xs
xsm
sm
md
lg

“ทรัมป์-แซนเดอร์ส” ชนะขาดตามโผ “คลินตัน” กระอัก “เลือกตั้งขั้นต้นนิวแฮมป์เชียร์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i>โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้เข้าแข่งขันเพื่อเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปล่อยมุกบนเวทีระหว่างกล่าวปราศรัยประกาศชัยชนะ ในงานชุมนุมคืนเลือกตั้งขั้นต้นมลรัฐนิวแฮมป์เชียร์ปี 2016 ของเขา ที่เมืองแมนเชสเตอร์, นิวแฮมป์เชียร์ คืนวันอังคาร (9 ก.พ.) </i>
เอเจนซีส์ - โดนัลด์ ทรัมป์ จากรีพับลิกัน และ เบอร์นี แซนเดอร์ส จากเดโมแครต กวาดชัยชนะขาดลอยในการเลือกตั้งขั้นต้นที่รัฐนิวแฮมป์เชียร์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า อเมริกันชนระอาเต็มทนกับกลุ่มอำนาจเก่าทางการเมือง ตลอดจนสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน และยินดีสร้างแรงกระเพื่อมใหญ่ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีวันที่ 8 พฤศจิกายน ที่จะถึง เพื่อให้สั่นสะท้านสะเทือนไปทั้งวอชิงตัน ด้านคลินตันที่เป็นตัวเก็งเต็งหนึ่งเดโมแครตมาโดยตลอด เก็บความพ่ายแพ้กลับนิวยอร์ก เล็งปรับทีมสู้ศึกสนามต่อไป

ผลการเลือกตั้งขั้นต้นที่มลรัฐนิวแฮมป์เชียร์ เมื่อวันอังคาร (9 ก.พ.) ซึ่งถือเป็นรัฐที่ 2 ถัดจากไอโอวาในวันจันทร์ที่แล้ว (1) ในกระบวนการสรรหาตัวแทนของแต่ละพรรคเพื่อลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯตอนปลายปี ทำให้ยังไม่มีผู้เข้าแข่งขันคนใดที่เก็บชัยชนะได้อย่างเด็ดขาดชัดเจน และด้วยเหตุนี้การชิงชัยจึงยังคงเต็มไปด้วยความระทึกใจ โดยที่สนามต่อไปจะมีขึ้นในวันที่ 20 ก.พ. นี้ สำหรับพรรครีพับลิกัน คือ รัฐเซาท์แคโรไลนา ส่วน เดโมแครต คือ รัฐเนวาดา

สำหรับ ทรัมป์ นักธุรกิจพันล้านจากนิวยอร์ก ชัยชนะในนิวแฮมป์เชียร์สะท้อนว่า เขายังคงเป็นตัวเก็งของรีพับลิกัน และสามารถกู้หน้าได้หลังแพ้ให้ เท็ด ครูซ วุฒิสมาชิกสหรัฐฯหัวอนุรักษนิยมจัดจากเทกซัส ในการเลือกตั้งขั้นต้นที่ไอโอวา อีกทั้งยังเป็นการหักปากกาเซียนจำนวนไม่น้อยที่ทำนายว่า เขาจะแพ้ภัยตัวเองจากการวิพากษ์วิจารณ์ผู้คนและประเด็นต่าง ๆ ด้วยถ้อยคำรุนแรง
<i>ฮิลลารี คลินตัน ยังยิ้มออกอยู่เคียงข้างสามี อดีตประธานาธิบดีบิลล์ คลินตัน  ขณะที่เธอปราศรัยต่อผู้สนับสนุนของเธอ ในงานชุมนุมที่เมืองฮุกเซตต์, นิวแฮมป์เชียร์ คืนวันอังคาร (9 ก.พ.) ถึงแม้เธอจะพ่ายแพ้ต่อ เบอร์นี แซนเดอร์ส ในการเลือกตั้งขั้นต้นของมลรัฐนี้ </i>
ขณะเดียวกัน ฮิลลารี คลินตัน อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ และวุฒิสมาชิก วัย 68 ปี ที่เป็นเต็งหนึ่งของพรรคเดโมแครตมาตลอด ดูเหมือนกำลังเจ็บปวดจากคะแนนที่ไล่ตามแซนเดอร์สอยู่ถึง 60 ต่อ 39 เมื่อผลการนับคะแนนผ่านไป 86%

