xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตผู้อพยพเสี้ยม “ยุโรป” แตกคอ รมว.มหาดไทย อียูนัดถก 14 กันยายน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

รถบรรทุกจอดกันเป็นแถวยาวตามทางหลวงสายหนึ่งในเขตเฮกเยชาลอม ของฮังการี ใกล้ๆ กับพรมแดนออสเตรีย เมื่อวันอาทิตย์ (31 ส.ค.) หลังทางการออสเตรียเพิ่มมาตรการควบคุมตรวจค้นชายแดนด้านตะวันออกของประเทศ และปรากฏว่าสามารถหยุดยั้งผู้อพยพหลายร้อยคนที่จะแอบข้ามเข้ามา รวมทั้งจับผู้ต้องสงสัยเป็นพวกแก๊งค้ามนุษย์ได้ 5 คน
เอเจนซีส์ - อียูตกลงจัดประชุมวาระพิเศษรัฐมนตรีมหาดไทยวันที่ 14 ที่จะถึง เพื่อหาทางจัดการวิกฤตผู้อพยพครั้งรุนแรงที่สุดนับจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่กำลังทำให้ภายในยุโรปเองเกิดการแตกร้าวอย่างล้ำลึก

นายกรัฐมนตรี มานูเอล วาลส์ แห่งฝรั่งเศส กล่าวเมื่อวันจันทร์ (31 ส.ค.) หลังจากเดินทางถึงศูนย์รองรับผู้ลี้ภัยในกาเลส์ เมืองท่าของฝรั่งเศส และพบกับกรรมาธิการด้านการอพยพของอียู ว่า ยุโรปกำลังขับเคลื่อน ซึ่งเป็นการตอกกลับการแสดงความคิดเห็นของนายกรัฐมนตรี มัตเตโอ เรนซี ของอิตาลี ในวันก่อนหน้าที่ว่า “ยุโรปต้องเลิกหยุดนิ่งและเริ่มเคลื่อนไหวเสียที”

วาลส์ เสริมว่า ยุโรปกำลังเตรียมวิธีการที่จำเป็นในการรองรับผู้ลี้ภัย การจัดหาความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และการจัดการอย่างเด็ดขาดกับผู้ลักลอบค้ามนุษย์และการอพยพอย่างผิดกฎหมาย

ทั้งนี้ รัฐมนตรีมหาดไทยสหภาพยุโรป (อียู) มีกำหนดหารือวาระพิเศษกันที่บรัสเซลส์ วันที่ 14 กันยายนนี้ เพื่อพยายามเพิ่มมาตรการรับมืออย่างเข้มแข็งต่อวิกฤตผู้อพยพครั้งใหญ่ที่สุดนับจากสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยนับจากต้นปีนี้มีผู้อพยพหลั่งไหลเข้าสู่ยุโรปแล้วกว่า 300,000 คน สาเหตุหลักคือความขัดแย้งต่าง ๆ ในตะวันออกกลาง

ขณะเดียวกัน ปัญหานี้สะท้อนว่า สมาชิก 28 ชาติของอียูแตกแยกกันอย่างชัดเจน วันอาทิตย์ (30 ส.ค.) ลอว์รองต์ ฟาเบียส รัฐมนตรีต่างประเทศแดนน้ำหอมกล่าวว่า เป็นเรื่อง “น่าอดสู” ที่บางประเทศในยุโรปตะวันออกปฏิเสธที่จะรับผู้อพยพเพิ่ม และสำทับว่า การสร้างสิ่งกีดขวางเพื่อสกัดผู้อพยพระลอกใหม่ของฮังการีถือว่า ไม่เคารพค่านิยมร่วมของยุโรป

ทั้งนี้ ข่าวการพบร่างผู้เสียชีวิตที่เชื่อว่าเป็นชาวซีเรีย 71 ราย ที่เริ่มเน่าเปื่อยในรถบรรทุกซึ่งติดป้ายทะเบียนฮังการีและจอดทิ้งบนมอเตอร์เวย์สายหนึ่งของออสเตรียเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ตอกย้ำอันตรายที่ผู้อพยพต้องเผชิญ เช่นเดียวกับข่าวผู้อพยพราว 2,500 คน เสียชีวิตระหว่างการเดินทางข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนในเรือที่ใกล้ผุพัง

