xs
xsm
sm
md
lg

ผู้แทนนักเรียนใส่เสื้อแบรนด์เนมร่วมประชุมสำคัญ จุดประเด็นช่องว่างคนรวย-คนจนในระบบการศึกษาจีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เด็กชายหลิว ปั๋ว วัย 13 ปี เข้าร่วมการประชุมสภาที่ปรึกษาการเมืองประชาชนประจำปีของนครเซินเจิ้น (ภาพ เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์)
เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - นครเซินเจิ้นเชิญลูกคนรวยเข้าร่วมการประชุมสภาที่ปรึกษาการเมืองประชาชนประจำปี ในฐานะตัวแทนของเด็กนักเรียนในเมือง แต่ชาวโซเชียลมีเดียพากันสงสัยถึงความเหมาะสม ซึ่งนำไปสู่การถกเถียงกันเรื่องปัญหาคนรวยกับคนจนในระบบการศึกษาของจีน

เด็กชาย หลิว ปั๋ว วัย 13 ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 เข้าร่วมการประชุมในฐานะคณะผู้สังเกตการณ์จากภาคส่วนนักเรียน ซึ่งได้รับเชิญให้เข้าร่วมเป็นครั้งแรกในการประชุมที่จัดขึ้นเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ ที่ผ่านมา ดังนั้น ผู้เป็นตัวแทนของเด็กนักเรียนจึงถูกจับตามองไม่น้อย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลิวดึงดูดความสนใจจากสื่อมวลชนเป็นพิเศษ เพราะเขาเป็นตัวแทน ที่มีอายุน้อยที่สุดในการประชุมครั้งนี้

“เราหวังว่า (รัฐบาล) จะดำเนินการปฏิรูปการศึกษาได้ต่อไป และกำจัดข้อเสียเปรียบที่เกิดจากการศึกษา ที่มุ่งแต่การทำข้อสอบ ” หลิวให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์เซินเจิ้น

เขาเห็นว่า รัฐบาลควรเน้นการสร้างเสริมความสามารถและคุณภาพของนักเรียนมากกว่าให้กระดาษข้อสอบแผ่นหนึ่งมาเป็นสิ่งตัดสินอนาคตของนักเรียน

มาดของหลิวดูเนี้ยบและเอาการเอางาน เขาผูกผ้าพันคอสีแดง เครื่องหมายของนักบุกเบิกรุ่นเยาว์ (Young Pioneers) ซึ่งเป็นกลุ่มในสังกัดของสันนิบาตยุวชนพรรคคอมมิวนิสต์จีน

ทว่าชาวเน็ตแดนมังกรตาไวเหมือนเหยี่ยว โลโก้อาร์มานี แบรนด์แฟชั่นหรูระดับโลก บนปกเสื้อสูทของหลิว มิอาจเล็ดลอดสายตาไปได้ มันบอกชัด ๆ ว่าตัวแทนรุ่นเยาว์ผู้นี้มาจากครอบครัวคนรวย

“ตอนอยู่ชั้นมัธยมต้น ฉันไม่เคยรู้จักยี่ห้อนี้ด้วยซ้ำ” ชาวเน็ตคนหนึ่งให้ความเห็น

ขณะที่อีกหลายคนมองว่า ระบบการศึกษา ที่มุ่งเน้นการทำข้อสอบนี่แหละเป็นวิธีการที่ยุติธรรมที่สุด ซึ่งรับประกันได้ว่า ลูกคนจน ที่ฉลาดก็สามารถบดบังรัศมีลูกคนรวย หรือ ลูกคนที่มีฐานะดีกว่าได้

“ก็เล่นใส่อาร์มานียังงี้ ถ้าไม่มีการทำข้อสอบ แล้วเด็กคนอื่นๆ จะแข่งขันกับเธอได้ยังไงกันล่ะ” ชาวเน็ตคนหนึ่งบอก

ส่วนอีกคนแจกแจงเหตุผลว่า การใช้ข้อสอบตัดสินอนาคตนักเรียนอาจมีปัญหาหลายอย่าง แต่โดยกว้าง ๆ แล้วก็รับรองเรื่องความยุติธรรมได้ และถึงแม้มีช่องว่างระหว่างลูกคนรวยกับคนจน ถ้านักเรียนที่ยากจนขยันเรียนหนังสือ ก็อาจแข่งขันกับลูกคนรวยได้ แต่ถ้าระบบมุ่งแต่การศึกษาที่เน้นคุณภาพ ( quality education) เช่น ความสามารถด้านการเล่นเปียโน ไวโอลิน วาดรูป และร้องเพลงแล้ว ลูกคนรวยย่อมชนะลูกคนจนอย่างแน่นอน

ข้อคิดเห็นเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นถึงช่องว่าง อันมหึมาระหว่างคนรวยกับคนจนในระบบการศึกษาของจีน และหลายคนเห็นว่า ด้วยพื้นเพฐานะที่ร่ำรวย เด็กชายหลิวไม่น่าจะสามารถสะท้อนความคิดเห็นของเด็กนักเรียนคนอื่น ๆ ให้บรรดานักการเมืองรับทราบได้

สำหรับเด็กชายหลิวผู้นี้ คุณแม่ของเขาเคยประกอบอาชีพครู นักข่าว และเคยทำงานในบริษัทโฆษณา แต่ได้ลาออกจากงาน เพื่อมีเวลาดูแลลูกชาย ซึ่งขณะนั้นอายุ 2 ขวบได้อย่างเต็มที่

เด็กชายหลิวมีความสามารถเก่งกาจด้านการร้องเพลง เคยร้องเพลงโชว์ทางสถานีโทรทัศน์หลายช่อง มาตั้งแต่อายุได้ 6 ขวบ รวมทั้งช่องสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศจีน หรือ ซีซีทีวี

นอกจากนั้น ยังได้เคยเป็นตัวแทนนักเรียนที่มีพรสวรรค์โดดเด่นของจีนไปเยือนสหรัฐฯ และอังกฤษ รวมทั้งเคยเข้าร่วมการประชุมสภานักบุกเบิกรุ่นเยาว์แห่งชาติครั้งที่ 7 ในกรุงปักกิ่งเมื่อเดือนมิ.ย. ปี 2558 และได้มีโอกาสสัมผัสมือทักทายกับประธานาธิบดี สี จิ้นผิง อีกด้วย

ฝ่ายคุณแม่ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ปักกิ่ง ยูท เดลี เกี่ยวกับลูกชายว่า หลิวเคยเป็นตัวแทนนักเรียนเข้าร่วมการประชุมมาแล้วหลายเวที เขามักพูดคุยประเด็นด้านสังคมกับผู้ใหญ่ และมีความคิดเห็นเป็นของตนเอง

ส่วนเสื้อแบรนด์อาร์มานี คุณแม่บอกว่า เป็นของขวัญจากผู้จัดงานคอนเสิร์ต ที่หลิวไปแสดงในกรุงปักกิ่งเมื่อปีที่แล้ว

แต่ชาวเน็ตตามขุดคุ้ยไม่เลิก กระทั่งไปพบรูปถ่ายของเด็กชายหลิวอีกหลายรูป ที่เผยให้เห็นว่า เขาสวมชุดของแบรนด์อาร์มานีสุดหรู ราคาแพงอีกหลายชุด

"ดูท่าว่า แบรนด์รายนี้คงมอบให้ทั้งเสื้อชั้นในและชั้นนอกครบเครื่องสำหรับทุกฤดูกาลกับเขาเป็นแน่" ชาวเน็ตวิพากษ์วิจารณ์อย่างประชดประชัน

กำลังโหลดความคิดเห็น