อดีตสุภาพสตรีหมายเลข 1 ผู้นี้ เพิ่งชนะแซนเดอร์สมาแบบเส้นยาแดงผ่าแปดที่ไอโอวา แต่ตอนนี้กลับแพ้ไม่เป็นท่าในนิวแฮมป์เชียร์ ที่ซึ่งผู้มีสิทธิออกเสียงหนุ่มสาวเห็นดีกับข้อเสนอประชานิยมของแซนเดอร์สในการจัดการแบงก์ยักษ์ และบังคับให้รัฐบาลรับผิดชอบค่าหน่วยกิตนักศึกษา

แม้แสดงความยินดีต่อแซนเดอร์ส แต่คลินตันยังโฆษณาตัวเองว่า มีความพร้อมมากกว่าใครในการทำตามที่สัญญาไว้ระหว่างหาเสียง ก่อนเดินทางกลับศูนย์บัญชาการเลือกตั้งในนิวยอร์กเพื่อปรับทีมและเตรียมตัวสำหรับการโต้วาทีของเดโมแครตในวันพฤหัสบดี (11)

ร็อบบี มุค ผู้จัดการแคมเปญหาเสียงของคลินตัน กล่าวว่า การเสนอชื่อตัวแทนรีเดโมแครตมีแนวโน้มอย่างมาก ว่า จะชี้ขาดในเดือนมีนาคม โดยการสนับสนุนของคนผิวสีและฮิสปานิก (ผู้พูดภาษาสเปน) จะเป็นตัวแปรสำคัญ
<i>เบอร์นี แซนเดอร์ส ยิ้มร่าหลังชนะการเลือกตั้งขั้นต้นที่มลรัฐนิวแฮมป์เชียร์ของฝ่ายพรรคเดโมแครต ในงานชุมนุมที่เมืองแมนเชสเตอร์, นิวแฮมป์เชียร์ คืนวันอังคาร (9 ก.พ.) </i>
ด้าน แซนเดอร์ส วัย 74 ปี ที่ประกาศตนเป็นนักสังคมนิยมประชาธิปไตย กล่าวว่า ชัยชนะในนิวแฮมป์เชียร์เป็นการส่งสารดังกึกก้องจากวอลล์สตรีท ถึงวอชิงตัน และจากเมน ถึงแคลิฟอร์เนีย ว่า รัฐบาลของประเทศที่ยิ่งใหญ่เป็นของประชาชนทุกคน ไม่ใช่ของผู้บริจาคทางการเมืองที่ร่ำรวยเพียงหยิบมือ

ทั้งนี้ เอ็กซิตโพล ชี้ว่า แซนเดอร์สได้ชัยชนะในทุกกลุ่มประชากร ซึ่งอาจถือเป็นสัญญาณเตือนภัยสำคัญสำหรับคลินตัน ถึงแม้มีข้อโต้แย้งว่า ประชากรในนิวแฮมป์เชียร์ประกอบด้วยคนผิวขาวเป็นส่วนใหญ่ ผิดกับในรัฐอื่น ๆ ซึ่งมักจะมีลักษณะหลากหลายมากกว่านี้

ขณะเดียวกัน จากการสำรวจความคิดเห็นที่จัดทำโดยรอยเตอร์/อิปซอส พบว่า ผู้มีสิทธิออกเสียง 73% คิดว่า อเมริกาเดินมาผิดทาง คนเหล่านี้กำลังกังวลกับสภาพเศรษฐกิจและไม่เชื่อใจนักการเมืองกลุ่มอำนาจเก่า เนื่องจากเชื่อว่า เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา ที่สำคัญ พวกเขาเหล่านี้คือผู้สนับสนุนส่วนใหญ่ของทรัมป์ และ แซนเดอร์ส

