เดอะการ์เดียน - รัฐมนตรีอังกฤษ ระบุว่า ผู้อพยพชาวยุโรปที่มีงานรออยู่เท่านั้นที่ควรจะได้รับการอนุญาตให้เข้าสหราชอาณาจักร ทั้งยังโทษระบบไร้พรมแดนของยุโรปว่าเป็นตัวการที่ทำให้เกิดวิกฤตผู้อพยพในช่วงที่ผ่านมา
เธเรซา เมย์ รัฐมนตรีมหาดไทยอังกฤษ ระบุว่า หลักการเรื่องเสรีภาพในการเดินทางภายในอียูได้ ทำให้เหล่าคนว่างงานพากันย้ายไปยังประเทศอื่นเพื่อหางานและผลประโยชน์ สร้างความกดดันให้กับระบบบริการสาธารณะและโครงสร้างพื้นฐาน
เธอยังบอกด้วยว่า เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อนนี้ ซึ่งมีผู้อพยพและผู้ลี้ภัยหลายแสนคนยอมเสี่ยงชีวิตเพื่อเดินทางไปให้ถึงยุโรป น่าจะเป็นการปลุกเหล่าผู้นำในอียูให้ตื่นได้เสียที
จากข้อมูลที่ได้ในช่วงก่อนหน้าของสัปดาห์นี้ แสดงให้เห็นตัวเลขของผู้อพยพเข้าอังกฤษที่สูงเป็นประวัติการณ์ อยู่ที่ประมาณ 330,000 ราย ในเดือนทีนาคม ซึ่งเมย์บอกว่ามันเป็นตัวเลขที่สูงมากเกินไปและไม่อาจรับไว้ได้
คำพูดของเมย์ถูกตีพิมพ์ใน “ซันเดย์ ไทม์” โดยเธอได้ระบุว่า การลดจำนวนผู้อพยพในอียูไม่จำเป็นจะต้องหมายถึงการบั่นทอนหลักการเรื่องเสรีภาพในการเดินทาง
“ในตอนแรกที่เราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เสรีภาพในการเดินทางนั้นหมายถึงเสรีภาพในการย้ายไปทำงาน ไม่ใช่เสรีภาพในการข้ามพรมแดนเพื่อไปหางานหรือผลประโยชน์ แต่เมื่อปีที่แล้ว 4 ใน 10 ของผู้อพยพในอียู หรือประมาณ 63,000 ราย มาที่นี่โดยไม่มีงานทำ” เธอกล่าว
ก่อนหน้านี้ เมย์ ได้ไปที่เมืองกาเลส์เพื่อตรวจสอบมาตรการความปลอดภัยที่ใช้ป้องกันไม่ให้ผู้อพยพเข้าสู่เมืองผู้ดีผ่านอุโมงค์ช่องแคบอังกฤษ
เธอยังได้โทษระบบไร้พรมแดนของยุโรปว่าเป็นตัวการที่ทำให้วิกฤติผู้อพยพที่สร้างความเสียหายให้กับยุโรปช่วงหน้าร้อนหนักข้อมากยิ่งขึ้น
เมย์ ระบุว่า นี่เป็นเหมือนเสียงปลุกให้อียูได้ตื่น บรรดาผู้นำควรจะต้องพิจารณาถึงผลที่ตามมาของการไม่ควบคุมการอพยพ ทั้งเรื่องค่าจ้าง เรื่องงาน รวมถึงการอยู่ร่วมกันทางสังคมของประเทศจุดหมายปลายทาง ทั้งเรื่องเศรษฐกิจและสังคม กับเรื่องอื่น ๆ อย่างการใช้ชีวิตและสวัสดิการของเหล่าผู้ที่เดินทางเข้ามา
“หากเราต้องการควบคุมจำนวนผู้อพยพให้ลดลงไปอยู่ที่หลักหมื่น เราต้องตัดสินใจครั้งใหญ่ ยกเลิกผลประโยชน์มหาศาล กลับไปสู่หลักการดั้งเดิมของเสรีภาพในการเดินทางภายในอียู” เธอกล่าว
ผู้อพยพเข้าอียูนั้นมีตัวเลขสูงเป็นประวัติการณ์เกินกว่า 100,000 ราย เฉพาะแค่ในเดือนกรกฎาคม ทั้งยังมีมากกว่า 340,000 ในช่วงที่ผ่านมาของปีนี้
อิตาลีกับกรีซกำลังดิ้นรนในการรับมือกับผู้อพยพ และผู้ลี้ภัยที่หลั่งไหลกันเข้ามาในแต่ละวัน ส่วนที่มาเซโดเนียได้ประกาศภาวะฉุกเฉินแล้วสำหรับเรื่องนี้