นับเป็นกระแสข่าวที่สื่อทั้งในอาเซียนและทั่วโลกเฝ้าติดตาม จากกรณีที่อัยการสูงสุดมาเลเซียออกมาประกาศเคลียร์ข้อกล่าวหายักยอกเงินกองทุนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ วัน มาเลเซีย ดีเวลลอปเมนต์ เบอร์ฮัด (1MDB) ให้กับนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัก ทว่าหน่วยงานต่างชาติซึ่งตรวจสอบพบความไม่ชอบมาพากลในการเคลื่อนย้ายทรัพย์สินของกองทุนแห่งนี้ดูเหมือนจะไม่ยอมให้เรื่องจบลงง่ายๆ อย่างที่รัฐบาลเสือเหลืองต้องการ
คดีอื้อฉาวซึ่งพัวพันไปถึงตัวผู้นำสูงสุดของมาเลเซียเริ่มเป็นข่าวคึกโครมตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปี 2015 เมื่อหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัลในสหรัฐฯ ออกมาตีแผ่เรื่องเงินสดเกือบ 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ถูกโอนเข้าบัญชีส่วนตัวของ นาจิบ โดยไม่ทราบที่มา และคาดคะเนว่าจะเป็นเงินที่ถูกดึงไปจากกองทุนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาวที่รัฐบาลนาจิบก่อตั้งขึ้น
นาจิบ วัย 62 ปี ยืนกรานแก้ต่างให้ตนเองมาตลอด โดยอ้างว่าข้อกล่าวหาทั้งหมดเป็นแผนของศัตรูทางการเมืองที่ต้องการใส่ความเพื่อล้มรัฐบาล
โมฮาเหม็ด อาปันดี อาลี อัยการสูงสุดมาเลเซีย ได้ประกาศยืนยันเมื่อวันที่ 26 ม.ค. ที่ผ่านมาว่า จากการตรวจสอบหลักฐานที่สำนักงานปราบปรามการทุจริตแห่งชาติรวบรวมมาได้ พบว่าเงินสดจำนวน 681 ล้านดอลลาร์สหรัฐที่ไปโผล่อยู่ในบัญชีส่วนตัวของนายกรัฐมนตรี นาจิบ เป็น “เงินบริจาค” จากราชวงศ์ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเท่ากับว่าผู้นำมาเลเซียพ้นข้อกล่าวหาทุจริตยักยอกเงินกองทุนไปโดยปริยาย
ทว่าหลังจากนั้นไม่กี่วัน ทางการสวิตเซอร์แลนด์และสิงคโปร์กลับออกมาประกาศเดินหน้าตรวจสอบเส้นทางการเงินของ 1MDB ต่อไป พร้อมแถลงข้อมูลใหม่ๆ ที่บ่งชี้ว่าอาจมีการทุจริตยักยอกเงินโดยเจ้าหน้าที่รัฐบาลมาเลเซีย
เมื่อวันที่ 29 ม.ค. อัยการสวิตเซอร์แลนด์ได้ร้องขอความร่วมมือไปยังกัวลาลัมเปอร์ หลังตรวจสอบพบว่าเงินสดราว 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐอาจถูกยักยอกออกไปจาก 1MDB อย่างเป็นปริศนา โดย “เงินส่วนน้อย” จากทั้งหมดที่หายไปนั้นถูกโอนจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ไปเข้าบัญชีเงินฝากในสวิตเซอร์แลนด์ของเจ้าหน้าที่รัฐบาลมาเลเซียทั้งในอดีตและปัจจุบัน
การสอบสวนในสวิตเซอร์แลนด์ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่เดือน ส.ค.ปีที่แล้ว ยังพบว่าอดีตเจ้าหน้าที่ 1MDB จำนวน 2 คน และ “กลุ่มบุคคลไม่ทราบชื่อ” อาจร่วมกันติดสินบนเจ้าหน้าที่ต่างชาติ ประพฤติมิชอบในหน้าที่ ฟอกเงิน และบริหารจัดการผิดพลาด
วันจันทร์ที่ 1 ก.พ. รัฐบาลสิงคโปร์ประกาศยึดบัญชีธนาคารจำนวนมากที่อาจพัวพันการทุจริตเงินกองทุน 1MDB ของมาเลเซีย นอกจากนี้ ธนาคารกลางสิงคโปร์และแผนกกิจการพาณิชย์ของตำรวจยังประกาศในถ้อยแถลงร่วมว่า “สิงคโปร์จะไม่อดทนต่อการใช้ระบบการเงินของเราเป็นที่ซ่อน หรือเป็นเส้นทางการเงินผิดกฎหมาย”
ผู้สังเกตการณ์และนักวิเคราะห์ชี้ว่า การที่สวิตเซอร์แลนด์และสิงคโปร์แถลงข้อมูลและประกาศจุดยืนไล่บี้ 1MDB ในช่วงเวลานี้ บ่งบอกชัดเจนถึงความไม่พอใจที่มาเลเซียพยายาม “ฝังกลบ” พฤติกรรมอื้อฉาวของ นาจิบ และคนในรัฐบาล
