เอพี/เอเอฟพี - กลุ่มผู้ประท้วงจัดการชุมนุมเดินขบวนต่อต้านอิสลามและต่อต้านผู้อพยพขึ้นตามเมืองต่างๆ ของยุโรปเมื่อวันเสาร์ (6 ก.พ.) โดยมี “เพกิดา” องค์การขวาจัดต่อต้านอิสลามของเยอรมนีเป็นหัวเรือใหญ่ และในหลายๆ จุดได้เกิดเหตุปะทะกับตำรวจหรือกับกลุ่มเดินขบวนสนับสนุนผู้อพยพ บรรยากาศเช่นนี้สะท้อนให้เห็นถึงความตึงเครียดที่เพิ่มทวีขึ้นเรื่อยๆ จากการที่มีผู้ต้องการเข้ามาลี้ภัยในยุโรปทะลักทลายสู่ทวีปนี้อย่างไม่ขาดสาย
ตำรวจปราบจลาจลได้ปะทะกับพวกผู้เดินขบวนในกรุงอัมสเตอร์ดัม ขณะที่กลุ่มขวาจัดของดัตช์ที่เป็นผู้สนับสนุนกลุ่มเพกิดา พยายามจัดการชุมนุมประท้วงของพวกตนขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองหลวงของเนเธอร์แลนด์แห่งนี้ ทั้งนี้มีผู้หนุนหลังเพกิดาชาวดัตช์ ออกมาเข้าร่วมเพียงแค่ราว 200 คน จึงถูกข่มด้วยจำนวนของตำรวจ และกลุ่มผู้เดินขบวนฝ่ายซ้ายซึ่งพากันตะโกนว่า “ต้อนรับผู้ลี้ภัย ไม่ต้อนรับพวกฟาสซิสต์ขวาจัด”
ตำรวจม้าเนเธอร์แลนด์ต้องเคลื่อนกำลังเข้าไปแยกผู้ชุมนุมเดินขบวนทั้ง 2 กลุ่มให้แยกห่างจากกัน รวมทั้งจับกุมผู้ต้องหาไปอีกอย่างน้อยสิบกว่าคน
ส่วนในเยอรมนี ซึ่งองค์การเพกิดาเองจัดการชุมนุมเดินขบวนขึ้นที่เมืองเดรสเดน ทางภาคตะวันออกของเยอรมนี ปรากฏว่าตอนที่มีผู้คนเข้าร่วมสูงสุดคือราว 8,000 คน ทั้งนี้ตามข้อมูลของ “ดูร์ชเกเซห์ลต์” กลุ่มอิสระซึ่งคอยติดตามตัวเลขผู้เข้าร่วมการชุมนุมต่างๆ ขณะที่ระบุว่ามีผู้คนสูงสุดราว 3,500 คนเข้าร่วมการเดินขบวนของฝ่ายต่อต้าน ซึ่งจัดขึ้นที่อีกฟากหนึ่งของแม่น้ำเอลเบ ที่แบ่งแยกตัวเมืองนี้ อย่างไรก็ตาม ไม่มีรายงานว่าเกิดเหตุการณ์ไม่สงบใดๆ ขึ้นมา
ในกรุงปราก ผู้สื่อข่าวของเอเอฟพีระบุว่ามีผู้คนราว 5,000 คนที่เมืองหลวงของสาธารณรัฐเช็กแห่งนี้ออกมาร่วมการเดินขบวนซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากเพกิดาและจัดขึ้นโดยกลุ่มขวาจัด 2 กลุ่ม ถึงแม้ทางการตำรวจที่นี่เองไม่ได้ให้ตัวเลขประมาณการอย่างเป็นทางการ ไม่ว่าของกลุ่มนี้ หรือของกลุ่มที่ออกมาชุมนุมตอบโต้ แต่มีรายงานว่าได้จับกุมผู้คนไป 4 คน
“แบนอิสลามในสาธารณรัฐเช็ก”, “ปิดพรมแดน”, “อย่าปล่อยให้บรัสเซลส์ทำลายสังคมของเรา” เป็นข้อความในแผ่นป้ายที่พวกผู้ประท้วงโปรเพกิดาถืออยู่ในมือ นอกจากนั้นพวกเขายังประดับประดาธงชาติเช็กในขบวนด้วย
ด้านการชุมนุมตอบโต้นั้นจัดขึ้นโดยพรรคกรีนและกลุ่มฝ่ายซ้ายหลายๆ กลุ่ม มาเตจ สโตรปนิคกี ประธานพรรคกรีน ประกาศว่า “ผู้อพยพคือคนอย่างพวกเรา นี่แหละเป็นเหตุผลที่เราต้องช่วยเหลือพวกเรา ในหนทางที่สมเหตุสมผล”
อย่างไรก็ดี เขาบอกด้วยว่า “แต่เราต้องช่วยเหลือพวกเขาในประเทศของพวกเขาเอง” พร้อมกับกล่าวต่อไปว่า ด้วยจำนวนคนอพยพที่เข้ามามากมายเช่นที่เป็นอยู่ขณะนี้ ทำให้เป็นไปไม่ได้เลยที่จะบูรณาการพวกเขาเข้าไว้ในยุโรป
ในเมืองกาเลส์ ทางภาคเหนือของฝรั่งเศส ตำรวจต้องใช้แก๊สน้ำตาขับไล่กลุ่มประท้วงต่อต้านผู้อพยพที่เคลื่อนไหวอย่างอึกทึกวุ่นวาย ภายหลังปะทะกับผู้ประท้วงและจับกุมผู้เดินขบวนขวาจัดไปราว 20 คน
ทั้งนี้ พวกขวาจัดราว 150 คนซึ่งสนับสนุนกลุ่มเพกิดา ออกมาชุมนุมกันในวันเสาร์ (6) โดยตะโกนคำขวัญอย่างเช่น “เราต้องไม่ปล่อยให้กาเลส์ตาย!”
