xs
xsm
sm
md
lg

บอสเนียฯ-เซอร์เบีย จัดประชุม ครม.ร่วมครั้งแรกในประวัติศาสตร์ แม้เคยรบพุ่งดุเดือดช่วงสงครามกลางเมืองยูโกฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายกรัฐมนตรีอเล็กซานดาร์ วูซิช แห่งเซอร์เบีย (คนขวา)  ร่วมเดินตรวจแถวทหารกองเกียรติยศกับนายกรัฐมนตรีเดนิส ซวิซดิช แห่งบอสเนียฯ ที่กรุงซาราเยโว ในวันพุธ ( 4 พ.ย.)
เอพี / เอเจนซีส์ / ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - รัฐบาลบอสเนีย-เฮอร์เซโกวินา และเซอร์เบียจัดการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ในวันพุธ (4 พ.ย.) หวังฟื้นฟูความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างกัน ถึงแม้ประเทศเพื่อนบ้านแถบตะวันตกของคาบสมุทรบอลข่านทั้งสองจะเคยมีสถานะเป็น “คู่สงคราม” ระหว่างกันเมื่อกว่า 25 ปีก่อน ในช่วงที่อดีตยูโกสลาเวียล่มสลาย

รายงานข่าวล่าสุดจากกรุงซาราเยโว เมืองหลวงของบอสเนีย-เฮอร์เซโกวินาระบุว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมครั้งแรกในประวัติศาสตร์ระหว่างรัฐบาลบอสเนีย-เฮอร์เซโกวินาและเซอร์เบียมีมติเห็นชอบร่วมกันให้มีการลงนามในข้อตกลงความร่วมมือเกี่ยวกับการค้นหาบุคคลที่สูญหายระหว่างช่วงสงครามกลางเมืองในอดีตยูโกสลาเวีย ตลอดจนมีการบรรลุข้อตกลงความร่วมมือในด้านอื่น ๆ ซึ่งรวมถึงข้อตกลงด้านโทรคมนาคม การปกป้องมรดกทางวัฒนธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน

นายกรัฐมนตรีเดนิส ซวิซดิชแห่งบอสเนียฯ ออกมาเปิดเผยต่อผู้สื่อข่าว หลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมโดยยืนยันว่านี่เป็นเพียงกระบวนการเริ่มต้นของการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศทั้งสอง และว่าการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมระหว่างบอสเนียฯ กับเซอร์เบีย ในลักษณะเช่นนี้จะเกิดขึ้นอีกอย่างแน่นอน

ขณะที่นายกรัฐมนตรีอเล็กซานดาร์ วูซิช แห่งเซอร์เบียแถลงว่า ประเทศเพื่อนบ้านทั้งสองได้ตระหนักถึงความสำคัญของกันและกันมากขึ้นทุกขณะ และว่าทั้งสองประเทศต่างก็ไม่ปรารถนาที่จะมองกันและกันเยี่ยงศัตรูอีกต่อไป เพราะในความเป็นจริงแล้ว ทั้งบอสเนียฯและเซอร์เบียต่างสามารถเป็น “เพื่อนแท้” ต่อกันได้

ทั้งนี้ ย้อนกลับไปเมื่อช่วงสงครามบอสเนียฯ ระหว่างปี ค.ศ. 1992-1995 ที่คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 100,000 ราย รัฐบาลของเซอร์เบียในขณะนั้นได้ให้การหนุนหลังการเคลื่อนไหวของกลุ่มชาวเซอร์บในบอสเนียฯ ให้จับอาวุธขึ้นต่อสู้กับรัฐบาลบอสเนียฯ เพื่อแยกดินแดนมารวมกับเซอร์เบีย และในช่วงหลังสงคราม ทางการเซอร์เบียก็ยังคงรักษานโยบายดังกล่าวอยู่อีกนานหลายปี ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่า ความปรารถนาของทั้งสองประเทศในการก้าวเข้าเป็นสมาชิกใหม่ของสหภาพยุโรป (อียู) ในอนาคต คือแรงผลักดันสำคัญที่ดึงให้อดีตประเทศคู่สงครามทั้งสองหันหน้าเข้าหากันเพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์