ในส่วน ทรัมป์ วัย 69 ปี ที่หาเสียงโดยชูประเด็นการส่งผู้ลักลอบเข้าเมืองกลับประเทศและห้ามชาวมุสลิมเดินทางเข้าอเมริกาชั่วคราวนั้น ล่าสุด ได้คะแนนในนิวแฮมป์เชียร์ 35% จากคะแนนที่นับไปแล้ว 88%

เอ็กซิตโพลที่ เอดิสัน รีเสิร์ช จัดทำให้สำนักข่าวเอพีและเครือข่ายทีวีหลายแห่ง ระบุว่า กว่าครึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงในการเลือกตั้งไพรมารีของรีพับลิกัน เพิ่งตัดสินใจเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดย 2 ใน 3 สนับสนุนทรัมป์ที่เสนอห้ามชาวมุสลิมเดินทางเข้าอเมริกา

พิธีกรเรียลิตีโชว์ผู้นี้ประกาศชัยชนะ และให้สัญญาว่า หากได้เป็นประธานาธิบดี จะเร่งจัดการปัญหาเศรษฐกิจ การค้า สุขภาพ ยาเสพติด และอื่น ๆ
<i>ผู้ลงแข่งขันเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จอห์น คาซิก ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ว่าการมลรัฐโอไอโอ พร้อม แคเรน ภรรยาของเขา (ขวา) แสดงทีท่าร่าเริง ในระหว่างกล่าวปราศรัยต่อผู้สนับสนุนเมื่อคืนวันอังคาร (9 ก.พ.) เมื่อผลเลือกตั้งขั้นต้นที่มลรัฐนิวแฮมเป์เชียร์ออกมาว่า เขาเข้าป้ายเป็นอันดับ 2 ทำให้ยังมีหวังที่จะเป็นตัวเลือกของฝ่ายกระแสหลักในพรรครีพับลิกัน </i>
อย่างไรก็ตาม ผลการเลือกตั้งในนิวแฮมป์เชียร์ยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่า ใครจะได้เป็นตัวแทนสองพรรคใหญ่ลงศึกชิงทำเนียบขาว

โดยเฉพาะในส่วนของรีพับลิกัน ซึ่งเป็นที่สนใจกันว่า นอกเหนือจากผู้สมัครความคิดสุดโต่งทั้ง 2 คือ ทรัมป์ และ ครูซ แล้ว ผู้สมัครคนอื่น ๆ ที่อยู่ในข่ายแนวทางกระแสหลัก ใครที่จะโดดเด่นขึ้นมา และอาจมีโอกาสเป็นม้าตีนปลาย หากกระแสนิยมในตัวผู้สมัครสุดโต่งเกิดแผ่วลงในที่สุด

ปรากฏว่า ที่นิวแฮมป์เชียร์ จอห์น เคสิก ผู้ว่าการรัฐโอไฮโอ คือ ผู้ที่ได้คะแนนอันดับ 2 ของรีพับลิกัน ขณะที่ ครูซ, เจบ บุช อดีตผู้ว่าการรัฐฟลอริดา และ มาร์โค รูบิโอ วุฒิสมาชิกฟลอริดา กำลังลุ้นระทึก ว่า ใครจะได้อันดับ 3 งนี้ รูบิโอ เป็นผู้ได้ที่ 3 ของรีพับลิกัน ในไอโอวา และถูกจับตาว่าอาจจะได้เป็นตัวเลือกของฝ่ายกระแสหลัก ทว่าเขากลับทำได้ย่ำแย่ในการโต้วาทีทางทีวีช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จนกระทบกระเทือนคะแนนนิยมอย่างหนัก

กำลังโหลดความคิดเห็น