xs
xsm
sm
md
lg

บ.ผู้ผลิตญี่ปุ่นชี้ “ชิ้นส่วน” ที่พบในไทยน่าจะมาจาก “จรวด” ไม่ใช่ MH370

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i>ชิ้นส่วนโลหะขนาดใหญ่ ซึ่งค้นพบที่บริเวณชายหาดจังหวัดนครศรีธรรมราช ของไทยเมื่อวันเสาร์ (23 ม.ค.) ทำให้เกิดความสงสัยกันว่าจะเป็นชิ้นส่วนของเที่ยวบิน MH370 ที่หายสาปสูญไปใช่หรือไม่ </i>
เอพี/เอเอฟพี - บริษัทผู้ผลิตจรวดสัญชาติญี่ปุ่นแถลงในวันนี้ (25 ม.ค.) ว่า ชิ้นส่วนโลหะขนาดใหญ่ซึ่งถูกซัดขึ้นมาบนชายหาดของประเทศไทยเมื่อวันเสาร์ (23) น่าจะเป็นชิ้นส่วนของจรวดซึ่งทางญี่ปุ่นส่งขึ้นไป ไม่ใช่เป็นของเครื่องบินโดยสารมาเลเซียที่หายสาปสูญไป

หลังจากชาวประมงไทยค้นพบชิ้นส่วนโลหะดังกล่าวที่ชายหาดในเขตจังหวัดนครศรีธรรมราช ทำให้เกิดข่าวลือโดยเฉพาะในหมู่สื่อมวลชนไทยว่า มันอาจจะเป็นชิ้นส่วนที่ออกมาจากเที่ยวบิน MH 370 ของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ส ซึ่งสูญหายไปเป็นเวลาเกือบ 2 ปีแล้ว

อย่างไรก็ตาม มิตซูบิชิ เฮฟวี่ อินดัสตรีส์ บริษัทยักษ์สัญชาติญี่ปุ่นซึ่งผลิตจรวดด้วย แถลงว่า หลังจากตรวจสอบเบื้องต้นจากภาพถ่ายและวิดีโอ โดยเฉพาะหลังตรวจสอบรายละเอียดของข้อมูลอย่างรูปร่างของเศษชิ้นส่วนชิ้นนี้ตลอดจนหมายเลขที่ปรากฏอยู่บนชิ้นส่วนแล้ว พบว่า “มีความเป็นไปได้สูง” ที่ชิ้นส่วนโลหะซึ่งพบในไทยจะเป็นชิ้นส่วนของจรวดแบบ H-II A หรือ H-II B ที่ผลิตโดยบริษัท และได้ถูกส่งขึ้นไปจากฐานส่งจรวดทางภาคใต้ของแดนอาทิตย์อุทัย

ซาโย ซุวาชิตะ โฆษกหญิงของบริษัทแห่งนี้บอกว่า ทางเจ้าหน้าที่กำลังพยายามวินิจฉัยว่าน่าจะเป็นชิ้นส่วนของจรวดลูกไหนและถูกส่งขึ้นไปในวันเวลาใด เธออธิบายด้วยว่าหลังจากยิงจรวดเหล่านี้ขึ้นไปแล้ว เศษชิ้นส่วนของก็จะตกลงมาในมหาสมุทร โดยบางครั้งก็พบชิ้นส่วนในสถานที่ค่อนข้างห่างไกลจากฐานส่งจรวด รวมทั้งในเขตน่านน้ำต่างประเทศด้วย

ญี่ปุ่นได้ส่งจรวด H-II A และ H-II B เรื่อยมานับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2000 โดยบ่อยครั้งเพื่อปฏิบัติภารกิจส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศ ทั้งนี้จรวด H-II A ลูกล่าสุดที่ถูกส่งขึ้นไปคือในเดือนพฤศจิกายน 2015

เที่ยวบิน MH 370 ซึ่งเป็นเครื่องบินโบอิ้ง 777 ทะยานขึ้นจากมาเลเซียในเดือนมีนาคม 2014 โดยมุ่งหน้าสู่กรุงปักกิ่งที่เป็นจุดหมายปลายทาง แต่แล้วเครื่องบินโดยสารลำนี้ก็ขาดการติดต่อ และสันนิษฐานกันว่าได้หันหัวเลี้ยวออกจากเส้นทางบินปกติ ก่อนที่จะสูญหายไป ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า MH 370 ได้ตกลงในบริเวณตอนใต้ของมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งอยู่ห่างไกลมากจากประเทศไทย

รัฐมนตรีคมนาคมมาเลเซีย เลียว เตืองไหล แถลงในวันอาทิตย์ (24) ว่า การค้นหาเครื่องบินโบอิ้ง 777 ที่หายไปลำนี้ ซึ่งมีผู้โดยสารและลูกเรืออยู่บนเครื่องรวม 239 คนด้วย ยังคงดำเนินต่อไปในมหาสมุทรอินเดีย และคาดหมายว่าการค้นหาในขณะนี้ซึ่งถือเป็นระยะที่ 2 แล้วจะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ภายในเดือนมิถุนายน

ขณะที่กรมความปลอดภัยการคมนาคมขนส่งของออสเตรเลีย ซึ่งทำหน้าที่ดูแลศูนย์ประสานตัวแทนร่วมของนานาชาติที่ร่วมการค้นหาคราวนี้ แถลงในวันนี้ (25) ว่า การปฏิบัติการค้นหาได้ประสบปัญหาสำคัญ หลังจากเครื่องโซนาร์ใต้น้ำ ที่เป็นอุปกรณ์สำคัญในการค้นหา ได้เกิดสูญหายไปใต้พื้นมหาสมุทรภายหลังชนเข้ากับภูเขาไฟใต้ทะเล

ทั้งนี้ เครื่องโซนาร์ใต้น้ำ หรือ “โทฟิช” ดังกล่าว ซึ่งถูกลากอยู่ใต้เรือค้นหาลำหนึ่ง รวมทั้งมีอุปกรณ์ค้นหาต่างๆ ติดอยู่ ได้ชนกับภูเขาไฟโคลนลูกหนึ่งซึ่งสูงจากพื้นทะเล 2,200 เมตร ทำให้สายเคเบิลของเครื่องขาด และเครื่องร่วงลงที่ก้นบึ้งมหาสมุทรเมื่อวันอาทิตย์ (24) อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่คาดว่าสามารถกู้เครื่องโทฟิชขึ้นมาได้ แต่ก็จะต้องใช้เวลาในการนี้ รวมทั้งต้องนำเรือค้นหากลับสู่ฝั่งเพื่อติดตั้งสายเคเบิลเส้นใหม่
<i>หมายเลขที่ปรากฏอยู่บนชิ้นส่วนโลหะ ซึ่งค้นพบที่บริเวณชายหาดจังหวัดนครศรีธรรมราช </i>

กำลังโหลดความคิดเห็น