xs
xsm
sm
md
lg

In Pics : ไวรัสซิการะบาดหนักทั่วลาตินอเมริกา “เอลซัลวาดอร์” งัดมาตรการฉุกเฉิน “ห้ามผู้หญิงตั้งท้องจนถึงปี 2018”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพทารกป่วยด้วยโรคศรีษะเล็ก( Microcephaly) ซึ่งเป็นความพิการแต่กำเนิด เกิดจากการติดเชื้อไวรัสซิกา
เอเจนซีส์ - องค์การอนามัยโลก WHO ออกแถลงการณ์เตือนการระบาดอย่างหนักของไวรัสซิกา(ZIKA)ที่มียุงเป็นพาหะในแถบทวีปอเมริกา ซึ่งไวรัสนี้ส่งผลร้ายต่อทารกในครรภ์ทำให้เซลสมองถูกทำลาย พบเด็กแรกเกิดชาวบราซิลถึง 2,700 คนมีภาวะพิการแต่แรกคลอดที่เชื่อว่าเกิดจากเชื้อไวรัสนี้ ล่าสุดรัฐบาลเอลซัลวาดอร์ได้ออกนโยบาย ขอให้พลเมืองสตรีชาวเอลซัลวาดอร์งดการตั้งครรภ์ไปจนถึงปี 2018

RT สื่อรัสเซีย รายงานวันนี้ (25 ม.ค.) องค์การอนามัยโลก WHO ออกแถลงการณ์ล่าสุดเตือนภัยการระบาดของไวรัสซิกา (ZIKA) ที่มียุงเป็นพาหะในแถบทวีปอเมริกาว่า หญิงมีครรภ์ที่มีความประสงค์ต้องการเดินทางไปยังพื้นที่ซึ่งมีการระบาดของไวรัสซิกา ควรปรึกษากับแพทย์ประจำตัวก่อน

หนังสือพิมพ์สหรัฐฯ วอชิงตันโพสต์รายงานเพิ่มเติมว่า หลังจากการระบาดอย่างหนักในแถบลาตินอเมริกา บรรดารัฐบาลของชาติต่างๆในแถบนี้เป็นต้นว่า บราซิล และเอลซัลวาดอร์ ได้ร้องขอไม่ให้ประชาชนของตนเองมีครรภ์ในช่วงปีนี้ หรือ ไปจนถึงปี 2008 เพื่อป้องกันไม่ให้ไวรัสที่ส่งผลต่อการพัฒนาสมองของทารกในครรภ์ทำให้เกิดปัญหากับประชากรแรกคลอดที่กำลังจะเกิดมาในไม่ช้า

จากแถลงการณ์ของ WHO พบว่า ไวรัสซิกาพบในทวีปอเมริกายกเว้นในแคนาดา และชิลี โดยพบการระบาดเกิดขึ้นในประเทศบาร์บาดอส โบลิเวีย บราซิล โคลอมเบีย สาธารณรัฐโดมินิกัน เอกวาดอร์ เฟรนช์เกียนา กัวเดอลุป (Guadeloupe) กัวเตมาลา เกียนา เฮติ ฮอนดูรัส มาร์ตีนิก(Martinique) เม็กซิโก ปานามา ปารากวัย เปอร์โตริโก เซนต์ มาร์ติน เวเนซุเอลา และซูรินาม (Suriname)

สื่อรัสเซียรายงานต่อว่า เพียงแค่เฉพาะในบราซิลมีรายงานเด็กแรกคลอดที่มีภาวะพิการแต่แรกเกิดที่เชื่อว่ามีผลมาจากการติดเชื้อไวรัสซิกาถึง 2,700 ราย ส่งผลทำให้เจ้าหน้าที่บราซิลร้องขอให้บรรดาคุณแม่ชาวบราซิลเลื่อนแผนการมีบุตรออกไปในช่วงนี้

ทั้งนี้เป็นเพราะบราซิลประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากไวรัสชนิดนี้ ในปี 2014 มีผู้ติดเชื้อแค่ 147 ราย แต่กลับพบถึงมากถึง 2,400 รายในปี 2015 และมีรายงานว่าล่าสุด ประชาชนกว่า 1 ล้านได้รับเชื้อไวรัสซิกา ผ่านการรายงานของวอชิงตันโพสต์ และแค่ช่วง 4 เดือนล่าสุด พบทารกแรกคลอดชาวบราซิลได้รับเชื้อไปแล้วกว่า 4,000 รายที่ทำให้ทารกเหล่านั้นมีศรีษะเล็กกว่าปกติ ส่งผลทำให้รัฐบาลบราซิลตัดสินใจประกาศภาวะฉุกเฉินในทั่วทั้ง 6 รัฐ

