รอยเตอร์ / เอเจนซีส์ / MGR online - มีผู้เสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 51 รายจากผลพวงของการแพร่ระบาดของ “ไข้เหลือง” ในประเทศอังโกลา ทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา ถือเป็นยอดความสูญเสียที่น่าตกตะลึงที่เกิดขึ้นภายในระยะเวลาไม่ถึง 2 เดือนหลังจากที่ไข้ชนิดนี้เริ่มแพร่ระบาดเป็นครั้งแรกภายในกรุงลูอันดาที่เป็นเมืองหลวงของประเทศ
ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขชี้ว่า การแพร่ระบาดของไข้เหลืองในอังโกลาในครั้งนี้มีปัจจัยหนุนจากการล่มสลายของระบบสาธารณูปโภคที่ถูกสุขอนามัย ตลอดจนระบบการจัดเก็บขยะในกรุงลูอันดา และอีกหลายเมืองใหญ่ทั่วประเทศ ซึ่งทำให้เกิดการแพร่ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วของ “ยุง” ที่เป็นพาหะของไข้เหลืองดังกล่าว
ด้าน อเดไลเด เด คาร์วัลโญ เจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านสาธารณสุขของอังโกลาออกมาเปิดเผยระหว่างเข้าร่วมการประชุมเวทีหนึ่งเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยระบุ นอกเหนือจากจำนวนผู้เสียชีวิตจากไข้เหลืองในประเทศของตนที่มีอย่างน้อย 51 รายแล้ว อังโกลายังมีผู้ติดเชื้อมรณะนี้แล้วทั่วประเทศกว่า 240 คน ขณะที่ประชาชนมากกว่า 450,000 รายในกรุงลูอันดาได้รับการฉีดวัคซีนรับมือไข้เหลืองไปแล้ว จากเป้าหมายของทางยูเอ็นที่ตั้งเป้าเอาไว้เกือบ 1.6 ล้านคน
ที่ผ่านมาทางการท้องถิ่นของกรุงลูอันดาและอีกหลายเมืองใหญ่ทั่วอังโกลาต่างถูกกดดันให้ต้องตัดลดงบประมาณรายจ่ายประจำปีลงจากผลพวงของพิษเศรษฐกิจ และนั่นส่งผลกระทบถึงการใช้จ่ายในการจัดเก็บขยะมูลฝอย ซึ่งทำให้เกิด “ภูเขาขยะ” ล้นเมือง รวมถึงที่เขตเวียอานาที่มีการพบผู้ติดเชื้อรายแรกของประเทศเมื่อช่วงปลายเดือนธันวาคมปีที่แล้ว
ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมารัฐบาลอังโกลาต้องพึ่งพารายได้หลักกว่าร้อยละ 95 จากการส่งออกน้ำมันดิบ แต่การดิ่งลงเหวของราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับร่วงลงไปแล้วกว่า 70 เปอร์เซ็นต์นับตั้งแต่ช่วงกลางปี 2014 เป็นต้นมา ได้กลายเป็นปัจจัยเชิงลบที่สร้างผลกระทบอย่างสำคัญต่องบประมาณแผ่นดินของอังโกลา