เอเอฟพี - อัยการสูงสุดมาเลเซียออกมายืนยันในวันนี้ (26 ม.ค.) ว่า เงินสดจำนวน 681 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ไปโผล่อยู่ในบัญชีส่วนตัวของนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัค เป็น “เงินบริจาค” จากราชวงศ์ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเท่ากับว่าผู้นำมาเลเซียพ้นข้อกล่าวหาทุจริตยักยอกเงินกองทุนพัฒนาเศรษฐกิจไปโดยปริยาย
โมฮาเหม็ด อาปันดี อาลี อัยการสูงสุดมาเลเซีย แถลงว่า จากการตรวจสอบหลักฐานที่สำนักงานปราบปรามการทุจริตแห่งชาติรวบรวมมาได้ พบว่าเงินเกือบ 700 ล้านดอลลาร์ เป็น “เงินบริจาคส่วนตัวจากราชวงศ์ซาอุดีอาระเบีย”
อาปันดี อาลี ไม่ได้ให้รายละเอียดใดๆ เพิ่มเติมมากกว่านี้
นาจิบ วัย 62 ปี ยืนกรานแก้ต่างให้ตนเองตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา หลังมีกระแสข่าวว่าเงินสดราว 700 ล้านดอลลาร์ที่ถูกโอนเข้าบัญชีส่วนตัวของเขาเมื่อปี 2013 เป็นเงินที่ยักย้ายถ่ายโอนมาจากกองทุน วัน มาเลเซีย ดีเวลลอปเมนต์ เบอร์ฮัด (1MDB) ซึ่งเป็นกองทุนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาวที่รัฐบาลของเขาก่อตั้งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ทางการเสือเหลืองเพิ่งจะเปิดเผยแหล่งที่มาของเงินดังกล่าวอย่างชัดเจนในวันนี้ โดยก่อนหน้านี้รัฐบาลเพียงแต่อ้างว่า เป็นเงินบริจาคจากแหล่งทุนในตะวันออกกลาง
“ผมพอใจกับผลตรวจสอบ ซึ่งไม่พบหลักฐานว่าเงินก้อนนี้เป็นรางวัลที่ได้มาโดยมิชอบ” อาปันดี ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นอัยการสูงสุดโดยรัฐบาลนาจิบเมื่อปีที่แล้ว ระบุ พร้อมเสริมว่า “รัฐบาล (นาจิบ) ไม่ได้กระทำความผิดอาญาใดๆ ทั้งสิ้น” และตนจะสั่งให้สำนักงานปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ “ปิด” คดีนี้เสีย
ผู้นำเสือเหลืองเผชิญแรงกดดันอย่างหนักตั้งแต่ช่วงปีที่แล้ว หลังมีกระแสข่าวในเดือน ก.ค. ว่าเงินหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถูกดึงออกไปจากกองทุน 1MDB อย่างเป็นปริศนา ทว่าทางกองทุน รวมถึง นาจิบ ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการที่ปรึกษากองทุน ต่างยืนยืนว่าไม่มีการทุจริตใดๆ เกิดขึ้น
กลุ่มฝ่ายค้านมาเลเซียและแม้แต่สมาชิกบางคนในพรรครัฐบาลอัมโนได้เรียกร้องให้มีการตั้งคณะทำงานที่เป็นอิสระเพื่อตรวจสอบคดีนี้ พร้อมกล่าวหาว่าผู้นำมาเลเซียใช้อำนาจแทรกแซงกระบวนการสอบสวนของรัฐ
หลังจากเรื่องเงินกองทุนถูกเคลื่อนย้ายถูกเปิดโปงได้ไม่นาน นาจิบก็ได้สั่งปลดรองนายกรัฐมนตรี มูห์ยิดดิน ยัสซิน และคณะรัฐมนตรีอีกหลายคนที่เรียกร้องให้เขาออกมาอธิบายเรื่องนี้ ทั้งยังปลดอัยการสูงสุด อับดุล กอนี ปาเตล ที่เป็นผู้ทำคดี และให้อาปันดีซึ่งมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพรรคอัมโนขึ้นมารับตำแหน่งแทน
ข้อแก้ตัวเรื่องเงินบริจาคของนาจิบสร้างความไม่พอใจต่อชาวมาเลเซียซึ่งก็คุ้นเคยกับพฤติกรรมคอร์รัปชันของรัฐบาลมานานแล้ว และยังทำให้ภาพลักษณ์ “นายกฯ นักปฏิรูป” ที่เขาพยายามจะสร้างขึ้นต้องมัวหมองอย่างหนัก
ผู้สังเกตการณ์บางคนมองว่า คดีนี้อาจเป็น “ฟางเส้นสุดท้าย” ที่ทำให้กลุ่มบาริซาน เนชันแนล (บีเอ็น) ที่มีพรรคอัมโนเป็นแกนนำหลักต้องสูญเสียอำนาจในที่สุด
บีเอ็นซึ่งกุมอำนาจปกครองมาเลเซียมานานเกือบ 59 ปีตั้งแต่ได้รับเอกราช เริ่มที่จะสูญเสียคะแนนนิยมในศึกเลือกตั้งปีหลังๆ เนื่องจากชาวแดนเสือเหลืองเริ่มเหนื่อยหน่ายกับพฤติกรรมทุจริตคอรัปชัน การละเมิดสิทธิพลเมือง และโหยหาความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น
สำหรับการเลือกตั้งทั่วไปในมาเลเซียครั้งหน้ามีกำหนดจัดขึ้นในปี 2018
พรรคฝ่ายค้านและองค์กรสิทธิมนุษยชนกล่าวหาว่านาจิบใช้กฎหมายปราบปรามศัตรูทางการเมืองเพื่อสกัดกระแสต่อต้านรัฐบาล และมีการจับกุมบุคคลหลายสิบคนด้วยข้อหาปลุกระดมในช่วง 2 ปีมานี้ ทั้งยังประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงใหม่ที่ให้อำนาจรัฐบาลในการกวาดล้างจนอาจเข้าขั้นเผด็จการ
ทั้งนี้ แม้ว่า นาจิบ จะรอดพ้นกระบวนการยุติธรรมในประเทศ แต่ยังเสี่ยงที่จะถูกเอาผิดจากกระบวนการสอบสวนนานาชาติ
กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ และสำนักงานสอบสวนกลาง (เอฟบีไอ) อยู่ระหว่างตรวจสอบเส้นทางของเงินกองทุน 1MDB เช่นเดียวกับทางการสวิตเซอร์แลนด์ อังกฤษ สิงคโปร์ และฮ่องกง ที่ได้สอบสวนคดีฟอกเงินซึ่งอาจเกี่ยวพันกับกองทุนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาวซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2009 แห่งนี้
เดือน ก.ย.ปีที่แล้ว หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์สได้อ้างแหล่งข่าวใกล้ชิดกระบวนการสอบสวนซึ่งระบุว่า คณะลูกขุนใหญ่สหรัฐฯ กำลังตรวจสอบทรัพย์สินมูลค่าหลายล้านดอลลาร์ซึ่งถูกซื้อในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาโดยบริษัทเปลือกนอก (shell company) ของ ริซา อาซีซ บุตรชายบุญธรรมนาจิบ รวมถึงเครื่องเพชรหลายล้านดอลลาร์ที่ถูกซื้อให้แก่ รอสมาห์ มันซูร์ ภริยาผู้นำมาเลเซีย