และเป็นเพราะการระบาดอย่างหนักในบราซิลทำให้โคลอมเบียที่มีพรมแดนติดกัน และมีจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศราว 13,000 คน ได้ออกมาตรการร้องขอให้พลเมืองสตรีชาวโคลอมโบเลื่อนการตั้งครรภ์ไปในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้านี้

นอกจากนี้ วอชิงตันโพสต์ยังชี้ต่อว่า มาตรการไม่ให้มีการตั้งครรภ์ยังถูกประกาศใช้ในจาไมกา และฮอนดูรัส

แต่ทว่าเอลซัลวาดอร์ ประเทศที่มีรายงานการพบติดเชื้อไวรัสซิกาในปี 2015 ราว 5,000 ราย และรวมไปถึงในสัปดาห์แรกของปีนี้ ล่าสุดในวันพฤหัสบดี (21) รัฐบาลฮอนดูรัสได้ตัดสินใจออกนโยบายห้ามไม่ให้สตรีพลเมืองชาวเอลซัลวาดอร์ตั้งครรภ์จนถึงภายในปี 2018

โดยผู้ช่วยรัฐมนตรีสาธารณสุขเอลซัลวาดอร์ เอดูอาร์โด เอสปิโนซา (Eduardo Espinoza) ให้สัมภาษณ์ว่า “คำแนะนำสำหรับผู้ที่ประสงค์วางแผนจะมีบุตรนั้น ควรที่จะหลีกเลี่ยงที่จะให้กำเนิดบุตรภายในปีนี้”

และเอสปิโนซายังกล่าวต่อว่า “นี่ถือเป็นครั้งแรกที่เอลซัลวาดอร์ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของไวรัสซิกา ซึ่งการถูกโจมตีครั้งแรกมักจะหนักหน่วงเสมอ”

RT รายงานเพิ่มเติมว่า จากรายงานของ WHO พบว่าเชื้อไวรัสซิกานั้นนอกจากสามารถถ่ายทอดผ่านทางเลือด และยังสามารถตรวจพบได้จากอสุจิของเพศชายอีกด้วย ซึ่งในกรณีแม่และเด็กนั้นสามารถส่งผ่านไวรัสได้ทั้งในระหว่างช่วงการตั้งครรภ์และในช่วงการให้นมบุตร

และ WHO ยังแถลงว่า มีความเป็นไปได้ว่าเชื้อไวรัสสามารถแพร่ผ่านการมีเพศสัมพันธ์

โดยไวรัสชนิดนี้แพร่สู่คนโดยจากยุงเป็นพาหะโรค เหมือนเช่น โรคไข้เด็งกิ และไข้เหลือง และเป็นที่น่าเสียดายว่าในขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนรักษา โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุขของไทยชี้ว่าเชื้อไวรัสซิกามีระยะฟักตัว 4-7 วัน จากนั้นมีอาการไข้ ปวดศีรษะรุนแรง มีผื่นแบบ Maculopapular หรือ จะมีรอยโรคที่เป็นตุ่มนูน และรอยแดงผสมกัน ที่บริเวณลำตัว แขน และขา มีอาการวิงเวียน เยื่อบุตาอักเสบ ตาแดง ปวดตามข้อ และอาจมีต่อมน้ำเหลืองโต และอุจาระร่วง

RT รายงานต่อว่า มีความเชื่อว่าไวรัสซิกามีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำลายระบบประสาทของทารกในระหว่างอยู่ในครรภ์ ทำให้เด็กทารกแรกคลอดป่วยเป็นโรคศีรษะเล็ก (Microcephaly) ซึ่งเป็นความพิการแต่กำเนิด ส่งผลทำให้เด็กมีพัฒนาการช้าในทุกด้าน ตัวเตี้ย ใบ หน้าผิดรูป ซนผิดปกติ ปัญญาอ่อน และอาจมีอาการชัก
สถานการณ์ไวรัสซิการะบาดในบราซิล ส่งผลทำให้มีทารกจำนวนมากป่วยด้วยโรคศรีษะเล็ก







กำลังโหลดความคิดเห็น