รอยเตอร์ - นายบูทรอส บูทรอส-กาลี อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ ที่ดำรงตำแหน่งสมัยสงครามอดีตยูโกสลาเวีย ความอดอยาก และเหตุฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในแอฟริกา เสียชีวิตแล้วในวัย 93 ปี จากการเปิดเผยของประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ในวันอังคาร (16ก.พ.)
15 ชาติสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ยืนสงบนิ่งเป็นเวลา 1 นาที หลังเหตุถึงแก่อสัญกรรมของนายบูทรอส-กาลี ถูกแจ้งโดย นายราฟาเอล ดาริโอ รามิเรซ คาร์เรโน เอกอัครราชทูตเวเนซุเอลาประจำยูเอ็น ประเทศประธานหมุนเวียนคณะมนตรีความมั่นแห่งสหประชาชาติ ประจำเดือนกุมภาพันธ์
นายบูทรอส-กาลี ชาวอียิปต์ ดำรงตำแหน่งผู้นำของสหประชาชาติระหว่างปี 1992 ถึง 1996 ทั้งนี้ในฐานะเลขาธิการสหประชาชาติคนแรกที่มาจากแอฟริกา เขามีส่วนร่วมกับการช่วยเหลือผู้อดอยากในโซมาเลีย และจัดตั้งปฏฺิบัติการบรรเทาทุกข์ขนานใหญ่ครั้งแรกของยูเอ็นในจะงอยแอฟริกา
แต่ความสำเร็จของเขาที่นั่นค่อยๆ เลือนหายไป ขณะที่สหประชาชาติเดินโซเซอยู่ในโลกยุุคหลังคอมมิวนิสต์ที่เต็มไปด้วยความยุ่งเหยิง ด้วยองค์กรแห่งนี้ และมหาอำนาจในคณะมนตรีความมั่นคงประเมินความเกลียดชังอย่างสุดขั้วที่อยู่เบื้องหลังความขัดแย้งต่างๆ ต่ำเกินจริง จากนั้นเขาก็มีชื่อเสียงในฐานะผู้เป็นขวากหนาม และความไม่พอใจของสหรัฐฯ คือ แรงผลักดันสำคัญที่ขับให้เขาต้องพ้นจากตำแหน่งไป
ก่อนหน้าเข้ารับตำแหน่ง นายบูทรอส-กาลี เคยทำงานให้แก่ประธานาธิบดีอียิปต์หลายคน ไม่ว่าจะเป็นนายอันวาร์ ซาดัต และฮอสนี มูบารัค เขาเดินทางไปพร้อมกับนายซาดัต ในการเยือนเยรูซาเลมครั้งประวัติศาสตร์ในปี 1977 และมีบทบาทสำคัญในข้อตกลงแคมป์เดวิดในประเด็นตะวันออกกลางหลังจากนั้น
เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์สำหรับความล้มเหลวในปฏิบัติการของยูเอ็นระหว่างการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา ปี 1994 และไม่ผลักดันอย่างหนักแน่นพอให้ยูเอ็นเข้าแทรกแซงเพื่อยุติสงครามกลางเมืองแองโกลา ในยุคทศวรรษ 1990 ซึ่งตอนนั้นถือเป็นหนึ่งในความขัดแย้งที่ยืดเยื้อที่สุดของโลก
นายบูทรอส-กาลี พบว่า ตนเองถูกเย้ยหยันในซาราเยโว, โมกาดิชู และแอดดิสอาบาบา ด้วยสไตล์ของเขาคือ เดินลุยเข้าหาฝูงชน และเผชิญต่อผู้ประท้วงหากได้รับอนุญาตจากหน่วยรักษาความปลอดภัย
เขาสร้างความตกตะลังแก่ชาวซาราเยโว ด้วยบอกว่าแม้ไม่มีประสงค์ดูแคลนความน่าสยดสยองในบอสเนีย แต่คงมีไม่กี่ประเทศบนโลกที่มีคนตายมากกว่าดินแดนแห่งนี้
นอกจากนี้แล้วเขายังเคยบอกแก่พวกนายทัพ และเหล่าผู้นำเผ่าพันธุ์ต่างๆ ในโซมาเลียให้หยุดกล่าวหาสหประชาชาติ และเขาว่าเป็นพวกล่าอาณานิคม พร้อมระบุว่า โซมาเลียควรหันไปกังวลกับอดีตมหาอำนาจเจ้าของอาณานิคมที่จะละเลยชะตากรรมของพวกเขาหากยังสู้รบกันต่อไป