xs
xsm
sm
md
lg

In Clips: “ทิม คุก เจ้าพ่อแอปเปิล” ท้าทายคำสั่งศาลสหรัฐฯ “ไม่ยอมปลดล็อก”ไอโฟนก่อการร้ายซานเบอร์นาดิโนเจ้าปัญหา ลั่น! “ไม่แฮ็กมือถือลูกค้าเพื่อวอชิงตัน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอพี/เอเจนซีส์/ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ซีอีโอ แอปเปิล อิงค์ "ทิม คุก" ประกาศล่าสุดว่า จะไม่ยอมทำตามคำสั่งศาลสหรัฐฯที่พิพากษาให้แอปเปิล อิงค์ ช่วยเจ้าหน้าที่สอบสวนคดีก่อการร้ายซานเบอร์นาดิโน ด้วยการแฮ็กข้อมูลจากไอโฟนรุ่น5c โทรศัพท์ของชาเย็ด ฟารุก 1 ใน 2 ของผู้ก่อการร้ายก่อเหตุ อ้างผลร้ายเกินกว่าจะคาดได้

ทั้งนี้ทิม คุก เจ้าพ่อแอปเปิล อิงค์ ได้ออกแถลงการณ์ในกลางดึกวันอังคาร(16 ก.พ)ประกาศที่จะปฎิเสธทำตามคำสั่งของเชรี พิม( Sheri Pym) ศาลแขวงสหรัฐฯที่พิพากษาในวันเดียวกัน( 16 ก.พ) ออกคำสั่งบังคับให้ให้บริษัทแอปเปิล อิงค์ ที่มีฐานในเมืองคูเพอร์ทิโน (Cupertino) รัฐแคลิฟอร์เนีย ทำการปลดล็อกโทรศัพท์มือถือไอโฟนรุ่น 5c ของซาเย็ด ฟารุก ผู้ก่อการร้ายซานเบอร์นาดิโน เพื่อประโยชน์ในการสอบสวนคดีกราดยิง 14 ศพวันที่ 2 ธ.ค 2015 หลังจากก่อนหน้านี้แอปเปิลปฎิเสธที่จะยอมช่วยเหลือด้วยความสมัครใจ

โดยเอพีชี้ว่า ซีอีโอใหญ่แห่งแอปเปิล อิงค์ ให้ความเห็นว่า หากยอมอนุญาตให้มีการเจาะระบบการรักษาความปลอดภัย encryption ขึ้นจะทำให้เกิดปัญหาความปลอดภัยครั้งใหญ่กับอุปกรณ์ด้านเทคโนโลยี

ทั้งนี้มีรายงานว่า คุกได้ออกแถลงการณ์ตอบโต้คำสั่งศาลสหรัฐฯด้วยคำพูดที่ฉุนเฉียวบนเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของบริษัทในช่วงดึกของเมื่อวานนี้ว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ทางแอปเปิล อิงค์ขอเรียกร้องให้มีการเปิดวิพากษ์ทางสาธารณะ และเราต้องการให้ลูกค้าและประชาชนทั่วอเมริกาเข้าใจว่า ในคำสั่งนี้หากต้องถูกปฎิบัติตามแล้ว จะมีผลอย่างไรต่อพวกเขาหลังจากนั้นบ้าง”

และนอกจากนี้คุกยังชี้ว่า “คำสั่งที่ออกมาเกินไปกว่าในแง่ของกฎหมายคดี”

เอพีรายงานว่า การพิพากษาของศาลแขวงรัฐบาลกลางสหรัฐฯเป็นเสมือนชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์ของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯทางด้านนโยบายเทคโนโลยีที่ทั้งบริษัทเทคโนโลยีทั้งหลาย และประชาชนอเมริกัน ต่างเผชิญหน้ากับผู้บังคับใช้อำนาจทางกฎหมายในปัญหาสิทธิความลับส่วนบุคคลกับผลประโยชน์ด้านความมั่นคงอเมริกา

นอกจากนี้ในแถลงการณ์ของคุก ยังกล่าวต่อว่า คำสั่งจากรัฐบาลสหรัฐฯจะเป็นการทำให้ระบบรักษาความปลอดภัย encryption ต้องมีปัญหา โดยหมายความว่า จะต้องมีการสร้างซอฟต์แวร์พิเศษขึ้นมาที่คล้ายกับเป็น “back door” ซึ่งประธานบริหารบริษัทแอปเปิล อิงค์เปรียบว่า เป็นเสมือน “กุญแจมาสเตอร์” ที่สามารถปลดล็อกได้จำนวนมหาศาล

และหากตกอยู่ในมือคนร้าย ซึ่งซอฟแวร์นี้ที่ยังไม่มีการคิดค้นขึ้น จะสร้างความเสียหายครั้งร้ายแรง ด้วยเพียงแค่สามารถปลดล็อกโทรศัพท์ไอโฟนเครื่องใดก็ได้ในโลกนี้ แค่หากเพียงมีโทรศัพท์เครื่องนั้นในมือ คุกกล่าวผ่านแถลงการณ์

