xs
xsm
sm
md
lg

ปี 2016 ผ่านไปไม่ถึง 2 เดือน ยอดซื้อกิจการในต่างแดนของ ‘จีน’ก็เพิ่มพุ่งพรวด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เอเชียอันเฮดจ์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

China’s foreign acquisitions surge in 2016
By Asia Unhedged
04/02/2016

เมื่อกลางสัปดาห์ที่แล้ว “เคมไชน่า” ตกลงจะจ่ายเงิน 43,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อเข้าซื้อกิจการ “ซินเจนตา” บริษัทผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์พืชและยาปราบศัตรูพืชสัญชาติสวิส ถือเป็นการสร้างสถิติการเทคโอเวอร์กิจการต่างชาติที่มีมูลค่าสูงที่สุดสำหรับบริษัทจีน ทว่าดีลนี้ยังเป็นแค่ส่วนหนึ่งของกระแสการเข้าซื้อหาควบรวมกิจการต่างประเทศของพวกบริษัทจีน โดยที่ปี 2016 ผ่านไปเพียงเดือนเศษๆ มูลค่าของดีลที่จะทำกันก็อยู่ในระดับ 68,000 ล้านดอลลาร์แล้ว

ข้อเสนอของ ไชน่า เนชั่นแนล เคมิคอล คอร์ป (China National Chemical Corp.) หรือที่นิยมเรียกกันด้วยชื่อย่อว่า เคมไชน่า (ChemChina) เมื่อวันพุธ (3 ก.พ.) ที่ผ่านมา ว่าพร้อมจ่ายเงิน 43,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อเข้าซื้อกิจการ ซินเจนตา (Syngenta) บริษัทผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์พืชและยาปราบศัตรูพืชสัญชาติสวิส จะกลายเป็นการสร้างสถิติการเทคโอเวอร์กิจการต่างชาติที่มีขนาดมูลค่าสูงที่สุดสำหรับบริษัทจีนไปเลย ถ้าหากได้รับการอนุมัติผ่านตลอดทั้งกระบวนการ (เวลานี้อยู่ในขั้นตอนที่คณะกรรมการบริหารของบริษัททั้งสองตกลงเห็นชอบดีลนี้แล้ว ทว่ายังต้องรอการอนุมัติของที่ประชุมผู้ถือหุ้น และของหน่วยงานกำกับตรวจสอบของประเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง -ผู้แปล) [1]

กระนั้น ดีลซินเจนตา ก็ยังเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระแสการเข้าซื้อหาควบรวมกิจการต่างประเทศซึ่งพุ่งพรวดสูงลิ่วเป็นประวัติการณ์ในระยะเวลาเพียงแค่ไม่กี่สัปดาห์แรกๆ ของปี 2016 นี้ ขณะที่พวกบริษัทจีนต่างกระตือรือร้นแสวงหาหนทางที่จะเจาะเข้าสู่ตลาดต่างแดน ในเมื่อตลาดภายในแดนมังกรเองซบเซา จากภาวะเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตเชื่องช้าลง

เมื่อบวกข้อเสนอขอซื้อซินเจนตาของเคมไชน่านี้เข้าไปด้วยแล้ว มูลค่ารวมของการควบรวมกิจการในต่างประเทศของจีน เฉพาะปีนี้ก็จะทะยานขึ้นถึงระดับประมาณ 68,000 ล้านดอลลาร์เข้าไปแล้ว อันถือเป็นตัวเลขสูงที่สุดคึกคักที่สุดสำหรับช่วงระยะเวลาดังกล่าวนี้ของปี ไม่ว่าเปรียบเทียบกับปีไหนๆ อีกทั้งยังเป็นจำนวนเกินกว่าครึ่งหนึ่งของมูลค่าในตลอดทั้งปี 2015 ที่ถือว่าสูงเป็นประวัติการณ์อยู่แล้ว ทั้งนี้ตามรายงานของ ดีลโลจิก (Dealogic) บริษัทติดตามรวบรวมข้อมูลด้านการทำดีล

ผู้เข้าซื้อจากแดนมังกรเหล่านี้ พวกที่เป็นรายใหญ่โตที่สุดนั้น ได้แก่บรรดารัฐวิสาหกิจ หรือก็คือบริษัทที่บริหารโดยรัฐบาลจีน เป็นต้นว่า เคมไชน่า อย่างไรก็ตาม การที่กิจการของแดนมังกรเดินหน้าขอซื้อประดาบริษัทซึ่งเป็นผู้ครอบครองเทคโนโลยีสำคัญๆ ของฝ่ายตะวันตก น่าที่จะต้องเผชิญกับการถูกตรวจสอบสืบเสาะอย่างเข้มงวดจากหน่วยงานกำกับดูแลของต่างประเทศ ทั้งนี้ตามรายงานของหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัล (Wall Street Journal)

