xs
xsm
sm
md
lg

สื่อแฉรัฐบาลยูเครนปกปิดข้อมูล พบไวรัส H1N1 ระบาดหนักคร่าแล้วกว่า 250 ศพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - มีผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดหมูแล้วมากกว่า 250 คนในยูเครนนับตั้งแต่ปลายเดือนกันยายนปีก่อน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเผยในวันพฤหัสบดี (18 ก.พ.) โดยเฉพาะในช่วง 2 สัปดาห์หลังสุดพบมีผู้ถูกไวรัส H1N1 คร่าชีวิตเกือบ 70 ราย

โฆษกของศูนย์ไข้หวัดและโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจรุนแรงของยูเครน ซึ่งไม่ประสงค์เอ่ยนาม เปิดเผยกับเอเอฟพีว่า ประเทศที่ถูกสงครามฉีกขาดแห่งนี้กำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของไข้หวัดซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปแล้ว 313 ศพ นับตั้งแต่พบผู้ติดเชื้อรายแรกในวันที่ 28 กันยายนปีก่อน “ในจำนวนนั้นมีอยู่ 253 รายที่ยืนยันได้ว่ามีสาเหตุจากไข้หวัดหมู”

นับเป็นครั้งที่ 2 เท่านั้นที่ยูเครนเปิดเผยตัวเลขผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ 2009 ขณะที่ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขบอกกับเอเอฟพีเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาว่า มันถูกปฏิบัติในฐานะความลับของรัฐในเหตุผลที่ไม่เปิดเผย

ไข้หวัดหมูเป็นชื่อสามัญของไวรัส H1N1 โรคติดต่อระบบทางเดินหายใจที่ติดต่อผ่านทางการสัมผัสระหว่างมนุษย์กับหมู ขณะที่เหล่าผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขเผยว่ามันแพร่เชื้อระหว่างมนุษย์ผ่านการหายใจ ไม่ใช่จากการรับประทานผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับหมู

ข้อมูลที่เผยแพร่ต่อเอเอฟพีในวันพฤหัสบดี (18 ก.พ.) เป็นเพียงบางส่วนที่รัฐบาลยูเครนปกปิดไว้ รวมถึงไม่มีตัวเลขอย่างเป็นทางการที่พอจะเป็นประโยชน์จากดินแดนต่างๆ ทางตะวันออกของประเทศซึ่งอยู่ภายใต้การครอบครองของกบฏนิยมรัสเซียมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2014

นอกจากนี้แล้ว เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ตอบคำถามของเอเอฟฟีก็ไม่ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไข้หวัดหมูของปีก่อนๆ

นอกเหนือจากในยูเครนแล้ว การแพร่ระบาดของไข้หวัดหมูในชาติเพื่อนบ้านอย่างรัสเซียก็เป็นที่น่าจับตา โดยเอเอฟพีอ้างการคำนวณจากข้อมูลของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขตามภูมิภาคต่างๆ ของแดนหมีขาวในวันที่ 26 มกราคม ระบุว่ามีผู้เสียชีวิตจากไวรัสชนิดนี้อย่างน้อย 50 คนในรัสเซีย

การแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของไวรัส H1N1 เคยกระตุ้นให้องค์การอนามัยโลกประกาศให้มันเป็นโรคระบาดแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 21 ในเดือนมิถุนายน 2009 หลังจากมันปรากฏตัวขึ้นที่เม็กซิโกและสหรัฐฯ ก่อนที่จะคร่าชีวิตผู้คนราว 18,500 รายใน 214 ประเทศ ทว่าต่อมาองค์การอนามัยโลกได้ยกเลิกประกาศดังกล่าวในเดือนสิงหาคม 2010


กำลังโหลดความคิดเห็น