เอเจนซีส์ - นายกรัฐมนตรีเยอรมนี อังเกลา แมร์เคิล ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์เยอรมนี ชตุตต์การ์เตอร์ ไซตุง ( Stuttgarter Zeitung) ในวันจันทร์(15 กพ.) ประกาศสนับสนุนแนวความคิดตั้งเขตห้ามบินทางตอนเหนือของซีเรีย ที่เสนอโดยตุรกี เพื่อทำให้วิกฤตซีเรียลดความตึงเครียดลง ทั้งๆ ที่รัสเซียร่วมกับรัฐบาลซีเรียยังเดินหน้าออกปฏิบัติการทางการอากาศถล่ม IS และทำให้ในวันเดียวกันเครมลินออกมาโต้ โดยยืนยัน จะยังเดินหน้าใช้ปฏิบัติการทางอากาศโจมตีกลุ่มก่อการร้ายต่อไป
RT สื่อรัสเซีย รายงานวันนี้ (16 ก.พ.) ว่า ผู้นำเยอรมนีมีท่าทีเห็นด้วยกับข้อเสนอเขตห้ามบินของอังการาที่ต้องการสร้างเขตบัฟเฟอร์โซนยาวตลอดแนวพรมแดนซีเรียในส่วนที่ติดกับตุรกี
โดยจากการให้สัมภาษณ์ของอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีแก่หนังสือพิมพ์ ชตุตต์การ์เตอร์ ไซตุง( Stuttgarter Zeitung) ในวันจันทร์ (15 ก.พ.) ว่า “ในสถานการณ์ปัจจุบัน แนวคิดนี้จะมีประโยชน์มากในการสร้างบริเวณที่ไม่อนุญาตให้ฝ่ายใดสามารถเข้าไปทำการโจมตีทางอากาศได้ ซึ่งกล่าวง่ายๆ ว่าเป็นเขตห้ามบิน” แมร์เคิลกล่าวให้ความเห็นในการจัดหาที่ตั้งเพื่อเป็นศูนย์ผู้อพยพเมื่อถูกชตุตต์การ์เตอร์ ไซตุง ถาม
และสื่อรัสเซียยังรายงานต่อว่า การสนับสนุนจัดตั้งเขตห้ามบินนี้สอดคล้องกับจุดยืนของอังการา ซึ่งทางตุรกีได้เรียกร้องมาตลอดให้มีการกำหนดจุดห้ามบินบริเวณส่วนต่างๆ ของซีเรีย โดยผู้นำเยอรมนีระบุว่า ในขณะที่เป็นไปได้ที่จะมีการเปิดการเจรจากับกลุ่มก่อการร้าย IS จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ทั้งฝ่ายต่อต้านอัสซาด และฝ่ายสนับสนุนอัสซาด…จะหันหน้ามาตกลงร่วมกัน
แต่อย่างไรก็ตาม RT ชี้ว่าข้อเสนอเขตห้ามบินของแมร์เคิลนั้นไม่ใช่สิ่งที่นาโต้ต้องการ ซึ่งก่อนหน้านั้นในสัปดาห์ที่ผ่านมานาโต้ได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการไม่ยอมรับข้อเสนอจัดเขตห้ามบิน
โดยเลขาธิการนาโต้ เจ็นส์ สโตลเทนเบิร์ก (Jens Stoltenberg) ได้กล่าวยืนยันอย่างหนักแน่นว่า ข้อเสนอเขตห้ามบินนี้ทางนาโต้จะปล่อยให้สหรัฐฯ ชาติผู้นำพันธมิตรปฏิบัติการต่อต้านก่อการร้ายในซีเรียเป็นผู้ตัดสินใจ
ซึ่งการออกแถลงการณ์ของสโตลเทนเบิร์กมีขึ้นในวันพฤหัสบดี (11 ก.พ.) ตอบโต้ประธานาธิบดีตุรกี เรเซป ตอยยิป เออร์โดกัน ที่ก่อนหน้านี้ออกมาเรียกร้องจัดตั้งเขตห้ามบินในซีเรีย โดยอ้างว่าเป็นวิธีเดียวที่จะแก้ปัญหาผู้อพยพไหลเข้าสู่ยุโรปได้สำเร็จ
อย่างไรก็ตาม RT ชี้ว่า รัสเซีย ซึ่งเป็นประเทศผู้นำการโจมตีทางอากาศต่อต้านก่อการร้าย IS ร่วมกับกองกำลังซีเรียได้ออกคำเตือนนับครั้งไม่ถ้วนเกี่ยวกับแนวคิดการประกาศเขตห้ามบินว่า เป็นแนวคิดที่เป็นอันตรายเนื่องจากจะสนับสนุนต่อกลุ่มก่อการร้าย และทำให้ซีเรียต้องแตกออกเป็นเสี่ยง
นอกจากนี้รัสเซียยังชี้ว่า ในขณะที่เขตห้ามบินสามารถสร้างหลักประกันได้ว่าจะไม่มีการใช้กำลังทางอากาศ แต่ทว่าไม่สามารถหยุดการโจมตีในระดับภาคพื้นของกลุ่มติดอาวุธที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง
ซึ่งในวันจันทร์ (15 ก.พ.) เกนนาดี กาติลอฟ (Gennady Gatilov) ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียได้ออกแถลงการณ์ยืนยันตอบโต้เยอรมนีว่า รัสเซียจะยังคงมีปฏิบัติการทางอากาศในซีเรียต่อไป “การดำเนินการโจมตีทางอากาศต่อที่ตั้งกลุ่มก่อการร้ายในซีเรียจะยังคงมีอยู่ต่อไป ถึงแม้ว่าสัญญาสงบศึกในซีเรียจะสามารถเกิดขึ้นได้แล้ว เพราะในจุดนี้สัญญาสงบศึกนั้นควรจะใช้กับกลุ่มบุคคลที่ต้องอยู่ในกระบวนการเจรจาตั้งแต่เริ่มแรก แต่ไม่ใช่กับกลุ่มก่อการร้าย” กาติลอฟแถลงให้สัมภาษณ์กับสื่อรายสัปดาห์เยอรมนี นิตยสารแดร์ ชปีเกล