ตัวอย่างเช่น คณะกรรมการว่าด้วยการลงทุนของต่างประเทศ (Committee on Foreign Investment) หน่วยงานของสหรัฐฯซึ่งทำหน้าที่ตรวจตราการเทคโอเวอร์ในภาคธุรกิจโดยเน้นพิจารณาผลกระทบทางด้านความมั่นคง เมื่อไม่นานมานี้ได้มีมติยับยั้งข้อตกลงที่กองทุนเพื่อการลงทุนของจีนรายหนึ่ง จะเข้าซื้อธุรกิจด้านแสงสว่างของ โรยัล ฟิลิปส์ (Royal Philips) ซึ่งมีทั้งโรงงานผลิต และศูนย์ด้านการวิจัยและพัฒนาตั้งอยู่ในสหรัฐฯ

กระนั้น เดวิด บราวน์ (David Brown) ผู้นำกลุ่มที่ดูแลบริการด้านธุรกรรม ให้แก่ ไพรซ์วอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส ไชน่า แอนด์ ฮ่องกง (PricewaterhouseCoopers China and Hong Kong) บอกกับวอลล์สตรีทเจอร์นัลว่า เขาทำนายว่ายอดการควบรวมกิจการต่างประเทศของพวกบริษัทจีน จะยังคงเติบโตเพิ่มขึ้นในอัตราราว 50% ทุกๆ ปี ในช่วงหลายๆ ปีต่อจากนี้ไป

เหตุผลใหญ่ประการหนึ่งที่ทำให้เกิดกระแสการไล่ซื้ออย่างขนานใหญ่เช่นนี้ ได้แก่การที่เงินหยวนกำลังอ่อนค่าลง อีกทั้งมีการคาดหมายกันว่ามันจะยังคงลดค่าต่อไปเรื่อยๆ ดังนั้น พวกกิจการแดนมังกรที่จะเป็นผู้ซื้อ จึงต้องการเข้าซื้อก่อนที่สกุลเงินตราซึ่งอ่อนตัวลงไป จะทำให้ราคาของทรัพย์สินต่างประเทศดูแพงเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้หลังจากเงินหยวนมีมูลค่าแข็งโป๊กขึ้นกว่า 30% ในช่วงประมาณสิบปีที่ผ่านมา ก็ได้อ่อนตัวลง 8% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯนับแต่ตอนเริ่มต้นปี 2014 และพวกนักวิเคราะห์เชื่อว่ามันอาจจะตกลงไปอีก 10% ในปีนี้

อย่างน้อยก็มีพวกรัฐวิสาหกิจทั้งหลายของจีนแหละ ที่กำลังได้รับความสนับสนุนอย่างแข็งขันจากรัฐบาลส่วนกลางในปักกิ่ง ให้เข้าซื้อหาควบคุมกิจการในต่างแดนที่ทรงความสำคัญทางยุทธศาสตร์

“(รัฐวิสาหกิจจีน) จำนวนมากเลยเป็นพวกที่มีเงินสดมากมายอยู่ในมือ” เบน คาเวนเดอร์ (Ben Cavender) ผู้นำทีมวิจัยคนหนึ่งในบริษัท ไชน่า มาร์เก็ต รีเสิร์ช กรุ๊ป (China Market Research Group) ซึ่งตั้งสำนักงานอยู่ในเมืองเซี่ยงไฮ้ บอกกับวอลล์สตรีทเจอร์นัล “ประเด็นปัญหาสำคัญประการหนึ่งที่พวกเขากำลังประสบอยู่ตอนนี้ก็คือ พวกเขากำลังหมดช่องทางที่จะเติบโตขยายตัวในตลาดบ้านเกิดของพวกเขาเองแล้ว”

ขณะที่ ร็อกกี้ ลี (Rocky Lee) หุ้นส่วนที่ประจำอยู่ปักกิ่งและฮ่องกงของสำนักงานกฎหมาย แคดวาลาเดอร์ (Cadwalader) กล่าวในทำนองเดียวกันกับวอลล์สตรีทเจอร์นัลว่า รัฐบาลจีนยังน่าที่จะจัดหาความสนับสนุนทางการเงินมาช่วยเหลือพวกรัฐวิสาหกิจของตนต่อไปอีก ในการเข้าซื้อทรัพย์สินต่างประเทศในปริมณฑลอย่างเช่น เทคโนโลยี, พลังงาน, และโครงสร้างพื้นฐาน

