รอยเตอร์ - พวกนักรบรัฐอิสลาม (ไอเอส) โจมตีกองกำลังชาวเคิร์ดในอิรักด้วยแก๊สมัสตาร์ด ซึ่งเท่าที่ทราบถือเป็นครั้งแรกที่มีการใช้อาวุธเคมีในอิรัก นับตั้งแต่ประธานาธิบดี ซัดดัม ฮุสเซน ถูกโค่นล้ม จากคำกล่าวของผู้แทนทูตรายหนึ่งในวันจันทร์ (15 ก.พ.) ที่อ้างผลตรวจสอบโดยองค์กรเฝ้าระวังอาวุธเคมีโลก
แหล่งข่าวจากองค์การเพื่อการห้ามใช้อาวุธเคมี (Organisation for the Prohibition of Chemical Weapons-OPCW) ยืนยันว่าผลตรวจในห้องปฏิบัติการสำหรับซัลเฟอร์ มัสตาร์ด หลังจากกองกำลังชาวเคิร์ดราว 35 นายล้มป่วยกลางสมรภูมิรบเมื่อเดือนสิงหาคมปีก่อน
องค์การเพื่อการห้ามใช้อาวุธเคมีจะไม่ระบุว่าใครเป็นผู้ใช้สารเคมีดังกล่าว แต่ทูตรายนี้ซึ่งไม่ประสงค์เอ่ยนามเนื่องจากยังไม่มีการแถลงผลการตรวจพบอย่างเป็นทางการ ระบุว่าผลลัพธ์ที่พบเป็นการยืนยันว่ามีการใช้อาวุธเคมีในหมู่นักรบรัฐอิสลาม
ตัวอย่างเหล่านี้ถูกเก็บมา หลังจากเหล่าทหารเกิดล้มป่วยระหว่างสู้รบกับพวกไอเอส ในเออร์บิล เมืองหลวงของเขตปกครองตนเองชาวเคิร์ด ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอิรัก
ก่อนหน้านี้ทางองค์การเพื่อการห้ามใช้อาวุธเคมีเคยสรุปในเดือนตุลาคมว่ามีการใช้แก๊สมัสตาร์ดในซีเรีย ชาติเพื่อนบ้านของอิรักเมื่อปีที่แล้ว ขณะที่พวกไอเอสประกาศสถาปนาการปกครองแบบกาหลิบ เหนือพื้นที่ยึดครองทั้งในอิรักและซีเรีย
เหล่าผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าซัลเฟอร์ มัสตาร์ดเหล่านั้นมีความเป็นไปได้ที่จะมาจากสต๊อกเคมีที่ซีเรียไม่ยอมแจ้งต่อนานาชาติ หรือไม่พวกนักรบสามารถเรียนรู้พัฒนาได้เอง หรือแม้แต่ลงมือโจมตีทางเคมีแบบดิบๆ ผ่านการยิงจรวดหรือปืนครกเลย
อาวุธเคมีของอิรักส่วนใหญ่แล้วถูกทำลายไปตั้งแต่ยุคซัดดัม แม้ทหารสหรัฐฯ พบกระสุนเคมียุคซัดดัมบางส่วนระหว่างการรุกรานช่วงปี 2003-2011
ซีเรียส่งมอบอาวุธเคมีของพวกเขา ในนั้นรวมถึงแก๊สมัสตาร์ด ภายใต้การตรวจตราของนานาชาติ หลังจากมีพลเมืองหลายพันคนถูกสังหารด้วยแก๊สทำลายประสาทซารินในย่านชานกรุงดามัสกัสในปี 2013 การโจมตีที่พวกตะวันตกกล่าวโทษว่าเป็นฝีมือของรัฐบาลของประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด แต่ผู้นำรายนี้ปฏิเสธ