“เจ้าหน้าที่สวิสและสิงคโปร์อาจมองว่า การกระทำของอัยการสูงสุดมาเลเซียที่ประกาศเคลียร์ข้อหาให้แก่ นาจิบ อย่างรวบรัดตัดความ เท่ากับดูหมิ่นกระบวนการสอบสวนในต่างประเทศที่ยังไม่เสร็จสิ้น” ซินเธีย แกเบรียล ประธานกลุ่ม C4 ซึ่งเป็นหน่วยงานเอ็นจีโอต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในมาเลเซีย ระบุ
“แน่นอนว่าเรื่องนี้ยังไม่จบง่ายๆ และดูเหมือน นาจิบ จะถูกบ่วงรัดตัวแน่นขึ้นกว่าเดิมเสียด้วย” เธอกล่าว
ข่าวเรื่องการยักย้ายเงินทุนมหาศาลไปจากกองทุน 1MDB รวมถึงกรณีเงินสดเกือบ 700 ล้านดอลลาร์ในบัญชีนาจิบซึ่งถูกเปิดโปงในเวลาไล่เลี่ยกัน ส่งผลให้ฐานอำนาจของกลุ่ม “บาริซาน เนชันแนล” ที่ผูกขาดอำนาจปกครองมาเลเซียมานานกว่าครึ่งศตวรรษสั่นคลอนอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
บีเอ็นซึ่งมีพรรคอัมโนเป็นหัวเรือใหญ่ครองอำนาจบริหารแดนเสือเหลืองมาตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1957 ทว่าคะแนนนิยมชักจะแผ่วลงมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากพฤติกรรมคอร์รัปชันของนักการเมือง การจำกัดเสรีภาพ และนโยบายภูมิบุตรที่เอื้อประโยชน์แก่คนเชื้อสายมาเลย์มากกว่าพลเมืองกลุ่มอื่นๆ
กองทุน 1MDB ซึ่ง นาจิบ ก่อตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจมาเลเซียอย่างยั่งยืน ถูกวิจารณ์ว่าบริหารเงินผิดพลาด จนมีหนี้สินพอกพูนเกือบ 11,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
แม้จะยังไม่มีการเปิดเผยว่า กระบวนการสอบสวนในต่างประเทศจะพัวพันมาถึงตัวนายกรัฐมนตรีโดยตรงหรือไม่ แต่ข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ นาจิบ เป็นผู้ก่อตั้งกองทุนแห่งนี้ขึ้น และยังรั้งตำแหน่งประธานบอร์ดบริหารกองทุนอยู่จนทุกวันนี้
หลังข่าวเงินกองทุนถูกเคลื่อนย้ายถูกเปิดโปงได้ไม่นาน นาจิบก็สั่งปลดรองนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีอีกหลายคนที่เรียกร้องให้เขาออกมาอธิบายเรื่องนี้ให้กระจ่าง ทั้งยังปลดอัยการสูงสุดที่เป็นผู้ทำคดีนี้ และให้ โมฮาเหม็ด อาปันดี อาลี ซึ่งมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพรรคอัมโนขึ้นมารับตำแหน่งแทน
ชาวมาเลเซียส่วนใหญ่รับไม่ได้กับข้อสรุปเรื่อง “เงินบริจาค” ของ อาปันดี โดยเชื่อว่าเป็นความพยายามฟอกขาวเพื่อช่วยให้นายกฯ รอดจากการถูกดำเนินคดีมากกว่า
ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา กลุ่มฝ่ายค้านมาเลเซียหลายรายถูกจับกุมหลังออกมาแฉพฤติกรรมทุจริตของคนในรัฐบาล และแม้แต่หนังสือพิมพ์หรือเว็บไซต์ที่กล้าเสนอข้อมูลเรื่องการทุจริตภายใน 1MDB ก็ถูกรัฐบาลสั่งปิด
สัปดาห์ที่แล้ว อาปันดี ประกาศว่ามาเลเซีย “ไม่จำเป็น” ที่จะต้องให้ความร่วมมือกับนานาชาติเรื่องเงินบริจาคในบัญชีของนาจิบ ซึ่งเรื่องนี้ จอห์น มาล็อตต์ อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงกัวลาลัมเปอร์ วิจารณ์ว่าเป็นคำพูดพล่อยๆ ที่ “น่าเสียดาย” และอาจปลุกกระแสความไม่พอใจในต่างแดน
ทูตสหรัฐฯ ผู้นี้เตือนด้วยว่า ผู้นำมาเลเซียอาจถึงเวลาที่จะต้อง “ปาดเหงื่อ” อย่างจริงจังนับจากนี้ เพราะต้องรอลุ้นว่ากระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ และสำนักงานสอบสวนกลาง (เอฟบีไอ) ซึ่งกำลังตรวจสอบเส้นทางเงินของ 1MDB อยู่เช่นกัน จะมีคำประกาศออกมาบ้างหรือไม่ ซึ่งโดยปกติแล้วหน่วยงานสืบสวนของสหรัฐฯ จะไม่แถลงข้อมูลจนกว่าจะรวบรวมหลักฐานที่ยืนยันการกระทำความผิดได้อย่างแน่นอน