(จากคอลัมน์ Asia Unhedged ในเอเชียไทมส์)

หมายเหตุผู้แปล

[1]ดีลที่ “เคมไชน่า” เสนอเทคโอเวอร์ “ซินเจนตา” นี้ เอเชียอันเฮดจ์ได้เสนอรายละเอียดในข้อเขียนอีกชิ้นหนึ่ง ซึ่งนำมาจากสำนักข่าวรอยเตอร์ จึงขอเก็บความมานำเสนอในที่นี้:

‘จีน’มุ่งเพิ่ม ‘ความมั่นคงด้านอาหาร’ ในการทุ่ม $43,000ล้านซื้อ ‘ซินเจนตา’

China seeks food security with $43 billion bid for Syngenta
By Asia Unhedged
03/02/2016

จีนทำการเคลื่อนไหวอย่างห้าวหาญที่สุดในเรื่องการเทคโอเวอร์กิจการต่างประเทศในวันพุธ (3 ก.พ.) ที่ผ่านมา เมื่อ เคมไชน่า (ChemChina) รัฐวิสาหกิจแดนมังกร ตกลงเห็นพ้องในข้อเสนอมูลค่า 43,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อเข้าซื้อ ซินเจนตา (Syngenta) กลุ่มกิจการเมล็ดพันธุ์และยาฆ่าแมลงสัญชาติสวิส โดยประกาศว่าการเข้าซื้อคราวนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อปรับปรุงยกระดับการผลิตอาหารภายในแดนมังกรเอง

การเสนอซื้อทรัพย์สินต่างประเทศเป็นมูลค่าสูงที่สุดเท่าที่บริษัทของจีนเคยกระทำมาคราวนี้ ซึ่งบริษัททั้งสองฝ่ายต่างประกาศออกมาอย่างเป็นทางการแล้ว คาดหมายกันว่ายังจะส่งผลกลายเป็นการเร่งรัดการเขย่าผสมผสานกันภายในแวดวงอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์การเกษตรของโลก อีกทั้งเป็นหลักหมายแสดงถึงความเพลี่ยงล้ำของ มอนซานโต (Monsanto) บริษัทใหญ่สัญชาติสหรัฐฯ ที่ล้มเหลวเข้าซื้อ ซิน เจนตา ไม่สำเร็จในปีที่แล้ว

จีน ซึ่งเป็นตลาดสินค้าการเกษตรใหญ่ที่สุดของโลก กำลังแสวงหาหนทางทำให้ซัปพลายอาหารที่จะใช้เลี้ยงดูประชากรของตนบังเกิดความมั่นคงเพิ่มมากขึ้น ขณะที่สินค้าเคมีภัณฑ์ชั้นเลิศและเมล็ดพันธุ์ที่มีสิทธิบัตรปกป้อง ซึ่งซินเจนตามีอยู่ในมือ ดูจะเป็นความหวังที่สามารถนำมาใช้เพื่อยกระดับศักยภาพการผลิตอาหารของแดนมังกร

“พื้นที่ทำการเกษตรของจีนมีเพียงประมาณ 10% เท่านั้นที่ถือว่ามีประสิทธิภาพ ดังนั้นดีลรายนี้จึงเป็นอะไรมากกว่าเพียงแค่การที่บริษัทแห่งหนึ่งเข้าซื้อบริษัทอีกแห่งหนึ่ง นี่คือการที่รัฐบาลหนึ่งกำลังพยายามที่จะแก้ไขคลี่คลายปัญหาที่แท้จริงประการหนึ่งของตน” แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับดีลนี้รายหนึ่งบอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์

การทำการเกษตรแบบเข้มข้นปีแล้วปีเล่า บวกกับการใช้เคมีภัณฑ์กันเกินขนาด ได้ทำให้ดินเสื่อมคุณภาพและแหล่งน้ำทั้งหลายก็เกิดมลพิษ เหล่านี้กำลังส่งผลให้จีนอยู่ในฐานะอ่อนแออาจจมถลำสู่ภาวะพืชผลขาดแคลนได้ง่ายๆ ดีลนี้จึงสอดคล้องเหมาะเจาะกับแผนการของปักกิ่งที่จะปรับปรุงการเกษตรให้ทันสมัยในช่วงระยะเวลา 5 ปีข้างหน้านี้

