xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำบุรุนดียอมถอย เปิดไฟเขียว AU ส่งผู้สังเกตการณ์ตรวจสอบความขัดแย้งในประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ / MGR Online - องค์การสหภาพแอฟริกัน (African Union : AU) เผยในวันเสาร์ (27 ก.พ.) โดยระบุว่าสามารถบรรลุข้อตกลงเบื้องต้นกับรัฐบาลบุรุนดี เกี่ยวกับการส่งผู้สังเกตการณ์ทางทหารจำนวน 100 คนของเอยู เข้าสู่บุรุนดี เช่นเดียวกับผู้สังเกตการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนที่มีจำนวนเท่ากัน

คำแถลงขององค์การสหภาพแอฟริกันระบุว่า ประธานาธิบดีปิแอร์ เอ็นคูรุนซิซา ผู้นำบุรุนดี ตกลงยอมเปิดทางให้ทางเอยูส่งคณะผู้สังเกตการณ์ดังกล่าวเข้าไปปฏิบัติภารกิจในประเทศของตน และว่าการเปิดไฟเขียวของผู้นำบุรุนดีในครั้งนี้เป็นพวงมาจากการเดินทางเยือนของคณะผู้นำ 5 ชาติแอฟริกันซึ่งประกอบไปด้วยผู้นำของแอฟริกาใต้ เอธิโอเปีย กาบอง เซเนกัล และมอริตาเนีย ยังไม่นับรวมกับการหารือแบบไม่เป็นทางการระหว่างผู้นำบุรุนดีกับ บัน คีมูน เลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่มีขึ้นก่อนหน้านี้ไม่นาน

ก่อนหน้านี้เป็นที่ทราบกันดีว่า ประธานาธิบดีปิแอร์ เอ็นคูรุนซิซา ผู้นำบุรุนดีได้แสดงจุดยืนคัดค้านการส่งคณะผู้แทนหรือกองกำลังรักษาสันติภาพของเอยูเข้ามาในประเทศของตนอย่างหัวชนฝา และกล่าวโจมตีเอยูว่า กำลังพยายามแทรกแซงกิจการภายในของชาติสมาชิก

เมื่อช่วงต้นเดือนมกราคม รัฐบาลบุรุนดีประกาศจะไม่เข้าร่วมการเจรจาสันติภาพกับฝ่ายค้านโดยอ้างว่าไม่ต้องการพูดคุยกับผู้มีส่วนรับผิดชอบหลายรายต่อการสร้างความรุนแรงในประเทศ ตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา

การเจรจาสันติภาพบุรุนดีซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างแทนซาเนีย ได้รับการผลักดันมาตั้งแต่เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาโดยประเทศต่างๆ ในภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก เพื่อหาทางยุติวิกฤตทางการเมืองในบุรุนดีที่สุ่มเสี่ยงจะลุกลามบานปลายจนกลายเป็นสงครามกลางเมืองเต็มรูปแบบ

อย่างไรก็ดี โจเซฟ บังกูรามโบนา ปลัดกระทรวงการต่างประเทศของบุรุนดี ออกมาเปิดเผยว่า รัฐบาลบุรุนดีจะไม่ขอมีส่วนร่วมใดๆ กับการเจรจารอบนี้ ที่มีกลุ่มคนผู้สนับสนุนให้เกิดความรุนแรงเข้าร่วมด้วย

เมื่อไม่นานมานี้ทางเอยู ให้คำมั่นแก่บุรุนดี โดยยืนยันแผนการส่งกองกำลังรักษาสันติภาพของตนเข้าไปยังอดีตอาณานิคมของเบลเยียมแห่งนี้ มีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อนำความสงบและสันติกลับคืนสู่ชาวบุรุนดี หลังต้องเผชิญกับช่วงเวลา 8 เดือนแห่งความวุ่นวายไร้ขื่อแป โดยเอยูย้ำชัดว่าองค์กรของตนไม่มี “จุดประสงค์แอบแฝง” ในการแทรกแซงบุรุนดี

ก่อนหน้านี้ ทางเอยูประกาศเมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคมว่าพร้อมส่งกำลังทหารรักษาสันติภาพจำนวน 5,000 นายเข้าไปยังบุรุนดีเพื่อให้การช่วยเหลือปกป้องพลเรือนในประเทศนี้จากวิกฤตทางการเมืองครั้งเลวร้ายที่สุด นับตั้งแต่ยุคสงครามกลางเมืองบุรุนดีเมื่อทศวรรษก่อนหน้า แม้ทางการบุรุนดีจะแสดงจุดยืนคัดค้านการจัดส่งกองกำลังรักษาสันติภาพของเอยู แบบเสียงแข็ง โดยระบุว่าการส่งกองกำลังต่างชาติเข้ามาในประเทศของตน ถือเป็นการละเมิดอธิปไตย ซึ่งรัฐบาลบุรุนดีมิอาจยอมให้เรื่องนี้เกิดขึ้นได้

