xs
xsm
sm
md
lg

ปัด “คนไทย” ฆ่าตัวตายสูงขึ้น เผยสถิติเท่าเดิม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมสุขภาพจิต เผย สถิติคนไทยฆ่าตัวตายยังไม่เปลี่ยนแปลง พบ 4,000 รายต่อปี อยู่อันดับ 57 ของโลก เผย กลุ่มวัยทำงานเผชิญความเสี่ยงมากสุด เหตุเครียดจากการทำงาน เจ็บป่วย แนะ 3 วิธีสังเกตคนใกล้ตัวฆ่าตัวตาย

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ที่ผ่านมา อาจจะเห็นว่ามีการฆ่าตัวตายสูงขึ้น แต่ความจริงแล้วสถิติการฆ่าตายในภาพรวมยังไม่เปลี่ยนแปลง โดยพบประชาชนอายุน้อยสุดที่ฆ่าตัวตาย คือ 10 ขวบ อายุมากสุด คือ อายุตั้งแต่ 35 - 45 ปี เป็นกลุ่มวัยทำงานที่ต้องเผชิญปัญหาในหลาย ๆ สาเหตุ เช่น เครียดเรื้อรังจากการใช้ชีวิต ความเป็นอยู่ อาจจะทำให้มีความกดดัน มีภาวะเจ็บป่วยมีโรคประจำตัว ก็จะทำให้เครียดได้ มีอาการเจ็บป่วยทางจิตใจ และภาวะการเครียดจากเรื่องงาน ซึ่งอาจพบได้ในกลุ่มอาชีพที่งานมีภาวะการกดดันสูง การตัดสินใจถึงขั้นฆ่าตัวตายนั้นมักจะไม่ได้มาจากสาเหตุเดียวแต่เป็นหลาย ๆ ปัจจัยรวมกัน

พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า ข้อสังเกตว่า คนใกล้ตัวมีภาวะเครียดจนอาจจะนำไปสู่การฆ่าตัวตาย คือ 1. สังเกตว่าคนใกล้ตัวมีปัญหาชีวิตอะไรหรือไม่ มีอาการเครียดมากกว่าปกติหรือไม่ หรือมีอาการป่วยทางร่างกายใด ๆ ที่น่ากังวลหรือไม่ 2. เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงของคนใกล้ตัวว่า มีอาการท้อแท้ เบื่อหน่าย หมดกำลังใจในการใช้ชีวิต และ 3. ก่อนที่บุคคลใดจะฆ่าตัวตาย พบว่า ร้อยละ 90 จะส่งสัญญาณบอกคนใกล้ชิดก่อนว่ากำลังจะตัดสินใจฆ่าตัวตาย เช่น มีการพูดบอกว่าไม่อยากมีชีวิตอยู่ สั่งลา เริ่มหาอุปกรณ์ที่จะใช้ฆ่าตัวตาย เขียนจดหมายบอกคนใกล้ตัว หรือที่พบมากในปัจจุบันคือการเขียนข้อความบอกนัยยะผ่านทางโซเชียลมีเดีย หากพบคนที่มีอาการเหล่านี้ควรเข้าไปพูดคุยให้คำปรึกษา ไม่ควรปล่อยให้อยู่ตามลำพัง

“ผู้ที่เริ่มมีภาวะเครียด ขอแนะนำว่า เมื่อรู้สึกว่าตนเองมีอาการเครียด กดดัน จากเรื่องต่าง ๆ สามารถผ่อนคลายได้ โดย 1. พักผ่อนเยอะ ๆ เพื่อลดภาวะความเครียด 2. หากเครียดจากปัญหาการงานหรือปัญหาชีวิต ควรหาแนวทางแก้ไขปัญหานั้น หาทางออกของปัญหาเพื่อจะได้ลดความเครียดความกดดันลง 3. หากิจกรรมคลายเครียดทำเช่นออกกำลังกาย ดูหนัง ฟังเพลง หากพบว่าตนเองเป็นโรคซึมเศร้าต้องเข้ารับการรักษาทันทีเพราะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่จะฆ่าตัวตายได้ โดยสามารถขอคำปรึกษาจากสายด่วนสุขภาพจิตได้” พญ.พรรณพิมล กล่าว

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต พบว่า การฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตในทั่วโลก จำนวนกว่า 800,000 คนต่อปี หรือ 11.69 ต่อประชากรแสนคน คาดว่า จะเพิ่มเป็น 1.5 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2563 โดยมีคนพยายามฆ่าตัวตายสูงกว่าคนที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ 20 เท่าตัว โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ปี 2012 พบว่า 10 อันดับประเทศที่มีการฆ่าตัวตายสูงสุดนั้น คือ 1. กายอานา (Guyana) อัตราการฆ่าตัวตาย 44.2 ต่อประชากรแสนคน 2. เกาหลีใต้ (Republic of Korea) อัตราการฆ่าตัวตาย 28.9 ต่อประชากรแสนคน 3. ศรีลังกา (Sri Lanka) อัตราการตัวตาย 28.8 ต่อประชากรแสนคน 4. ลิธัวเนีย (Lithuania) อัตราการตัวตาย 28.2 ต่อประชากรแสนคน 5. ซูรินาม (Suriname) อัตราการฆ่าตัวตาย 27.8 ต่อประชากรแสนคน 6. โมซัมบิก (Mozambique) อัตราการฆ่าตัวตาย 27.4 ต่อประชากรแสนคน 7. เนปาล (Nepal) อัตราการฆ่าตัวตาย 24.9 ต่อประชากรแสนคน 8. แทนซาเนีย (United Republic of Tanzania) อัตราการฆ่าตัวตาย 24.9 ต่อประชากรแสนคน 9. คาซักสถาน (Kazakhstan) อัตราการฆ่าตัวตาย 23.8 ต่อประชากรแสนคน และ 10. บุรุนดี (Burandi) อัตราการฆ่าตัวตาย 23.1 ต่อประชากรแสนคน ส่วนประเทศไทย ถูกจัดให้อยู่ อันดับที่ 57

สำหรับสถานการณ์ปัญหาการฆ่าตัวตายของประเทศไทย พบว่า คนไทยเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายราว 4,000 รายต่อปี หรือกว่า 300 รายต่อเดือน อัตราเฉลี่ยจะอยู่ที่ 6 รายต่อประชากร 1 แสนคน ซึ่งไม่ได้เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น