xs
xsm
sm
md
lg

นักสิทธิโวย! ญี่ปุ่นรับผู้ลี้ภัยแค่ 27 คน ในปี 2015 คำร้องอีก 99% ถูกเมิน!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ แห่งญี่ปุ่น
เอเอฟพี - รัฐบาลญี่ปุ่นปฏิเสธคำร้องขอลี้ภัยเกือบทั้งหมดในปี 2015 โดยยอมรับผู้ลี้ภัยเข้าประเทศเพียง 27 คนเท่านั้น เรียกเสียงวิจารณ์อื้ออึงจากบรรดานักสิทธิมนุษยชนที่เห็นว่าโตเกียวควรจะเปิดประตูต้อนรับผู้คนที่หนีร้อนมาพึ่งเย็นมากกว่านี้

รัฐบาลโตเกียวมีนโยบายจำกัดการรับผู้ลี้ภัยอย่างเข้มงวด เนื่องจากกังวลผลกระทบที่จะมีต่อสังคมแดนปลาดิบซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นสังคมแบบเชื้อชาติเดียว (homogeneous society)

ในบรรดาผู้อพยพหลายพันคนซึ่งขอสถานะผู้ลี้ภัย มีชาวซีเรียรวมอยู่ด้วย 5 คน โดยทางการญี่ปุ่นยอมรับเข้าประเทศเพียง 3 คนเท่านั้น ซึ่งเทียบไม่ได้เลยกับการที่ชาติยุโรปต้องเปิดประตูรับคลื่นชาวซีเรียนับแสนๆ ที่หนีสงครามมาจากตะวันออกกลาง

กระทรวงยุติธรรมญี่ปุ่นระบุว่า ในปี 2015 มีชาวต่างชาติยื่นคำร้องขอลี้ภัยรวมทั้งสิ้น 7,586 ราย ซึ่งหมายความว่ามีคำร้องกว่า 99% ที่ถูกปฏิเสธ

อย่างไรก็ดี ทางกระทรวงชี้ว่า ยอดผู้ลี้ภัย 27 คนนั้นถือว่า “เพิ่มขึ้น” จากสถิติ 6 คนในปี 2013 และ 11 คนในปี 2014

ในจำนวนชาวต่างชาติ 27 คนที่ญี่ปุ่นยอมรับเข้าประเทศ ยังรวมถึงชาวอัฟกานิสถาน 6 คน, ชาวเอธิโอเปีย 3 คน และชาวศรีลังกาอีก 3 คน

สมาคมผู้ลี้ภัยแห่งญี่ปุ่นแถลงว่า แม้ความพยายามผลักดันให้รัฐบาลญี่ปุ่นยอมรับผู้ลี้ภัยจะคืบหน้าไปมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ควรจะเพิ่มจำนวนให้มากกว่านี้

“เราหวังว่า (รัฐบาลญี่ปุ่น) จะหารือกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNHCR) หรือหน่วยงานเอ็นจีโอ เพื่อพิจารณาหามาตรการที่จะคัดกรองผู้ลี้ภัยได้อย่างรวดเร็ว และเป็นไปตามระเบียบของนานาชาติ”

นักสิทธิมนุษยชน ทนายความ และชุมชนผู้อพยพในญี่ปุ่น ต่างร้องเรียนมานานหลายปีเกี่ยวกับพฤติกรรมเกรี้ยวกราดของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง และความเป็นอยู่ที่ยากลำบากในศูนย์กักกันผู้อพยพ

UNHCR ระบุว่า ญี่ปุ่นรับผู้ลี้ภัยเข้าประเทศแล้วทั้งสิ้น 2,419 คน ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในกลุ่มชาติอุตสาหกรรมชั้นนำ G7 เช่น สหรัฐฯ ซึ่งเปิดรับผู้ลี้ภัย 267,222 คน และตุรกีซึ่งมีผู้ลี้ภัยมากถึง 1.8 ล้านคน
ครอบครัวชาวเมียนมารอเปลี่ยนเครื่องบินที่สนามบินสุวรรณภูมิก่อนเดินทางต่อไปยังญี่ปุ่น ตามโครงการจัดหาที่อยู่ใหม่ในประเทศที่ 3 ให้แก่ผู้ลี้ภัยซึ่งองค์การสหประชาชาติ UN ให้การสนับสนุน (แฟ้มภาพ ปี 2011)

กำลังโหลดความคิดเห็น