xs
xsm
sm
md
lg

In Pics : “อากีโน” ร่วมรำลึก 30 ปีพลังประชาชนโค่นเผด็จการ “มาร์กอส” วอนชาวฟิลิปปินส์คว่ำบาตร “บุตรชายผู้นำขี้ฉ้อ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดี เบนิโญ อากีโน (เสื้อขาว) และอดีตประธานาธิบดี ฟิเดล รามอส แห่งฟิลิปปินส์ (เสื้อส้ม) ร่วมพิธีรำลึกครบรอบ 30 ปีการปฏิวัติพลังประชาชนโค่นล้มเผด็จการ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส บนถนนสายหลักในกรุงมะนิลา วันนี้ (25 ก.พ.)
เอเอฟพี - ประธานาธิบดี เบนิโญ อากีโน แห่งฟิลิปปินส์ ร่วมพิธีรำลึกครบรอบ 30 ปีการปฏิวัติ “พลังประชาชน” โค่นล้มเผด็จการ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส พร้อมเรียกร้องให้ชาวฟิลิปปินส์ช่วยกันสกัดกั้นไม่ให้ตระกูลมาร์กอสสามารถกลับมาสร้างอิทธิพลทางการเมืองได้อีก

แคมเปญหาเสียงเลือกตั้งในปีนี้ถือเป็นสนามประลองกำลังครั้งล่าสุดระหว่างสองตระกูลนักการเมืองใหญ่ของฟิลิปปินส์อย่าง อากีโน และ มาร์กอส

ข้อมูลจากนักสิทธิมนุษยชนระบุว่า มีชาวฟิลิปปินส์หลายหมื่นคนตกเป็นเหยื่อการทรมานและคุมขังในช่วง 20 กว่าปีที่มาร์กอสครองอำนาจ ขณะที่รัฐบาลฟิลิปปินส์ประเมินว่า ครอบครัวเผด็จการรายนี้ได้โกงทรัพย์สินของรัฐไปกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม ผลโพลหลายสำนักกลับบ่งบอกถึงแนวโน้มที่ชาวฟิลิปปินส์รุ่นใหม่ๆ จะเลือก “เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์” บุตรชายของมาร์กอส เป็นรองประธานาธิบดีในศึกเลือกตั้งเดือน พ.ค.นี้

“การปกครองของมาร์กอสไม่ใช่ยุคทองของฟิลิปปินส์ หากแต่เป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งที่แสนเจ็บปวด” อากีโนกล่าวต่อบรรดานักศึกษาและเจ้าหน้าที่รัฐราว 3,000 คน ณ อนุสรณ์สถานรำลึกเหตุการณ์ชุมนุมขับไล่รัฐบาลมาร์กอสเมื่อปี 1986

บิดาของอากีโน ถูกพวกทหารและตำรวจที่ภักดีต่อมาร์กอส ลอบสังหารที่สนามบินกรุงมะนิลาในปี 1983 ขณะที่เขาเดินทางกลับจากสหรัฐฯ เพื่อมาเป็นแกนนำต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ

การตายของ ส.ว.เบนิโญ “นินอย” อากีโน กลายเป็นชนวนเหตุสำคัญให้ชาวฟิลิปปินส์ลุกฮือโค่นล้มรัฐบาลมาร์กอส โดยมี โคราซอน อากีโน ภรรยาหม้ายของผู้ตายเป็นหัวหอก และต่อมาเธอเองก็ได้ก้าวสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีหญิงคนแรกของฟิลิปปินส์

ผลของการปฏิวัติพลังประชาชนทำให้ มาร์กอส ต้องหอบลูกเมียไปลี้ภัยในสหรัฐฯ แต่หลังจาก มาร์กอส ผู้พ่อถึงแก่กรรมลงที่รัฐฮาวายในปี 1989 ครอบครัวของเขาก็เดินทางกลับฟิลิปปินส์ในปี 1991 และค่อยๆ สั่งสมอิทธิพลทางการเมืองขึ้นมาใหม่ ภายใต้การนำของ อิเมลดา ภริยาหม้ายของอดีตจอมเผด็จการ

เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ หรือที่ชาวบ้านเรียกติดปากว่า “บองบอง” สอบผ่านสนามเลือกตั้ง ส.ว. ในปี 2010 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่สมาชิกในครอบครัวมาร์กอสได้กลับเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีกครั้ง

ล่าสุด บองบองได้ประกาศตัวลงชิงเก้าอี้รองประธานาธิบดีซึ่งถือเป็นตำแหน่งสูงสุดอันดับ 2 ของประเทศ
ส.ว. เฟอร์ดินานด์ บองบอง มาร์กอส (ซ้าย) กับนาง อิเมลดา มาร์กอส ผู้เป็นแม่ (ขวา) และ อีมี มาร์กอส น้องสาว ซึ่งเป็นผู้ว่าการจังหวัดอิโลกอสนอร์เต (กลาง)
“การประกาศกฎอัยการศึกเคยเกิดขึ้นจริงในประเทศนี้ จอมเผด็จการกับครอบครัวและสมุนของเขาผูกขาดอำนาจไว้ในมือ โดยแลกมาด้วยชีวิตและเสรีภาพของประชาชนชาวฟิลิปปินส์” อากีโนกล่าวในพิธีรำลึกวันนี้ (25 ก.พ.) พร้อมทั้งวิจารณ์ มาร์กอส ผู้บุตรที่ไม่เคยขออภัยในความผิดที่บิดาตนได้กระทำไว้กับประเทศชาติ

“ถ้าเขายังไม่สำนึกว่าครอบครัวเคยทำผิดอะไรไว้กับประเทศชาติบ้าง เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเขาจะไม่ทำเช่นนั้นอีก” อากีโน ตั้งคำถาม

“ขอให้เราทุกคนช่วยกัน เพื่อรับรองว่าฟิลิปปินส์จะไม่กลับไปสู่ยุคมืดอีก”

โจนาธาน เดอ ลา ครูซ ผู้จัดการแคมเปญหาเสียงของ มาร์กอส ได้ออกมาตอบโต้ความพยายามเตะสกัดบุตรชายอดีตจอมเผด็จการ โดยเรียกร้องให้ผู้ที่ต่อต้าน มาร์กอส ช่วยแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชน เช่น ปัญหาความยากจน การว่างงาน อาชญากรรม และระบบรางที่ยังไร้ประสิทธิภาพ จะดีกว่า

“พวกเขาคิดแต่จะทำลายภาพลักษณ์ของ ส.ว.มาร์กอส แทนที่จะใส่ใจปัญหาตรงหน้า ซึ่งถ้าไม่ได้รับการแก้ไขก็จะส่งผลกระทบไปถึงคนรุ่นลูกรุ่นหลานของเรา” ครูซกล่าว

มาร์กอส จูเนียร์ ซึ่งสร้างคะแนนนิยมให้ตนเองจากการขัดขวางข้อตกลงสันติภาพระหว่างรัฐบาลอากีโนกับกบฏมุสลิมในภาคใต้ เคยพูดหลายครั้งว่าครอบครัวของเขา “ไม่มีอะไรต้องขอโทษ” และยังยกย่องบิดาว่าเป็นผู้ที่ทำให้เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ในยุคนั้นรุ่งเรือง

ตัว อากีโน เองแม้จะยังได้รับความนิยมอย่างสูงจากประชาชน แต่ก็ถูกห้ามโดยรัฐธรรมนูญไม่ให้ลงสมัครชิงเก้าอี้ผู้นำประเทศเป็นสมัยที่ 2 ต่อเนื่อง

สำหรับตำแหน่งรองประธานาธิบดีในฟิลิปปินส์นั้น จะมีการเลือกตั้งแยกต่างหาก

บุคคลที่ อากีโน สนับสนุนให้ขึ้นนั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีคนใหม่ถูกมองว่าไม่มีคุณสมบัติน่าสนใจพอ และยังมีคะแนนนิยมตามหลัง มาร์กอส จากโพลหลายสำนัก








กำลังโหลดความคิดเห็น