กาเลส์กลายเป็นจุดรวมผู้อพยพซึ่งมองหาทางหลบหนีเข้าไปยังอังกฤษโดยเฉพาะผ่านอุโมงค์ลอดช่องแคบอังกฤษ ทั้งนี้มีผู้คนเรือนหมื่นพำนักอาศัยอยู่กันอย่างแออัดที่เมืองนี้เป็นเวลาหลายเดือนแล้ว
ในกรุงดับลิน เกิดการปะทะกันระหว่างผู้ซึ่งชุมนุมเพื่อประท้วงต่อต้านการประกาศเปิดตัวกลุ่มเพกิดาในไอร์แลนด์ และพวกที่มาเข้าร่วมเนื่องในโอกาสการเปิดตัวของกลุ่มนี้
“เรากำลังยืนอยู่ด้วยกัน ... เพื่อแสดงให้เห็นว่าในไอร์แลนด์วันนี้ไม่มีสถานที่สำหรับลัทธิเหยียดเชื้อชาติและลัทธิหวาดกลัวอิสลาม ไม่มีสถานที่สำหรับความเกลียดชัง” ลีนน์ บอยลัน สมาชิกรัฐสภายุโรปจากพรรคซินน์เฟน ซึ่งเป็นผู้เข้าร่วมชุมนุมต่อต้านเพกิดา ประกาศ
ในเมืองเบอร์มิงแฮม ทางภาคกลางของเขตการปกครองอังกฤษ ตำรวจแถลงว่ามีการชุมนุมของทั้ง 2 ฝ่าย โดยกลุ่มผู้สนับสนุนเพกิดามีราว 150 คน ขณะที่กลุ่มตอบโต้มีประมาณ 60 คน
นอกจากนั้นยังมีรายงานการชุมนุมเดินขบวนที่กรุงบราติสลาวา เมืองหลวงของสโลวาเกีย, กรุงวอร์ซอ เมืองหลวงโปแลนด์, เมืองมอนต์เปลิเยร์ ของฝรั่งเศส, เมืองกราซ ทางภาคใต้ของออสเตรีย, และเมืองเบอร์โน ของสาธารณรัฐเช็ก
เพกิดา ซึ่งเป็นตัวย่อภาษาเยอรมันจากชื่อเต็มขององค์การ “ชาวยุโรปผู้รักชาติต่อต้านขบวนการทำให้ตะวันตกกลายเป็นอิสลาม” (Patriotic Europeans against the Islamization of the West) ได้กลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดกลุ่มขวาจัดต่างๆ ตลอดจนสร้างอารมณ์ความรู้สึกต่อต้านผู้อพยพขึ้นมา นับตั้งแต่กลุ่มนี้ก่อตั้งขึ้นที่เมืองเดรสเดนเมื่อ 2 ปีก่อน หลังจากที่มีคนเข้าร่วมลดน้อยลงอยู่พักใหญ่ในช่วงต้นปีที่แล้ว องค์การนี้ก็กลับได้ผู้สนับสนุนเพิ่มมากขึ้นอีกจากผู้คนซึ่งโกรธเกรี้ยวไม่พอใจต่อการทะลักทลายเข้ามาสู่ยุโรปอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนของผู้อพยพจากทั้งแอฟริกา, เอเชีย และตะวันออกกลาง
เวลานี้ยังมีกลุ่มประท้วงในสไตล์เพกิดาแต่มีขนาดเล็กกว่าเกิดขึ้นในชาติยุโรปอื่นๆ ทั้งที่ฝรั่งเศส, อังกฤษ, โปแลนด์, สาธารณรัฐเช็ก, ไอร์แลนด์, เดนมาร์ก, ฟินแลนด์ และเอสโตเนีย