“ผมถูกส่งออกไปอยู่ในชนบทเมื่อตอนอายุ 15 ปี ดังนั้นผมจึงรู้จักคุ้นเคยมากว่าชาวนาต้องการอะไรเมื่อพวกเขาทำงานในไร่ในนา คนจีนยังคงพิงพาอาศัยวิธีทำการเกษตรแบบที่เคยทำมาแต่ไหนแต่ไรเป็นสำคัญ เราต้องการที่จะเผยแพร่วิธีแก้ปัญหาแบบบูรณาการของซินเจนตาให้กระจายแพร่หลายไปในหมู่ชาวนารายเล็กๆ” เหริน เจี้ยนซิน (Ren Jianxin) ประธานของเคมไชน่า กล่าวต่อที่ประชุมแถลงข่าวในวันพุธ (3 ก.พ.)

จากการที่อัตราเติบโตขยายตัวกำลังชะลอตัวลงในบ้านเกิด พวกบริษัทจีนทั้งหลายจึงกำลังเพิ่มการสอดส่องต่างแดนเพื่อมองหาดีลซึ่งสามารถเพิ่มพูนส่งเสริมธุรกิจของพวกเขาและช่วยให้ธุรกิจของพวกเขามีความกระจายตัวออกไปมากขึ้น หากดีลที่เคมไชน่าเข้าซื้อซินเจนตาคราวนี้สามารถเดินหน้าจนเสร็จสมบูรณ์ มันก็จะมีมูลค่าเป็นกว่าสองเท่าตัวของเมื่อตอนที่ ไชน่า เนชั่นแนล ออฟชอร์ ออยด์ คอร์ป (China National Offshore Oil Corporation หรือ CNOOC) เทเงิน 17,700 ล้านดอลลาร์ซื้อ เน็กเซ็น (Nexen) บริษัทพลังงานสัญชาติแคนาดาในปี 2012

เคมไชน่าเมื่อปีที่แล้วก็เข้าซื้อ พิเรลลี่ (Pirelli) ผู้ผลิตยางรถสัญชาติอิตาลี และในเดือนที่แล้วแถลงว่าจะซื้อ (KraussMaffei Group) ผู้ผลิตเครื่องจักรอุตสาหกรรมสัญชาติเยอรมนี ในราคาราว 1,000 ล้านดอลลาร์

หุ้นของซินเจนตา ขยับขึ้นจากข่าวดีลคราวนี้ ทว่าราคายังคงอยู่ตรงแถวๆ หุ้นละ 412 ฟรังก์สวิส ต่ำกว่ามากทีเดียวจากราคาที่ตกลงซื้อขายกันคราวนี้ซึ่งจะเท่ากับหุ้นละ 465 ดอลลาร์ หรือราวๆ 480 ฟรังก์สวิส ทั้งนี้เป็นการสะท้อนถึงความกังวลใจของตลาดที่ว่า ดีลนี้ยังอาจจะล้มคว่ำในขั้นการตรวจสอบของหน่วยงานควบคุมดูแล ตลอดจนไม่ค่อยมีการคาดหมายกันว่าจะมีผู้สนใจรายอื่นๆ เสนอราคาเข้ามาแข่งขัน

“ซินเจนตาไม่เคยมีมูลค่าสูงถึงขนาดนี้มาก่อน ในช่วงไม่กี่หลังๆ มานี้บริษัทกลับล้มเหลวไม่สามารถสาธิตให้เห็นได้ว่าบริษัทเองสามารถที่จะสร้างรายได้ขึ้นมาอย่างสมเหตุสมผล” แพตริก ฮูเบอร์ (Patrick Huber) ผู้จัดการกองทุนรายหนึ่งของบริษัทจัดการกองทุน มิราบาวด์ แอสเสต แมเนจเมนต์ (Mirabaud Asset Management) บอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์

“สำหรับเรานั้น แน่นอนทีเดียวว่าเราจะปล่อยหุ้นที่เราถืออยู่ออกไปในราคาที่เสนอมาคราวนี้ ผมไม่สามารถจินตนาการได้เลยว่ายังจะมีผู้สนใจซื้อรายอื่นๆ ยื่นเสนอราคาที่สูงกว่านี้เข้ามา” ฮูเบอร์กล่าว พร้อมกับเสริมด้วยว่า ถึงแม้พวกหน่วยงานกำกับตรวจสอบของสหรัฐฯอาจจะไม่ได้สกัดกั้นดีลนี้ แต่ก็สามารถทำให้ล่าช้าออกไปได้

(จากสำนักข่าวรอยเตอร์ ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.reuters.com/article/us-syngenta-ag-m-a-chemchina-idUSKCN0VB1D9)

กำลังโหลดความคิดเห็น