xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำเช็กเอือมคนอพยพเข้ายุโรป ชี้ผู้ลี้ภัยควรจับอาวุธปักหลักสู้ไอเอส

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ - ผู้นำเช็กระบุคลื่นการอพยพเข้าสู่ยุโรปเป็น “การรุกรานอย่างเป็นระบบ” พร้อมเรียกร้องชายชาตรีจากซีเรียและอิรักให้ปักหลักอยู่ในประเทศบ้านเกิดเพื่อจับอาวุธต่อสู้กับไอเอส

“ผมเชื่อสนิทใจว่าเรากำลังเผชิญการรุกรานอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่การโยกย้ายถิ่นโดยสัญชาตญาณของผู้อพยพ” ประธานาธิบดี มิลอส เซมาน ปราศรัยเนื่องในวันคริสต์มาสต่อประชาชนเช็ก พร้อมทั้งบอกว่า ความเห็นใจ “เป็นไปได้” สำหรับคนป่วย คนชรา และเด็ก แต่ไม่ใช่สำหรับชายหนุ่มอกสามศอก ซึ่งควรกลับไปต่อสู้กับนักรบญิฮาดในบ้านเกิดมากกว่า

เซมานที่ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสาธารณรัฐเช็กเมื่อต้นปี 2013 แจงว่า ผู้อพยพผิดกฎหมายส่วนใหญ่เป็นชายหนุ่มที่แข็งแรงและโสด ซึ่งทำให้เขาสงสัยว่า เหตุใดคนเหล่านั้นจึงไม่จับอาวุธขึ้นต่อสู้กับกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) เพื่อเสรีภาพของประเทศ เพราะการหนีออกมารังแต่ทำให้ไอเอสเข้มแข็งขึ้น

ผู้นำเช็กวัย 71 ปียังเปรียบเทียบเหตุการณ์ปัจจุบันกับสถานการณ์ที่ชาวเช็กหนีออกนอกประเทศเมื่อนาซีเข้ายึดครองระหว่างปี 1939-1945

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เซมานแสดงจุดยืนต่อต้านในวิกฤตผู้อพยพครั้งเลวร้ายที่สุดในยุโรปนับจากสงครามโลกครั้งที่ 2

เดือนที่ผ่านมา ผู้นำปีกซ้ายผู้นี้เข้าร่วมการเดินขบวนต่อต้านอิสลามในกรุงปรากร่วมกับนักการเมืองขวาจัดและกองกำลังกึ่งทหาร

ด้านนายกรัฐมนตรี โบฮูสลาฟ โซบ็อตกา ที่เคยวิจารณ์ทัศนะของเซมานมาหลายครั้ง แสดงความเห็นว่า สาส์นคริสต์มาสของประธานาธิบดีอิงกับอคติและนิสัยชอบดูเบาสิ่งต่างๆ

ผู้อพยพไม่ใช่เป้าหมายเดียวในการประชดเสียดสีของเซมาน เมื่อไม่นานนี้เขาเพิ่งกล่าวว่าเช็กควรเข้าร่วมเงินยูโรในวันแรกที่กรีซถอนตัวจากสกุลเงินเดียวแห่งยุโรป ส่งผลให้เอเธนส์ตอบโต้ด้วยการเรียกเอกอัครราชทูตกลับประเทศ

เซมานยังบอกว่า “ผิดหวังมาก” ที่การหารือเพื่อขับกรีซออกจากยูโรเมื่อฤดูร้อนที่ผ่านมาไม่สัมฤทธิผล

ทั้งสาธารณรัฐเช็กและสโลวาเกีย ซึ่งเป็นอดีตประเทศคอมมิวนิสต์ที่เข้าร่วมสหภาพยุโรป (อียู) ในปี 2004 ต่างก็คัดค้านระบบโควตาในการรองรับผู้อพยพของอียู

เฉพาะปีนี้มีผู้อพยพเข้าสู่ยุโรปกว่าล้านคน ส่วนใหญ่หนีความรุนแรงในอัฟกานิสถาน อิรัก และซีเรีย

วิกฤตนี้ทำให้ความสัมพันธ์ในอียูร้าวฉาน โดยที่สมาชิกใหม่ส่วนใหญ่ยืนกรานต่อต้านผู้อพยพ ส่วนบางประเทศทางเหนือ เช่น เยอรมนี อ้าแขนรับผู้ที่หนีภัยสงครามมา

อย่างไรก็ตาม มีผู้ขอลี้ภัยเพียงกลุ่มเล็กๆ ที่เลือกอาศัยในเช็ก ซึ่งเป็นชาติสมาชิกองค์การสนธิสัญญาปกป้องแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) ที่มีประชากร 10.5 ล้านคน

ผลสำรวจเมื่อเร็วๆ นี้พบว่า ชาวเช็กเกือบ 70% คัดค้านการรับผู้อพยพและผู้ลี้ภัย


กำลังโหลดความคิดเห็น