รอยเตอร์ - จูลี บิชอป รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลีย ให้สัมภาษณ์ที่ญี่ปุ่นวันนี้ (16 ก.พ.) ว่า รัฐบาลแคนเบอร์ราต้องการทราบข้อมูลที่ชัดเจนว่า จีนมีแผนจะใช้ประโยชน์จาก “เกาะเทียม” ที่สร้างขึ้นในทะเลจีนใต้อย่างไร และจะเปิดโอกาสให้ประเทศอื่นๆ เข้าถึงผลประโยชน์เหล่านั้นด้วยหรือไม่
“รัฐมนตรีต่างประเทศ หวัง อี้ เคยพูดเอาไว้ว่า เกาะเทียมจะเป็นทรัพย์สินสาธารณะ เพราะฉะนั้นดิฉันจึงต้องการทราบรายละเอียดว่า ประเทศอื่นๆ จะสามารถเข้าถึงทรัพย์สินสาธารณะนี้ได้อย่างไร” บิชอป ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่กรุงโตเกียว ระหว่างเข้าพบกับ ฟูมิโอะ คิชิดะ รัฐมนตรีตางประเทศญี่ปุ่น
“เราจะเฝ้าจับตาสถานการณ์ต่อไปหลังจากที่ได้ทราบคำตอบแล้ว”
รัฐบาลจีนอ้างกรรมสิทธิ์เหนือน่านน้ำเกือบทั้งหมดในทะเลจีนใต้ ซึ่งนอกจากจะเป็นแหล่งทรัพยากรทางทะเลและแหล่งพลังงานขนาดใหญ่แล้ว ยังเป็นเส้นทางเดินเรือที่สำคัญของโลก ซึ่งแต่ละปีจะมีสินค้าที่ถูกขนส่งทางเรือผ่านน่านน้ำแถบนี้เป็นมูลค่าถึง 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม ท้องทะเลแถบนี้ยังถูกอ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนโดยรัฐบาลฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย ไต้หวัน และบรูไน
บิชอป ซึ่งจะเดินทางต่อไปกรุงปักกิ่งในช่วงบ่ายวันนี้ (16) และมีกำหนดการหารือกับ หวัง และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนคนอื่นๆ ไม่ได้กล่าวชัดเจนว่า รัฐบาลออสเตรเลียปรารถนาที่จะเข้าไปใช้ประโยชน์จากเกาะเทียมด้วยหรือไม่
กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ แถลงรายงานเมื่อกลางปีที่แล้วว่า ตั้งแต่เดือน ธ.ค. ปี 2013 เรื่อยมาจนถึงเดือน มิ.ย. ปี 2015 จีนได้ปรับสภาพที่ดินในน่านน้ำทะเลจีนใต้ไปแล้วกว่า 2,900 เอเคอร์ (ประมาณ 12 ตารางกิโลเมตร) มากกว่าตัวเลข 2,000 เอเคอร์ที่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เคยประเมินไว้ก่อนหน้า
เดือนที่แล้ว จีนยังได้ทดสอบทางวิ่งเครื่องบินยาว 3,000 เมตรที่สร้างขึ้นบนเกาะปะการัง เฟียรี ครอสส์ รีฟ โดยส่งอากาศยานพลเรือนบินจากเกาะไหหลำไปลงจอดหลายลำ
เมื่อปลายเดือน ม.ค. เรือพิฆาตของสหรัฐฯ ได้ล่องเข้าไปในอาณาเขต 12 ไมล์ทะเลรอบเกาะพิพาทเกาะหนึ่งบริเวณหมู่เกาะพาราเซลในทะเลจีนใต้ ทำให้ปักกิ่งแสดงความไม่พอใจอย่างรุนแรง และกล่าวหาวอชิงตันว่าแสดงอำนาจบาตรใหญ่ทางทะเล โดยเอาเสรีภาพในการเดินเรือมาเป็นข้ออ้าง