xs
xsm
sm
md
lg

In Pics : ปราบจลาจลฝรั่งเศสหยุด “คลื่นมนุษย์ผู้อพยพจากกาเลส์” ด้วย “สเปรย์สารเคมี” หลังพยายามฝ่าหนีเข้าอุโมงค์ข้ามไปอังกฤษ เพื่อ “สวัสดิการรัฐผู้ดี”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์/ASTVผู้จัดการ – ในช่วงดึกเมื่อวานนี้(2) ตำรวจปราบจลาจลฝรั่งเศสปะทะกับฝูงคลื่นมนุษย์ผู้อพยพร่วม 200 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม และมีผิวคล้ำเดินทางมาจากนอกทวีปยุโรป พยายามเข้าไปยังอุโมงค์ช่องแคบอังกฤษ ( Channel Tunnel) เพื่อเข้าไปยังอังกฤษ โดยหวังผลประโยชน์จากสวัสดิการรัฐ และความเป็นอยู่ที่ดี รวมไปถึงภาษาอังกฤษยังเรียนรู้ง่ายกว่าเมื่อเทียบกับภาษาฝรั่งเศส ซึ่งผู้อพยพเหล่านี้ถูกจำกัดให้อาศัยในค่าย “จังเกิล” หรือ Jungle ซึ่งเป็นสถานที่เปิดโล่ง และมีเตนท์ทำด้วยแผ่นพลาสติกปกคลุมในเมืองท่ากาเลส์ (Calais) ทางตอนเหนือของฝรั่งเศส

ดิอินดีเพนเดนท์ สื่ออังกฤษ รายงานในวันอาทิตย์(2)ว่า ฝูงผู้อพยพจำนวน 200 คน ได้ทำลายรั้วตาข่ายบางส่วน แต่ต้องล่าถอยจากแผงตำรวจปราบจลาจลฝรั่งเศสที่หยุดยั้งคนกลุ่มนี้ด้วยสเปรย์เคมี และอุปกรณ์ปราบจลาจล ก่อนที่รั้วแผงกันสุดท้ายจะถูกทำลายใกล้กับบริเวณทางเข้าอุโมงค์อังกฤษที่มีระยะทางราว 30 ไมล์

และในขณะที่มีการปะทะเกิดขึ้นนานร่วมเกือบชั่วโมง และทางผู้อพยพได้ตะโกนออกไปว่า “เปิดพรมแดนเดี๋ยวนี้” รวมไปถึง “พวกเราไม่ใช่สัตว์”

ซึ่งในหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ฝูงผู้อพยพจากจังเกิล” หรือ Jungle ตามชื่อที่บ่งบอกถึงสภาพแวดล้อมของที่อาศัยไม่ต่างจากกลุ่มเร่ร่อนอาศัยอยู่ในที่ว่างในเมืองท่ากาเลส์ (Calais) ทางตอนเหนือของฝรั่งเศส พยายามที่จะทำลายรั้วป้องกันความปลอดภัยใกล้กับอุโมงค์รถไฟข้ามช่องแคบ เพื่อหวังจะกระโดดลงบนหลังคารถไฟสินค้า หรือรถบรรทุกที่เดินทางเข้าอังกฤษ

และจากความพยายามที่ผ่านมาทำให้เกิดโศกนาฎกรรมเมื่อผู้ลี้ภัยชายชาวซูดานอายุราว 25-30 ปีถูกรถบรรทุกที่ออกมาจากท่าเรือเฟอร์รีทับเสียชีวิต

นอกจากนี้มีรายงานว่า มีบางส่วนของผู้อพยพพยายามหาช่องทางเข้าอังกฤษด้วยการว่ายข้ามช่องแคบอังกฤษ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเส้นทางคมนาคมทางน้ำที่มีการใช้งานอย่างคับคั่งมากที่สุดในโลก

ดิอินดีเพนเดนท์รายงานเพิ่มเติมว่า เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นหลังแหล่งข่าวตำรวจฝรั่งเศสปฎิเสธถึงการบุกรุกผู้อพยพจำนวนมากเพื่อหนีเข้าไปอุโมงค์ช่องแคบอังกฤษในวันจันทร์(27 กค.) และมีรายงานการทำผิดบุกรุกสถานที่แห่งนั้นไม่ต่ำกว่า 2,200 การกระทำผิด

สื่ออังกฤษรายงานเพิ่มเติมอีกว่า และผลจากการขัดขวางการเดินรถไฟยูโรเทรน และการประท้วงผละงานของคนงานท่าเรือเฟอร์รี ส่งผลทำให้ระบบลอจิสติกของแดนน้ำหอมต้องหยุดชะงัก ซึ่งทั้งรัฐบาลฝรั่งเศสและรัฐบาลอังกฤษต่างต้องออกมาให้คำมั่นสัญญาที่จะให้มีการควบคุมมากขึ้น ไม่ว่าในเรื่องสร้างรั้วกั้นให้สูงขึ้น เพิ่ทจำนวนกล้องโทรทัศน์วงจรปิด และกำหนดให้มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยสูงขึ้น

และอีกทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสต่างชี้ว่า “คลื่นผู้อพยพกาเลส์” นี้เป็นปัญหาจาก “วิกฤตผู้อพยพระดับโลก” ที่ประเทศทั้งสองต้องการให้ประชาคมโลกต้องยื่นมือเข้ามาแก้ปัญหา

ด้าน เดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ แสดงความเห็นถึงสถานการณ์ผู้อพยพกาเลส์ว่า “น่าวิตก” ในขณะที่เทเรซา เมย์ รัฐมนตรีมหาดไทยอังกฤษ ได้นั่งเป็นประธานที่ประชุมวาระฉุกเฉิน Cobra ในสัปดาห์ที่ผ่านมา

นอกจากนี้รัฐบาลอังกฤษยังได้รับปากที่จะให้เงินช่วยเหลือจำนวน 7 ล้านปอนด์ เพื่อปรับปรุงการรักษาความปลอดภัยในเมืองกาเลส์และอุโมงค์ช่องแคบอังกฤษ

ด้าน France 24 สื่อฝรั่งเศส ได้รายงานเมื่อวานนี้(2)ว่า ในวันเสาร์(1) กลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านการเข้าเมืองผิดกฏหมายของผู้อพยพกาเลส์ถูกจัดขึ้นในเมืองท่าที่เงียบสงบของอังกฤษ โฟล์กสโตน (Folkestone)

ซึ่งจากการรายงานพบว่ากลุ่มที่เข้าร่วมต้านผู้อพยพกาเลส์นี้เป็นกลุ่มขวาจัดอังกฤษBritain First และกลุ่ม English Defence League (EDL) โดยทางกลุ่มต่อต้านผู้อพยพต่างเชื่อว่า คนเหล่านี้ต้องการข้ามฝั่งจากฝรั่งเศสเข้ามายังอังกฤษ เพื่อหวังผลประโยชน์สวัสดิการรัฐที่รัฐบ่าลอังกฤษจัดให้กับพลเมืองของประเทศ

พอล โกลดิง (Paul Golding) หัวหน้ากลุ่ม Britain First ได้ให้สัมภาษณ์กับ France 24ว่า “หากว่าผู้อพยพเหล่านั้นเป็นชาวฝรั่งเศสหนีภัยผู้นำเผด็จการ พวกเราคงพอที่จะให้อาศัยอยู่ได้ชั่วคราว แต่ไม่ใช่กับกลุ่มคนที่อพยพมาจากครึ่งโลกเช่นนี้ที่ต้องการเข้ามาตักตวงผลประโยชน์จากสวัสดิการ”

นอกจากนี้ในฝั่งผู้ลี้ภัยกาเลส์ มีบางส่วนที่ถอดใจ ไม่เดินทางข้ามไปยังฝั่งอังกฤษตามเป้าหมายเดิม โดยต้องการปักหลักอยู่ในฝรั่งเศสแทน จากการรายงานของเดอะ การ์เดียน สื่ออังกฤษเมื่อวานนี้(2)

โดยใน “จังเกิล” ค่ายผู้อพยพชั่วคราว มีการตั้งมัสยิดสำหรับปฎิบัติกิจทางศาสนา รวมไปถึงโรงเรียนสำหรับเด็กๆในที่นั่น และมีครูอาสาสมัครเดินทางเข้าไปสอนที่โรงเรียนใหม่แห่งนี้

คามาล (Kamal)วัย 29 ปี อาชีพวิศวกรไฟฟ้าจากซูดานได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า “ภาษาฝรั่งเศสยากมากเมื่อเทียบกับภาษาอังกฤษ แต่พวกเราพยายามอย่างหนัก และหากเรามาเรียนทุกวัน บางทีความฝันของพวกเราที่ตั้งไว้อาจสำเร็จ”

และคามาลที่ใช้เวลาร่วม 3-4 ชม.ในการเรียนภาษาฝรั่งเศสทุกวันกล่าวต่อว่า “ถือเป็นการดีที่จะทำให้สมองของคุณทำงานทุกวัน” ซึ่งเขาและผู้อพยพคนอื่นต่างยื่นขอลี้ภัยในฝรั่งเศส และพยายามที่จะเรียนภาษาฝรั่งเศสโดยหวังว่าดินแดนน้ำหอมจะเป็นประเทศใหม่ของพวกเขา

ทั้งนี้คามาลที่เห็นภาพข่าวจากโทรทัศน์ถึงสถานการณ์ของผู้อพยพจากค่าย “จังเกิล” หนีเข้าไปยังอังกฤษด้วยความรู้สึกไม่พอใจ กล่าวว่า “ผมอยากฝากไปบอกคนอังกฤษว่า การที่พวกเขาคิดว่า ทุกคนต้องการอาศัยอยู่ในอังกฤษ แต่ทว่ายังมีอีกหลายคนที่นี่ต้องการอาศัยในฝรั่งเศส”

และ France 24 รายงานเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ ฝรั่งเศสเป็นสถานที่ลี้ภัยให้กับผู้อพยพลี้ภัยมากกว่า 250,000 คนแล้ว ซึ่งถือเป็นจำนวนตัวเลขที่มากเป็น 2 เท่าที่อังกฤษรับผู้ลี้ภัยเข้าพำนัก ถึงแม้ประเทศทั้งสองจะมีขนาดจำนวนประชากรไล่เลี่ยกัน

นอกจากนี้ ยังมีผู้ลี้ภัยอีกร่วม 56,000 คนรอคอยการอนุมัติสถานภาพผู้ลี้ภัยในฝรั่งเศส ถือเป็นจำนวนมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ในยุโรป และเทียบกับจำนวน 36,00 คนที่อังกฤษกำลังดำเนินการตัดสินใจให้สถานภาพ ถือว่าเทียบไม่ได้อย่างสิ้นเชิง

















กำลังโหลดความคิดเห็น