อย่างไรก็ดี นางเอ็นโกซาซานา ดลามินี-ซูมา ผู้บริหารสูงสุดชาวแอฟริกาใต้ขององค์การเอกภาพแอฟริกัน ซึ่งได้รับเลือกให้เข้ามารับหน้าที่ผู้นำที่เป็นสตรีคนแรกขององค์กรแห่งนี้ ตั้งแต่เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2012 ออกโรงยืนยันว่า องค์กรของเธอไม่ได้มีจุดประสงค์แอบแฝงซ่อนเร้นใดๆ ในการส่งกองกำลังรักษาสันติภาพเข้าไปยังบุรุนดี นอกเหนือไปจากการให้ความช่วยเหลือแก่รัฐบาลบุรุนดีและประชาชนชาวบุรุนดีใน ช่วงเวลาแห่งความขัดแย้ง และการคุกรุ่นของไฟแห่งความรุนแรงในประเทศ พร้อมย้ำว่า ทางเอยูต้องการหารือร่วมกับรัฐบาลบุรุนดีก่อน เพื่อหาทางออกที่เหมาะสมที่สุดในการส่งกองกำลังรักษาสันติภาพของเอยูเข้าไปปฏิบัติภารกิจในบุรุนดี ภายใต้ “ความยินยอม” ของทางการบุรุนดี

ขณะเดียวกัน นางเอ็นโกซาซานา ดลามินี-ซูมายังเรียกร้องให้คู่ขัดแย้งฝ่ายต่างๆ ในวิกฤตการเมืองบุรุนดี หันหน้ามาร่วมกันหาทางออกให้กับประเทศของตัวเอง

ก่อนหน้านี้ บัน คีมูน เลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ เผยเมื่อ 30 พ.ย.ปีที่ผ่านมา โดยระบุว่ากำลังพิจารณาแผนส่งกองกำลังรักษาสันติภาพของยูเอ็นไปยังบุรุนดี เพื่อหาทางรับมือกับความรุนแรงในประเทศนี้ ท่ามกลางความพยายามทางการทูต ที่ต้องการผลักดันให้เกิดกระบวนการเจรจาระหว่างคู่ขัดแย้งฝ่ายต่างๆ ก่อนจะเกิดสงครามกลางเมืองเต็มรูปแบบ

เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติซึ่งเป็นชาวเกาหลีใต้เคยเสนอ 3 ทางเลือก ในการแก้วิกฤตในบุรุนดี ผ่านทางจดหมายที่ถูกส่งตรงถึงที่ประชุม 15 ชาติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UN Security Council) เพื่อหาทางยับยั้งเหตุนองเลือดในบุรุนดี

โดย 3 ทางเลือกที่บันนำเสนอ รวมถึงการส่งกองกำลังรักษาสันติภาพของยูเอ็น เข้าไปดูแลความสงบเรียบร้อย, การตั้งทีมผู้เชี่ยวชาญพิเศษเพื่อจับตาสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในบุรุนดี และการผลักดันกระบวนการเจรจาสันติภาพในบุรุนดีให้เป็นรูปเป็นร่าง

“ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในบุรุนดีได้พุ่งขึ้นสู่ระดับที่น่าตื่นตระหนก และการพูดคุยหารือกันเพื่อยุติความรุนแรงนี้จะต้องถูกจัดให้เป็นสิ่งที่มี ความสำคัญเป็นลำดับแรก โดยทางสหประชาชาติจะหาหนทางเพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ร่วมกับหุ้นส่วนในภูมิภาค เพื่อหยุดยั้งสถานการณ์ด้านความมั่นคงในบุรุนดีที่เลวร้ายย่ำแย่ลง และป้องกันการขยายวงกว้างของความรุนแรง ซึ่งอาจทำให้เกิดความเป็นไปได้ในการเกิดสงครามกลางเมืองเต็มรูปแบบ” เลขาธิการใหญ่ยูเอ็นกล่าวผ่านจดหมาย

ทั้งนี้ บุรุนดีได้ถลำเข้าสู่วิกฤตความรุนแรงนับตั้งแต่เมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว หลังจากที่ประธานาธิบดีปิแอร์ เอ็นคุรุนซิซา พยายามแก้บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเพื่อขยายอำนาจให้ตัวเองได้อยู่ในตำแหน่งผู้ นำประเทศต่อไปเป็นสมัยที่ 3 อีกทั้งยังดึงดันจัดการเลือกตั้งที่ทางคณะผู้สังเกตการณ์จากยูเอ็นระบุว่า ไม่มีทั้งความน่าเชื่อถือและความยุติธรรม เพื่อให้ตัวเองได้รับชัยชนะ เป็นเหตุให้ประชาชนจำนวนมากออกมาแสดงพลังต่อต้าน จนเกิดเหตุรุนแรงที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปอย่างน้อย 400 ราย ขณะที่ชาวบุรุนดีอีกมากกว่า 240,000 รายต้องหลบหนีออกนอกประเทศซึ่งในจำนวนนี้มีมากกว่า 73,000 รายที่หลบหนีเข้าไปยังประเทศรวันดาที่เป็นเพื่อนบ้าน





กำลังโหลดความคิดเห็น