แต่อย่างไรก็ตาม แมร์เคิลเลือกที่จะยังคงยืนอยู่ข้างตุรกี และเชื่อมั่นว่าข้อเสนอของอังการาเป็นสิ่งเดียวที่จะสามารถนำสู่ข้อยุติของทุกปัญหา “ดิฉันเข้าใจได้เป็นอย่างดีว่า การที่นักการเมืองตุรกีต้องกลับมาหาเรายุโรปอีกครั้ง เพราะไม่สามารถอธิบายได้ว่า เหตุใดจึงไม่สามารถหยุดการอพยพเข้าของผู้ลี้ภัยสู่ยุโรปได้สำเร็จ ในขณะที่ทางเรากลับสนับสนุนให้พรมแดนตุรกีเปิดกว้างสำหรับผู้ลี้ภัยซีเรียที่หนีภัยการเมืองเหล่านั้น” นายกรัฐมนตรีเยอรมนีชี้
นอกจากนี้มีรายงานว่า กองทัพเยอรมนี และแกนนำหลักในการเมืองเยอรมนี ต่างสนับสนุนแมร์เคิลทั้งสิ้น
โดย ไมเคิล ออพเพิร์สคาลสกี (Michael Opperskalski) ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างประเทศของเยอรมนี เจ้าของผลงาน Gott andert nichts am Schicksal eines Volkes, solange das Volk sich nicht selbst geandert hat, Koran, Sure 13/11: Iran gestern und heute ที่ถูกตีพิมพ์ในปี 1980 ได้ให้สัมภาษณ์ RT สื่อรัสเซีย โดยชี้ว่า แมร์เคิลได้รับการสนับสนุนจากรัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเยอร์ สำนักงานข่าวกรองเยอรมนี BND และบุคคลระดับสูงในกองทัพเยอรมนี
อย่างไรก็ตาม RT ระบุว่า มีการวิจารณ์ว่าแนวคิดการสร้างเขตห้ามบินนี้อาจเป็น “มาตรการต่อต้านรัสเซีย”
โดยออพเพิร์สคาลสกีได้วิเคราะห์ว่า รัฐบาลของแมร์เคิลถูกตุรกีกดดันอย่างหนักโดยใช้ปัญหาผู้ลี้ภัยเป็นเครื่องต่อรองเพื่อให้เยอรมนียอมสนับสนุนอังการา และนอกจากนี้ ออพเพิร์สคาลสกียังชี้ต่อว่า และเหตุผลที่สองซึ่งซ่อนอยู่ ซึ่งอาจเป็นว่าเป็นข้อเสนอเปิดของทางเยอรมนีที่ต้องการให้มีการเปลี่ยนรัฐบาลซีเรียโดยใช้ทุกรูปแบบในซีเรีย
และนอกจากนี้ ออพเพิร์สคาลสกียังชี้อีกว่า และนับตั้งแต่รัฐบาลซีเรียของประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัสเซีย อิหร่าน อิรัก และกลุ่มก่อการร้ายฮิซบอลเลาะห์ สามารถรุกคืบครั้งใหญ่ในถิ่นยึดครองของก่อการร้าย IS ได้สำเร็จ ซึ่งทำให้ทั้งตุรกีและเยอรมนีต่างอยู่ในความตระหนกที่พบว่าซีเรียกำลังสู้กับกลุ่มก่อการร้าย
“พวกเขาไม่สนใจในสันติภาพ แต่คนเหล่านั้นต้องการให้ใช้การรุกคืบทางภาคพื้นเพื่อหยุด IS เท่านั้น” ออพเพิร์สคาลสกีกล่าว
และผู้เชี่ยวชาญชาวเยอรมันผู้นี้ยังวิจารณ์ข้อเสนอของแมร์เคิลกับ RT ว่าเป็น ข้อเรียกร้องครั้งใหญ่แต่แฝงไปด้วยเล่ห์
ออพเพิร์สคาลสกียังกล่าวต่อว่ามีเสียงเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในระดับแกนนำคนสำคัญในกองทัพเยอรมนีในข้อเสนอโซนห้ามบินของแมร์เคิล
ซึ่งในส่วนของแกนนำคีย์แมนของกองทัพเยอรมนีที่ไม่เห็นด้วยชี้ว่า “แนวทางนี้ไม่เป็นประโยชน์ต่อการต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้าย IS”
และออพเพิร์สคาลสกียังให้ความเห็นว่า เสียงที่ไม่เห็นด้วยในกองทัพเยอรมนียังชี้ว่า “การเข้ามามีบทบาทในสมรภูมิรบซีเรียของรัสเซียนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะช่วยเปิดทางสู่สันติภาพในซีเรียอย่างแท้จริง”
ในตอนท้าย ออพเพิร์สคาลสกีให้ความเห็นกับ RT ในเรื่องนี้ต่อว่า การแบ่งขั้วทางความคิดในเยอรมนีทั้งในระดับรัฐบาล กองทัพ และสถาบันต่างๆ จะมีมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อต้องเกี่ยวข้องกับรัสเซีย และการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาลซีเรีย