่นายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน ของอังกฤษ แถลงว่า ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นนี้ “เป็นเรื่องที่น่าวิตกกังวลอันใหญ่โต” ส่วนรัฐบาลเยอรมนีแสดง “ความผิดหวัง” และฝรั่งเศสก็เรียกร้องให้เร่ง “ลดระดับความตึงเครียดลงมา”

ในกรุงมอสโก แหล่งข่าวในกระทรวงการต่างประเทศรายหนึ่งบอกกับเอเอฟพีว่า รัสเซีย “พร้อมที่จะทำหน้าที่เป็นคนกลางระหว่างริยาดกับเตหะราน” ในกรณีพิพาทคราวนี้

สหรัฐฯ และพันธมิตรยุโรป ตลอดจนรัสเซีย ต่างบังเกิดความหวั่นเกรงว่าความตึงเครียดคราวนี้จะสร้างความเสียหายให้แก่ความพยายามที่จะคลี่คลายความขัดแย้งหลายๆ กรณีในตะวันออกกลาง ตั้งแต่เรื่องเยเมน ที่กำลังเปิดการเจรจาสันติภาพกันแล้ว และเรื่องซีเรีย ซึ่งมีกำหนดเดินหน้าจัดการประชุมสันติภาพกันในเดือนสองเดือนนี้

รวมทั้งยังอาจจะเพิ่มความรุนแรงของความขัดแย้งระหว่างนิกายสุหนี่กับชีอะห์อีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น