และคุกยังกล่าวต่อ โดยเอ่ยถึงหน่วยงาน FBI ว่า “แต่ทว่าทาง FBI อาจเรียก “เครื่องมือชิ้นนี้” ในชื่ออื่น แต่อย่างไม่ต้องสงสัยเลยว่า การสร้าง ios ที่อนุญาตให้มีการไบพาสเจาะระบบได้นั้น ก็คือการสร้างประตูหลัง และถึงแม้ว่าทางรัฐบาลสหรัฐฯอาจจะอ้างว่า ต้องการใช้อย่างจำกัดเฉพาะกับคดีนี้เท่านั้น แต่นี้ไม่มีสิ่งใดจะรับประกันในทางปฎิบัติได้” ซีอีโอแอปเปิล อิงค์ แถลงต่อ

เอพีรายงานว่า นับตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา ทางแอปเปิล อิงค์ได้สร้างระบบรักษาความปลอดภัยที่อนุญาตให้เฉพาะเจ้าของเครื่องโทรศัพท์เท่านั้นที่สามารถเข้าถึงข้อมูลของเครื่องได้ด้วยรหัสผ่านพาสโค๊ด

และนอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า โทรศัพท์มือถืไอโฟน 5c ของฟารุก ที่ได้รับมาจากหัวหน้าแผนกสาธารณสุขแคลิฟอร์เนียเพื่อใช้ในการปฎิบัติหน้าที่นั้น เป็นระบบปฎิบัติการ ios เวอร์ชั่นใหม่ล่าสุดของแอปเปิล อิงค์ ที่จำเป็นต้องใช้รหัสพาสโค๊ดในการเปิดเข้าสู่ข้อมูลข้างใน และทางบริษัทแอปเปิล อิงค์ไม่สามารถเปิดได้ ต่างจากรุ่นก่อนหน้านี้ หรือโทรศัพท์มือถือระบบเก่า

นอกจากนี้เอพียังรายงานว่า ในระบบโทรศัพท์ไอโฟนของฟารุกนั้นถูกป้องกันด้วยระบบการทำลายข้อมูลอัตโนมัติหากมีการป้อนรหัสพาสโค๊ดผิดถึง 10 ครั้งติดต่อกัน ซึ่งดูเหมือนฟารุกจะเปิดฟีเจอร์การใช้งานนี้ในครั้งล่าสุดที่เขาทำการแบ็คอัฟข้อมูลก่อนถูกยิงเสียชีวิต

อย่างไรก็ตาม พบว่า โทรศัพท์ไอโฟน 5c ของฟารุกเครื่องที่ผู้พิพากษาศาลแขวงรัฐบาลสหรัฐฯสั่ง ถูกพบทิ้งไว้ที่รถยนต์เล็กซัสสีดำของครอบครัว โดยที่ตัวเขาไม่ได้นำติดตัวไปด้วย แต่กระนั้นทาง FBI และเจ้าหน้าที่สอบสวนเชื่อว่า อาจมีข้อมูลสำคัญซ่อนอยู่ในโทรศัพท์เครื่องนี้ เป็นต้นว่า ใครที่ได้รับการติดต่อกับสองคนร้ายมือยิงซานเบอร์นาดิโนบ้าง และใครเป็นผู้ช่วยวางแผนก่อเหตุ และช่วยร่วมลงมือ และต้องการทราบว่าคนทั้งคู่ไปที่ใดบ้างก่อนถูกยิงเสียชีวิต

USA TODAY สื่อสหรัฐฯรายงานว่า เหตุที่ระบบ encryption มีความหมายต่อทิม คุก และบริษัทเทคโนโลยีต่างๆในซิลิคอนแวลเลย์เป็นอย่างมาก เพราะระบบรักษาความปลอดภัยด้านเทคโนโลยีเป็นเสมือนสิ่งที่จะกำหนดความสำเร็จหรือล้มเหลวของบริษัทเทคโนโลยีได้ดี เป็นการวัดว่าบริษัทจะสามารถรักษาความลับของลูกค้าได้มากแค่ไหน

และจากปัญหา back door เกิดขึ้น หลังจากที่ เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน อดีตเจ้าหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูล NSA ได้ออกมาเปิดเผยถึงโครงการสอดแนมระดับชาติของสหรัฐฯในโครงการปริซึม ที่ได้มีการแฉว่าบริษัทให้บริการเครือข่ายเซลลูลาร์มือถือในอเมริกา รวมไปถึงบรรดาบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของอเมริกา ยอมเปิดประตูหลังให้หน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯทำการสอดแนมข้อมูลของลูกค้าที่ถูกส่งผ่านเครือข่าย

และทำให้บริษัทแอปเปิล เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ ต่างออกมาประกาศจะไม่ยอมให้ประตูหลังเช่นนี้เกิดขึ้นอีก

อย่างไรก็ตาม สื่อ USA TODAY ชี้ว่า แอปเปิล อิงค์ มีเวลา 5 วันในการตอบศาลสหรัฐฯอย่างเป็นทางการว่าจะยอมปฎิบัติตามคำสั่งหรือไม่








กำลังโหลดความคิดเห็น