ผู้อพยพส่วนใหญ่มักขึ้นฝั่งที่อิตาลี กรีซ และฮังการี ก่อนที่จะพยายามมุ่งหน้าต่อไปยังประเทศที่มั่งคั่งกว่าทางเหนือของยุโรป แม้ต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากมายตลอดการเดินทางก็ตาม

หญิงวัย 40 ปีคนหนึ่งที่หนีมาจากดามัสกัส เมืองหลวงของซีเรีย พร้อมลูกชายวัยรุ่น 2 คน เล่าว่า เธอถูกรีดไถเงินทุกขั้นตอน ซ้ำเมื่อถึงเซอร์เบียยังถูกปฏิบัติราวกับไม่ใช่คน

พวกประเทศทางยุโรปตะวันออกต้องดิ้นรนรับมือวิกฤตนี้เช่นเดียวกัน มาซิโดเนียประกาศภาวะฉุกเฉินเมื่อสองสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่รัฐบาลฝ่ายขวาของฮังการีที่มีผู้อพยพใหม่ทะลักเข้าประเทศถึง 5,000 คนในเดือนสิงหาคม สร้างรั้วลวดหนามมาตรฐานนาโต ตลอดแนวชายแดนติดกับเซอร์เบีย รวมทั้งสร้างกำแพงสูง 4 เมตร พร้อมส่งหน่วยยามชายแดนและสุนัขดมกลิ่นลาดตระเวน และเพิ่มบทลงโทษผู้ที่ข้ามแดนโดยผิดกฎหมาย

ทว่า การดำเนินการทั้งหมดดังกล่าวแทบไร้ประโยชน์โดยสิ้นเชิง เนื่องจากในวันเสาร์ (29 ส.ค.) มีผู้ลักลอบข้ามแดนเข้าสู่ฮังการีถึง 3,080 คน ซึ่งถือเป็นสถิติรายวันสูงสุดอันดับ 2
ฮังการียังตอบโต้ว่า ความคิดเห็นของรัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส “น่าตกใจและไม่มีเหตุผล” และเตรียมเรียกเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสรับฟังข้อโต้แย้งนี้

ที่ออสเตรีย เจ้าหน้าที่จับผู้ต้องสงสัยลักลอบขนผู้อพยพ 5 คน โดยเป็นชาวบัลแกเรีย 4 คน และอัฟกัน 1 คน ซึ่งอาจพัวพันกับกรณีรถบรรทุกผู้อพยพ 71 ราย ที่เสียชีวิตเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นอกจากนี้ ยังพบผู้อพยพ 200 คน โดยทั้งหมดนี้เกิดขึ้นระหว่างปฏิบัติการตรวจค้นรถขนาดใหญ่ทุกคันซึ่งมีพื้นที่ซุกซ่อนคนที่เดินทางข้ามแดนทางฝั่งตะวันออกของประเทศ ตามคำสั่งของรัฐมนตรีมหาดไทย โจฮันนา มิกล์-เลตเนอร์ ที่เริ่มต้นเมื่อคืนวันอาทิตย์ โดยได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนบ้านได้แก่ เยอรมนี ฮังการี และสโลวาเกีย

ที่อังกฤษ เทเรซา เมย์ รัฐมนตรีมหาดไทย กล่าวว่า สาเหตุของ “โศกนาฏกรรมที่ลุกลาม” คือ ระบบเช็งเก็นซึ่งลอนดอนไม่ได้เข้าร่วม พร้อมเรียกร้องให้อียูเพิ่มกฎที่เข้มงวดควบคุมการเดินทางอย่างเสรีในยุโรป

ด้านเยอรมนีที่คาดว่า จะได้รับคำร้องขอลี้ภัยเพิ่มขึ้น 4 เท่า เป็นราว 800,000 คนในปีนี้นั้น นายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล ให้สัมภาษณ์เมื่อวันอาทิตย์ ว่า ยุโรปต้องแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันอีกครั้ง

ท่าทีนี้ได้รับการตอกย้ำจากเรนซี ผู้นำอิตาลีที่กล่าวว่า อียูต้องผลักดันให้มีนโยบายเดียวกันในด้านผู้อพยพ

เนื่องจากขณะนี้ บางประเทศปฏิเสธรับผู้ลี้ภัยและคัดค้านข้อเสนอของอียูที่ให้สมาชิกทุกประเทศเห็นพ้องในแผนการร่วม ขณะที่อีกหลายประเทศเดินหน้าเพิ่มความเข้มงวดในการรักษาความมั่นคงด่านชายแดน


กำลังโหลดความคิดเห็น